หูดข้าวสุก (Molluscum Contagiosum)

ความหมาย หูดข้าวสุก (Molluscum Contagiosum)

หูดข้าวสุก (Molluscum Contagiosum) เป็นโรคผิวหนังชนิดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสมอลลัสคุม คอนทาจิโอซุม (Molluscum Contagiosum Virus) ทำให้เกิดตุ่มเนื้อและมีรอยนูนขนาดเล็กบนผิวหนังชั้นนอกทั่วร่างกาย ยกเว้นฝ่ามือและฝ่าเท้า   

โรคหูดข้าวสุกจัดเป็นโรคที่ไม่รุนแรง เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และยังติดต่อจากคนสู่คนได้ ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อสามารถหายเองได้ภายใน 6–12 เดือนโดยไม่ต้องรับการรักษา แต่บางรายอาจกินเวลานานกว่านั้น การเข้ารับรักษาจะช่วยป้องกันการกระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยเฉพาะคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

หูดข้าวสุก

อาการของหูดข้าวสุก   

ระยะฟักตัวเฉลี่ยของเชื้อชนิดนี้อยู่ที่ประมาณ 2–7 สัปดาห์ไปจนถึง 6 เดือน จึงทำให้ในบางรายพบอาการของโรคได้หลังจาก 6 เดือนผ่านไปแล้ว ผู้ที่ได้รับเชื้อจะพบตุ่มบริเวณผิวหนังเป็นตุ่มเดี่ยว ๆ หรืออยู่กระจุกเป็นกลุ่มได้ถึง 20 ตุ่ม และมักสังเกตได้ว่า

  • ตุ่มมีขนาดเล็กประมาณ 2–5 มิลลิเมตร ผิวสัมผัสมีความเงาและเรียบ 
  • มีสีเนื้อเช่นเดียวกับผิวหนัง มีสีขาวหรือชมพู 
  • ลักษณะเป็นรูปทรงโดม หรือมีรอยบุ๋มตรงกลาง
  • เกิดได้ทุกที่บนร่างกาย แต่จะไม่เกิดบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า มักพบบริเวณใบหน้า ท้อง ลำตัว แขน ขา อวัยวะเพศ ต้นขาด้านใน ผิวหนังที่สัมผัสหรือเสียดสีกันบ่อยอย่างข้อพับ 

อย่างไรก็ตามในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือเป็นโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อระบบคุ้มกันภายในร่างกายอาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น ตุ่มเหล่านี้อาจขยายใหญ่ได้ถึง 15 มิลลิเมตร และอาจทำการรักษาได้ยากมากขึ้น 

สาเหตุของหูดข้าวสุก 

เชื้อไวรัสมอลลัสคุม คอนทาจิโอซุม เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในกลุ่มพอกซ์ไวรัส (Poxvirus) มักเกิดขึ้นบริเวณชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ที่เป็นผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น ไม่มีผลต่อระบบภายในร่างกาย รวมไปถึงไม่แพร่กระจายโดยการจามหรือไอ

การติดเชื้อไวรัสมอลลัสคุม คอนทาจิโอซุม เกิดจากการสัมผัสโดนบริเวณที่มีเชื้อโดยตรงหรือสิ่งของที่มีการปนเปื้อน รวมไปถึงการสัมผัสถูกเชื้อขณะมีเพศสัมพันธ์ จึงถือว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Disease: STD) ได้เช่นเดียวกัน  

ในเด็กมักติดต่อกันได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เพราะภูมิคุ้มกันในร่างกายยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ อาจติดต่อระหว่างเล่นกับเด็กคนอื่นที่มีเชื้อชนิดนี้ หรือติดจากบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ส่วนในวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักติดต่อได้ง่ายทางเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการเล่นกีฬาประเภทต่าง ๆ ที่มีการสัมผัสโดนกัน ไปถึงการใช้สิ่งของที่มีการปนเปื้อนของเชื้อร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า และอุปกรณ์กีฬา  

การวินิจฉัยหูดข้าวสุก 

แพทย์จะวินิจฉัยโรคเบื้องต้นด้วยการซักถามประวัติ ลักษณะอาการของโรค และการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย เพื่อยืนยันการติดเชื้อได้แม่นยำมากขึ้น เช่น 

  • ตรวจดูบริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์ 
  • การขูดผิวหนัง (Skin Scraping) 
  • การเก็บตัวอย่างจากบริเวณรอยโรคอย่างชัดเจนไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ (Biopsy) 

