ถามแพทย์

  • หูดข้าวสุกมียาทา หรือยารับประทานให้หายไหม

  •  s19_s
    สมาชิก
    อยากทราบว่า หูดข้าวสุกมียาทา หรือ ยาที่รับประทานให้หายมั้ยคะ

    สวัสดีค่ะ คุณ s19_s, 

                        หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum) เป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังภายนอก จากไวรัสชื่อ Molluscum contagiosum virus ซึ่งเป็นโรคติดต่อ โดยติดจากการไปสัมผัสผิวหนัง (ที่มีรอยโรคหูด) จากผู้ที่เป็นโรค ติดจากการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยที่มีรอยโรคหูด และการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีรอยโรคบริเวณอวัยวะเพศ และเมื่อเป็นแล้ว ก็อาจติดจากผิวหนังที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งในบุคคลเดียวกัน เช่น รอยโรคอยู่ที่มือ แต่เมื่อเอานิ้วมือที่สัมผัสโรคไปขยี้ตา ก็จะทำให้เปลือกตาติดหูดข้าวสุกไปด้วย

                      อาการคือ จะเป็นตุ่มขึ้นตามผิวหนัง มักพบขึ้นตามลำตัว แขนขา รักแร้ ข้อพับแขน ขาหนีบ บริเวณอวัยวะเพศ  โดยจะมีลักษณะขึ้นเป็นกลุ่ม  ตุ่มหูดข้าวสุกจะมีขนาดประมาณ 2-6 มิลลิเมตร สีเหลืองหรือเป็นสีของผิวหนัง ผิวหูดจะเรียบเป็นมันคล้ายไข่มุกและตรงกลางจะมีรอยบุ๋มลงไป เมื่อกดหรือบีบให้แตกหรือใช้เข็มสะกิดจะมีเนื้อหูดเละ ๆ สีขาวคล้ายข้าวสุกไหลออกมา มักไม่ทำให้มีอาการเจ็บหรือคัน

                      ในคนปกติที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง หูดข้าวสุกมักจะหายไปได้เองภายใน 6-9 เดือน มีส่วนน้อยที่อาจใช้เวลานาน 2-3 ปี เมื่อหายแล้ว ก็จะไม่ทิ้งรอบแผลเป็นอะไรไว้ค่ะ ดังนั้น หากเป็นไม่มาก ก็อาจปล่อยให้หายเองได้ ส่วนการรักษาต่างๆ เป็นเพียงวิธีการที่ช่วยทำให้รอยโรคหายเร็วขึ้นและช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ ได้แก่ การทาด้วยกรดไตรคลอโรอะซิติก (TCA) ชนิด 50-70% กรดซาลิไซลิกชนิด 40% การใช้ยาโพโดฟิลลิน (Podophyllin) จี้ไปที่รอยโรคทุกสัปดาห์ หรืออาจใช้วิธีการเลเซอร์เอาหูดออก การจี้ด้วยไฟฟ้า จี้ด้วยความเย็น เป็นต้น 

                      ทั้งนี้ หากได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นหูดข้าวสุก และต้องการให้รอยโรคหายเร็ว โดยไม่รอให้หายเอง ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อจ่ายยาที่เหมาะสมให้ค่ะ ไม่ควรไปซื้อยาดังกล่าวมาใช้เอง เพราะอาจอันตรายกับผิวหนังข้างเคียงได้ หากใช้ไม่ถูกต้อง ยาดังกล่าว อาจทำให้ผิวหนังเกิดรอยไหม้ รอยแผลเป็นตามมาได้ค่ะ 

                      ส่วนการปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อหูดข้าวสุกไปสู่ผู้อื่น ได้แก่ 

                      - สวมใส่เสื้อผ้าให้ปกปิดรอยโรค เพื่อป้องกันการเกาจากตัวเอง และเพื่อป้องกันการสัมผัสรอยโรคสู่ผู้อื่น หรือใช้พลาสเตอร์ปิดเอาไว้ 

                      -  เมื่อสัมผัสรอยโรคของตนเอง ควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด 

                      - ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ที่โกนหนวด สบู่ เป็นต้น

                       - งดการไปว่ายน้ำในสระว่ายน้ำสาธารณะ เพื่อไม่ให้เชื้อกระจายไปสู่ผู้อื่น 

                       - หากเป็นที่อวัยวะเพศ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์