หมึกบลูริง พิษร้ายที่มาพร้อมความอร่อย

หมึกบลูริงหรือหมึกสายวงน้ำเงินอาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูใครหลายคน แต่เรามักจะได้ยินชื่อของสัตว์ชนิดนี้ในข่าวเป็นระยะ ๆ เพื่อเตือนผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานปลาหมึกให้ระมัดระวังในการเลือกซื้ออยู่เสมอ เนื่องจากพิษของเจ้าหมึกชนิดนี้เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก บทความนี้จึงอยากชวนมาทำความรู้จักกับหมึกบลูริง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคมากขึ้น  

โดยทั่วไป เราสามารถสังเกตหมึกบลูริงได้จากลักษณะภายนอก โดยเฉพาะลำตัวสีเหลืองหรือสีคล้ายทรายที่มีลวดลายวงแหวนสีน้ำเงินกระจายอยู่รอบ ๆ ซึ่งวงแหวนนี้จะเรืองแสงได้หากถูกคุกคาม แม้หมึกบลูริงจะไม่ใช่สัตว์ดุร้าย แต่พิษของมันก็รุนแรงจนอาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิต ดังนั้น หากเผลอรับประทานหมึกบลูริงเข้าไปหรือโดนกัด ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

หมึกบลูริง

อันตรายจากหมึกบลูริง

ความอันตรายของหมึกบลูริงนั้นมาจากพิษที่ผสมอยู่ในน้ำลายอย่าง สารเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin: TTX) ซึ่งเป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้าและสามารถทนความร้อนได้สูงถึง 200 องศาเซลเซียส ด้วยเหตุนี้ การประกอบอาหารด้วยความร้อนระดับทั่วไปจึงไม่อาจทำลายพิษนี้ได้

ทั้งนี้ อาการหลังได้รับพิษมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาทีและจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปริมาณของพิษที่เข้าสู่ร่างกาย ช่วงอายุ และสภาวะทางสุขภาพของแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น

  • มีน้ำลายฟูมปาก
  • กลืนลำบาก
  • แน่นหน้าอก
  • รู้สึกมีคล้ายของแหลมทิ่มแทง
  • ชา ตะคริว 
  • เหงื่อออก
  • เวียนศีรษะ คล้ายจะหมดสติ
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • สูญเสียการมองเห็น

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ได้รับพิษจากหมึกบลูริงยังอาจมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว และเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทำงานไม่ประสานกัน หายใจไม่ออก กล้ามเนื้อกระบังลมและหน้าอกไม่ทํางาน ร่างกายขาดออกซิเจนจนส่งผลให้ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือสีม่วง และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด

ทำอย่างไรเมื่อถูกหมึกบลูริงกัดหรือรับประทานหมึกบลูริง ?

เนื่องจากพิษของหมึกบลูริงเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ หากถูกกัดหรือเผลอรับประทานหมึกบลูริงควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที เพื่อทำการช่วยชีวิตด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน อาทิ การให้ออกซิเจน การให้สารน้ำทางหลอดเลือด หรือการใส่ท่อช่วยหายใจ และดูแลรักษาอาการที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดต่อไป

โดยก่อนจะถึงมือแพทย์ ญาติหรือคนรอบข้างผู้ป่วยสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นหรือดูแลบริเวณที่ถูกกัดได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • นำอากาศเข้าสู่ปอดด้วยการเป่าปากและป้องกันการขาดอากาศนานจนเกินไป
  • ทำความสะอาดแผลที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด จากนั้นให้พันรอบแผลด้วยผ้ารัดยางยืดพร้อมกับไม้ดาม เพื่อไม่ให้อวัยวะส่วนนั้นเคลื่อนไหวและชะลอไม่ให้พิษกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย 
  • ไม่ควรกรีดปากแผลที่ถูกกัด เพราะจะทำให้พิษแพร่กระจายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การถูกหมึกบลูริงกัดนั้นพบได้น้อยมากโดยจะพบเฉพาะเวลาที่หมึกรู้สึกถูกคุกคามอย่างโดนจับหรือโดนทำร้ายเท่านั้น อีกทั้งยังไม่เคยมีรายงานการพบหมึกบลูริงตามชายหาดที่คนลงไปเล่นน้ำ แต่พบบ้างในบริเวณพื้นทะเลและนอกแนวแนวปะการัง ผู้ที่ดำน้ำจึงควรระมัดระวังและไม่ไปรบกวนสิ่งมีชีวิตและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าว เพื่อป้องกันการสัมผัสหรือถูกกัดโดยสัตว์น้ำที่อาจมีพิษ

ในส่วนของผู้บริโภคก็ควรใช้ความระมัดระวังและสังเกตความผิดปกติของปลาหมึกจากร้านอาหารหรือตลาดอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติก็ควรนำไปทิ้ง ไม่ควรนำมารับประทาน เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง ในกรณีที่กังวลหรือสงสัยว่า ปลาหมึกหรืออาหารใด ๆ อาจเป็นพิษหรือไม่ปลอดภัยต่อร่างกายสามารถโทรแจ้งสายด่วนอย. ที่เบอร์ 1556 หรือติดต่อสำนักงานสาธารณสุขของแต่ละจังหวัดได้ทันที