ในกรณีที่มีการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ แพทย์อาจมีการตรวจถึงความเป็นไปได้ในการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ อย่างโรคเริมด้วย 

การรักษาอาการหูดข้าวสุก

โดยปกติอาการของโรคหูดข้าวสุกสามารถดีขึ้นได้เองภายใน 6–12 เดือน แต่อาจมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาของโรคให้เกิดเป็นระยะเวลานานถึง 5 ปี การปล่อยให้หายเองอาจใช้ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อเป็นเด็กเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากวิธีการรักษาหลายวิธีอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดได้ และมีความเสี่ยงต่อผิวหนังแสบหรือระคายเคืองจากการรักษา 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรดูแลตนเองเพื่อไม่ให้แพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นดังนี้

  • ปกปิดบริเวณที่เป็นหูดด้วยการติดพลาสเตอร์หรือสวมเสื้อปกคลุมให้ปิดมิดชิด เพื่อไม่ให้ตนเองแกะหรือเกา และลดโอกาสการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงได้มากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของสาธารณะหรือแบ่งปันของใช้ส่วนตัวรวมกับผู้อื่น 
  • หากมีเพศสัมพันธ์ควรใช้ถุงยางอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ ยกเว้นแต่เกิดหูดข้าวสุกบริเวณใกล้อวัยวะเพศที่ควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์

สำหรับผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้ใหญ่ แพทย์จะแนะนำให้เอาหูดออกมากกว่ารอให้หายไปเอง เพราะอาจแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องจากเชื้อเอชไอวี หรืออยู่ในช่วงการใช้ยารักษาโรคมะเร็ง จำเป็นต้องรักษาด้วยการเอาหูดออก เพราะเมื่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่องอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้นและรักษาได้ยากกว่าคนปกติ

การรักษาทำได้หลายวิธีหรืออาจใช้หลายวิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และตำแหน่งของหูดที่เกิดภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้

  • การใช้ยาทาที่มีฤทธิ์เป็นกรดเพื่อช่วยทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ เช่น ยาทาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) โพแทสเซียม ไฮดรอกไซด์ (Potassium Hydroxide) ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) หรือเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) นอกจากนี้ ยังมียาในรูปแบบเจลหรือครีมที่มีส่วนผสมของเรตินอยด์ (Retinoids) เช่น ทาซาโรทีน (Tazarotene) อะดาพาลีน (Adapalene) และเตรติโนอิน (Tretinoin) 
  • การจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy, Cryosurgery) เป็นอีกรูปแบบของการใช้ไนโตรเจนเหลว (Liquid Nitrogen) ที่มีความเย็นจัดในการทำลายหูด
  • การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ (Pulsed Dye Laser Therapy) เป็นแสงเลเซอร์ชนิดที่รักษาความผิดปกติของเส้นเลือดบนผิวหนังที่นิยมใช้โดยแพทย์ผิวหนัง

ภาวะแทรกซ้อนของหูดข้าวสุก 

หูดหรือผิวหนังบริเวณรอบ ๆ อาจมีการอักเสบและแดง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อการติดเชื้อ บางรายที่มีการถลอกจากการเกาหรือแกะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายมากขึ้น ส่วนในผู้ที่มีหูดบริเวณเปลือกตาอาจก่อให้เกิดอาการตาแดงจากเยื่อตาอักเสบได้

การป้องกันหูดข้าวสุก

การลดโอกาสในการได้รับเชื้อได้ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อให้มากที่สุด และดูแลตนเองตามหลักสุขอนามัยพื้นฐานตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ล้างมือให้เป็นนิสัย โดยเฉพาะหลังการจับสิ่งของที่เป็นส่วนรวม จะช่วยป้องกันและการแพร่กระจายของเชื้อได้ดี ไม่เพียงแต่เฉพาะเชื้อโรคชนิดนี้ แต่ยังรวมไปถึงเชื้อโรคชนิดอื่นด้วย
  • ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวรวมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ที่โกนหนวด สบู่ก้อน แปรงสีฟัน และเสื้อผ้า 
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของสาธารณะและอุปกรณ์ที่มีโอกาสสัมผัสกับผิวหนังได้โดยตรง 
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากมีหูดข้าวสุกบริเวณใกล้อวัยวะ เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