หัวใจเต้นช้าและวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสม

หัวใจเต้นช้า คือภาวะอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้งต่อ 1 นาที ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่เต็มที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่จะส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ทว่าการออกกำลังก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงและทำงานได้ดีขึ้น ผู้ที่มีปัญหาหัวใจเต้นช้าจึงควรออกกำลังกายให้เหมาะสม เพื่อประโยชน์ต่อทั้งสุขภาพหัวใจและสุขภาพโดยรวม

หัวใจเต้นช้า

ข้อควรปฎิบัติก่อนออกกำลังกายสำหรับผู้มีภาวะหัวใจเต้นช้า

ผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นช้าที่เพิ่งเริ่มออกกำลังกายหรือออกกำลังกายอยู่แล้วแต่ต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกายให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำต่อไปนี้เป็นอันดับแรก

  • ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการออกกำลังกาย แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจสุขภาพ เพื่อหาสาเหตุของภาวะหัวใจเต้นช้า เพราะปัญหาสุขภาพบางประการที่เป็นสาเหตุของภาวะนี้อาจเพิ่มข้อจำกัดในการออกกำลังกายของผู้ป่วย แพทย์อาจตรวจการทำงานของหัวใจเพิ่มเติมเพื่อประเมินว่าควรออกกำลังกายแบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุด หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย
  • วางแผนการออกกำลังกายร่วมกับแพทย์อย่างเหมาะสม เพื่อให้การออกกำลังกายส่งผลดีทั้งด้านการเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายและเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ
  • ผู้ป่วยที่ติดเครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการออกกำลังกายบางชนิดอาจทำให้อุปกรณ์เสียหายได้ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือกีฬาที่ต้องใช้ร่างกายปะทะกับผู้อื่น เช่น ฟุตบอล หรือบาสเกตบอล การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่ติดอุปกรณ์ชนิดนี้ ได้แก่ ว่ายน้ำ วิ่ง เดิน ปั่นจักรยาน กอล์ฟ เทนนิส เป็นต้น
  • เรียนรู้วิธีวัดชีพจรตัวเอง เพื่อช่วยให้ทราบว่าอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในระดับผิดปกติหรือไม่ สามารถใช้อุปกรณ์ติดข้อมือหรือใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางแตะบริเวณข้อมือด้านในเพื่อนับชีพจร
  • มองหาสถานที่ออกกำลังที่เหมาะสม เลือกสถานที่ที่เอื้ออำนวยต่อการออกกำลังกายนั้น ๆ และมีสภาพอากาศไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัดหรือเย็นจัดมีผลต่อการออกกำลังกายของผู้ป่วย
  • เข้าร่วมกลุ่มออกกำลังกายที่น่าเชื่อถือ เพื่อขอคำปรึกษาในการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี

ผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นช้าควรออกกำลังกายแบบใด ?

การออกกำลังกายของผู้มีภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติควรเน้นการเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ ซึ่งการออกกำลังกายที่เหมาะสม มีดังนี้

  • การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เป็นการออกกำลังกายที่ช่วยกระตุ้นให้ปอดและหัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งยังทำให้หัวใจเต้นถี่ขึ้น ช่วยลดความดันโลหิต และเพิ่มการสูบฉีดเลือดของหัวใจเพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับผู้มีหัวใจเต้นช้า ได้แก่ การเดิน วิ่งเหยาะ ๆ กระโดดเชือก ขี่จักรยาน หรือการเต้นเข้าจังหวะ แต่ต้องขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ด้วย ทั้งนี้ หากต้องการกระตุ้นการทำงานของหัวใจอย่างต่อเนื่องควรค่อย ๆ เพิ่มการออกกำลังกายให้หนักขึ้น ทว่าไม่ควรหักโหมเพราะอาจทำให้เป็นอันตรายได้
  • การออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ เป็นการออกกำลังกายโดยการใช้น้ำหนักเพื่อให้เกิดแรงต้านทาน ผู้ที่มีปัญหาหัวใจเต้นช้ากว่าปกติควรฝึกออกกำลังกายชนิดนี้แต่พอดีและใช้น้ำหนักที่เหมาะสม หรืออาจใช้น้ำหนักเบาแต่เพิ่มจำนวนครั้ง และหลังจากการฝึกในแต่ละครั้งควรพักกล้ามเนื้ออย่างน้อย 1-2 วัน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ วิธีการฝึกกล้ามเนื้อที่เหมาะสม ได้แก่ การเล่นเวทเทรนนิ่ง หรือการฝึกท่าที่ใช้น้ำหนักตัวเพิ่มแรงถ่วง เช่น การวิดพื้น การทำสควอช การฝึกท่าลันจ์ เป็นต้น

ข้อพึงระวังในการออกกำลังกายของผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นช้า

ผู้ป่วยภาวะนี้ควรระมัดระวังเป็นพิเศษในระหว่างการออกกำลังกาย โดยหมั่นวัดชีพจรว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ในกรณีีที่พบความผิดปกติผู้ป่วยควรจดบันทึกและปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย

นอกจากนี้ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นขณะออกกำลังกาย เช่น หน้ามืด ผู้ป่วยควรนอนลง ห้ามเดินหรือขับขี่ยานพาหนะจนกว่าอาการจะดีขึ้น หากผู้ป่วยเป็นลมหรือหายใจไม่สะดวกร่วมกับมีอาการเจ็บหน้าอกติดต่อกันนานเกินไป ควรรีบแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เช่น ศูนย์กู้ชีพนเรนทร โทร. 1669 หรือโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างทันท่วงที