สัญญาณและการรับมือเมื่อลูกน้อยอาหารไม่ย่อย

อาหารไม่ย่อยในเด็กทารกเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่กวนใจคุณแม่ไม่น้อย เพราะมักจะทำให้ลูกน้อยงอแงจากอาการแน่นท้องและปวดท้อง ซึ่งอาการอาหารไม่ย่อยในทารกนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากนม อาหาร หรืออาการอื่นที่คุณแม่อาจละเลยไป บางครั้งปัญหาอาหารไม่ย่อยในทารกยังอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้อีกด้วย

อาหารไม่ย่อยเป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็กทารก โดยเฉพาะช่วงเดือนแรก ๆ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่ไม่อันตราย แต่คุณแม่ไม่ควรละเลยหรือปล่อยไว้โดยไม่รักษา เบื้องต้นคุณแม่สามารถสังเกตสัญญาณและบรรเทาอาการดังกล่าวได้ด้วยตนเอง 

อาหารไม่ย่อย

สาเหตุอาหารไม่ย่อยในทารก

อาหารไม่ย่อยในทารกมักเกิดจากปัญหาหรือโรคในระบบทางเดินอาหาร โดยอาจเกิดจากท้องผูก ท้องอืด กรดไหลย้อน โคลิค ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง แพ้นมวัว เป็นต้น

อาการบ่งบอกเมื่อทารกอาหารไม่ย่อย

ปัญหาอาหารไม่ย่อยอาจส่งผลให้ลูกน้อยรู้สึกงอแงและไม่สบายตัว คุณแม่สามารถสังเกตความผิดปกติได้จากลักษณะอุจจาระ พฤติกรรม หรือท่าทางของลูกที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมไป เช่น

  • ลักษณะของอุจจาระแข็งกว่าปกติและอาจทำให้ลูกน้อยเจ็บขณะเบ่งถ่าย โดยทารกอาจแสดงความรู้สึกผ่านการร้องไห้และการแสดงสีหน้า 
  • มีปัญหาในการนอนหลับ ลูกน้อยอาจหลับยาก ตื่นบ่อย
  • มีปัญหาในรับประทานอาหารหรือทารกไม่ยอมดื่มนม
  • ร้องไห้บ่อยและดังกว่าปกติ 

นอกจากนี้ โรคกรดไหลย้อนยังอาจทำให้ภายในลำคอของทารกเกิดระคายเคืองได้ ซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการไอหรือเสียงแหบที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการข้างต้น อย่างไรก็ตาม บางครั้งอาการอาหารไม่ย่อยอาจไม่แสดงอย่างชัดเจน คุณแม่ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมการรับประทานและอารมณ์ของลูกน้อยอยู่เสมอ

วิธีรับมือเมื่อทารกอาหารไม่ย่อย

คุณแม่อาจดูแลเบื้องต้นด้วยวิธีต่อไปนี้

1. หากคุณแม่อยู่ในช่วงที่ให้นมลูกได้ อย่างแรกควรสังเกตอาหารการกินของตนเอง โดยเริ่มจากลองงดอาหารประเภทนม คาเฟอีน แล้วดูการเปลี่ยนแปลงการย่อยอาหารของลูกน้อย หรืออาจต้องระวังอาหารรสจัดหรือของเผ็ดไปจนถึงอาหารที่ทำให้ท้องอืด อย่างหัวหอมหรือกะหล่ำปลี แต่หากลูกน้อยอาการเหมือนเดิมแม้ว่าปรับอาหารแล้ว แสดงว่าอาหารที่คุณแม่รับประทานอาจจะไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งคุณแม่สามารถกลับไปรับประทานแบบเดิมได้ 

2. หากคุณแม่ให้นมผงแบบชง อาจลองลดปริมาณนมผงในการชงต่อครั้งให้น้อยลง แต่ป้อนนมให้บ่อยขึ้นแทน และอาจลองเปลี่ยนยี่ห้อหรือสูตรของนมผงที่ใช้อยู่

3. หลังกินนมทุกครั้ง คุณแม่ควรอุ้มหรือจัดท่าให้ลูกน้อยนั่งแล้วลูบหลังสักพัก เพื่อให้เรอออกมา

4. ลองนวดท้องหรือจับเท้าของลูกน้อยให้ทำท่าปั่นจักรยานอากาศ แต่ไม่ควรทำระหว่างการป้อนหรือหลังป้อนอาหารใหม่ ๆ 

5. หากลูกน้อยสามารถรับประทานอาหารได้แล้ว คุณแม่อาจลองเพิ่มผลไม้ในมื้ออาหาร เพื่อบรรเทาอาการท้องผูก แต่ควรเลือกผลไม้เนื้อนิ่ม หวานน้อย และไม่มีกรด

6. ระหว่างการป้อนอาหาร ควรให้ลูกน้อยนั่งในลักษณะลำตัวตั้งตรง และหลังจากป้อนอาหารเสร็จก็ควรให้นั่งต่อสักพักอย่างน้อย 15-30 นาที

7. งดป้อนอาหารที่มีลักษณะเหนียวหรือแข็ง ของทอด อาหารที่มีกรดสูง รวมทั้งห้ามให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะอาหารเหล่านี้อาจทำให้ลำไส้ระคายเคืองและทำงานหนัก ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกน้อยมีอาการรุนแรงขึ้น

วิธีเหล่านี้ไม่เพียงแค่ช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย แต่ยังอาจช่วยป้องกันอาการอาหารไม่ย่อยได้ด้วย อย่างไรก็ตาม หากลองทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้วลูกน้อยอาการไม่ดีขึ้น อาการรุนแรงกว่าเดิม หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ อย่างมีไข้สูง อาเจียน เจ็บคอ หรือถ่ายเหลวติดต่อกัน คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ รักษาอาการ และปรับเปลี่ยนแนวทางในการเลือกอาหารสำหรับเจ้าตัวน้อยอย่างถูกต้อง