หูดที่นิ้ว เป็นแล้วต้องทำอย่างไร

หูดที่นิ้ว เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยหูดจะมีลักษณะเป็นตุ่มแข็งขนาดเล็ก แข็ง หยาบ และอาจมีรอยจุดสีดำเล็ก ๆ กระจุกอยู่ตรงกลางร่วมด้วย ทั้งนี้ โรคนี้ส่วนใหญ่มักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เอง แต่อาจจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาที่ค่อนข้างนานหลายเดือน หรืออาจหลายปี

หูด เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับเชื้อ โดยผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่แข็งแรงอาจมีโอกาสติดเชื้อนี้ได้มากขึ้น เช่น เด็กที่อายุยังน้อย ผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) และผู้ป่วยโรคเอดส์ 

หูดที่นิ้ว เป็นแล้วต้องทำอย่างไร

รับมือกับหูดที่นิ้วอย่างไรดี

แม้ว่าโรคหูดเป็นโรคที่อาจหายเองได้ แต่ก็อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนหรือหลายปี ซึ่งอาจส่งผลให้หูดมีโอกาสแพร่กระจายไปยังบริเวณใกล้เคียงได้ อีกทั้งลักษณะอาการจากโรคหูดยังอาจคล้ายคลึงกับโรคมะเร็งผิวหนังบางชนิดได้อีกด้วย

ดังนั้น ผู้ที่เป็นหูดควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการ และแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง ผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น รู้สึกเจ็บ มีเลือดออก มีน้ำหนองไหล ก้อนแผลมีรูปร่างหรือสีเปลี่ยนไป หรือก้อนแผลเกิดบริเวณใบหน้าและอวัยวะเพศ

โดยการรักษาหูด ไม่ว่าจะเป็นหูดที่นิ้วมือหรือบริเวณใด ๆ ก็ตาม วิธีที่แพทย์มักพิจารณาใช้จะมีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการและความเหมาะสมต่อตัวผู้ป่วยแต่ละคน เช่น

  • การใช้ยาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) บริเวณแผล เพื่อให้ยาค่อย ๆ ขจัดหูดออก
  • จี้เย็น (Cryotherapy) เป็นวิธีที่แพทย์จะใช้ไนโตรเจนเหลวจี้กำจัดหูด
  • จี้ไฟฟ้า (Electrosurgery) เพื่อให้ความร้อนจากกระแสไฟฟ้ากำจัดหูดออก 
  • เลเซอร์ เป็นการใช้ความร้อนจากเลเซอร์จี้ไปยังหลอดเลือดในหูด ซึ่งจะช่วยให้เนื้อเยื่อในหูดตาย และหลุดออกไป
  • การผ่าตัด โดยแพทย์จะผ่าตัดนำหูดออก หรือในบางกรณีอาจต้องนำเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงออกด้วยเล็กน้อย

นอกจากนี้ ในระหว่างที่เป็นหูด ผู้ป่วยควรระมัดระวังไม่ให้หูดแพร่กระจายไปสู่อวัยวะบริเวณอื่นและคนรอบตัวด้วย โดยการหลีกเลี่ยงการเกาหูด ล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสหูด ใช้ผ้าพันแผลปกปิดหูด ไม่นำอุปกรณ์ใด ๆ ที่สัมผัสกับหูดมาใช้ซ้ำ และที่สำคัญ ให้หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

ทั้งนี้ โรคหูด ทั้งหูดที่นิ้วมือและหูดบริเวณอื่น อาจมีโอกาสกลับมาเกิดซ้ำได้ภายหลังการรักษา ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการกลับมาเกิดหูดซ้ำ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดในระหว่างการรักษา