หูด กับวิธีรักษาให้หายดีด้วยตัวเอง

หูดชนิดทั่วไปเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัส Human Papillomavirus สามารถติดต่อผ่านการสัมผัส จึงไม่แปลกที่หลายคนอยากจะรักษาหูดให้หายไปโดยเร็ว เพราะนอกจากจะส่งผลต่อร่างกายแล้ว หูดยังกระทบต่อสภาพจิตใจด้วย โดยทำให้รู้สึกรำคาญหรืออายเกินกว่าจะให้ใครเห็นด้วย ดังนั้น บทความนี้จึงรวบรวมเคล็ดลับในการรักษาหูดด้วยตัวเองมาฝากให้ศึกษากัน

ปกติแล้วหูดชนิดทั่วไปจะมีลักษณะเป็นตุ่มขนาดเล็ก จับแล้วรู้สึกขรุขระและแข็ง ผิวหนังที่เกิดหูดจะมีสีขาว สีชมพู หรือสีเนื้อเช่นเดียวกับผิวหนัง มักพบมากบริเวณนิ้วมือ มือหรือเท้า โดยมากมักไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและอาจหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่บางครั้งอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนหรือหลายปีจนหูดอาจเพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้ป่วยจึงควรรักษาหูดตั้งแต่เนิ่น ๆ

หูด

วิธีการรักษาหูดด้วยตัวเอง

การรักษาหูดด้วยตัวเองนั้นควรระมัดระวังเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยมากเป็นพิเศษ โดยไม่ควรกำจัดหูดด้วยอุปกรณ์มีคมหรือแกะเกาหูด เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อและมีเลือดออกตามมา รวมทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องก็ไม่ควรรักษาหูดด้วยตัวเอง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ 

ส่วนการรักษาหูดที่สามารถทำได้เองที่บ้านมีวิธีดังต่อไปนี้

การใช้ยาทา

กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เป็นยารักษาหูดชนิดทั่วไปที่ช่วยให้ผิวหนังหลุดลอกได้ มีจำหน่ายในรูปแบบน้ำ แผ่นแปะ หรือขี้ผึ้ง ก่อนทายาผู้ป่วยอาจแช่หูดในน้ำอุ่นประมาณ 5 นาที เพื่อให้ผิวหนังนุ่มขึ้น หลังจากเช็ดผิวจนแห้งแล้วจึงทายาความเข้มข้น 10-15 เปอร์เซ็นต์ ลงบนผิวหนังที่เป็นหูดทุกวัน โดยให้ทาติดต่อกันนานหลายสัปดาห์จึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลง หากรับบริการที่สถานพยาบาล แพทย์อาจใช้ตะไบหรือหินขัดกำจัดผิวหนังที่ตายแล้วออกก่อนจึงค่อยทายาลงบนหูด ทั้งนี้ กรดซาลิไซลิกอาจส่งผลให้ผิวหนังระคายเคือง แดง หรือมีอาการแสบร้อนได้ จึงควรทายาเฉพาะบริเวณที่เป็นหูดเท่านั้น ไม่ควรทาผิวหนังบริเวณโดยรอบร่วมด้วย หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาเภสัชกรก่อนการใช้ยา โดยเฉพาะคนที่กำลังตั้งครรภ์      

การจี้หูดด้วยความเย็น

ผู้ป่วยอาจใช้อุปกรณ์จี้หูดที่มีส่วนผสมของสารไดเมทิลอีเทอร์ (Dimethyl Ether) และโพรเพน (Propane) ที่สามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป แต่วิธีนี้อาจจี้หูดออกมาได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่สามารถรักษาหูดให้หายไปทั้งหมดได้

การใช้เทปกาว

การนำเทปกาวมาพันทับผิวหนังที่เกิดหูดก็เป็นอีกวิธีที่อาจช่วยรักษาหูดได้ โดยให้พันเทปกาวที่หูดทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นให้แกะเทปออก แช่บริเวณที่มีหูดในน้ำอุ่นสักพักหนึ่ง แล้วจึงถูเนื้อเยื่อของผิวหนังที่ตายแล้วอย่างเบามือ ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กล่าวซ้ำ ๆ จนกว่าหูดจะหลุดออก โดยควรเว้นระยะห่างประมาณ 12 ชั่วโมง จึงค่อยเริ่มต้นพันเทปอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม หากวิธีเหล่านี้ใช้ไม่ได้ผล หูดแพร่กระจายไปยังใบหน้า ปาก รูจมูก อวัยวะเพศ เกิดความผิดปกติ หรือเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น รู้สึกเจ็บหูด หูดมีลักษณะหรือสีเปลี่ยนไป มีเลือดออกหรือมีสัญญาณของการติดเชื้อ อย่างมีหนองและสะเก็ดรอบหูด มีหูดเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง ผู้ป่วยก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา

ทั้งนี้ แพทย์อาจพิจารณาการรักษาที่แตกต่างกันไปตามอายุ สภาวะทางสุขภาพของตัวผู้ป่วย และลักษณะของหูดที่พบ เช่น การจี้เย็นด้วยไนโตรเจนเหลว การจี้ด้วยไฟฟ้า การใช้เลเซอร์ หรือการผ่าตัด เป็นต้น แม้หูดจะสามารถหายได้ แต่บางครั้งเชื้อไวรัส HPV อาจจะยังอยู่ภายในร่างกายของผู้ป่วย จึงอาจเสี่ยงกลับมาเป็นหูดซ้ำอีกครั้ง การรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่อาจช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อให้น้อยที่สุดและทำให้หายดีได้เร็วขึ้นด้วย