สัญญาณเตือนของโรคอัลไซเมอร์

อัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้มากที่สุด โดยโรคนี้จะสร้างความเสียหายต่อสมองส่วนที่ควบคุมความคิด ความทรงจำ การใช้ภาษา รวมถึงพฤติกรรมและการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งหากคนรอบข้างหมั่นสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคนี้ก็อาจช่วยให้เตรียมรับมือและดูแลผู้ป่วยได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะยิ่งตรวจพบเร็วก็ยิ่งส่งผลดีต่อการรักษามากขึ้น

1610 Resized อัลไซเมอร์

อาการที่อาจเป็นสัญญาณของโรคอัลไซเมอร์

สัญญาณเตือนของโรคอัลไซเมอร์ไม่ได้มีเพียงอาการขี้หลงขี้ลืมอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ยังมีอาการอื่น ๆ ที่สังเกตได้ ดังนี้

  • ขี้หลงขี้ลืมหรือสูญเสียความทรงจำ แม้บางครั้งผู้สูงอายุจะหลงลืมบางสิ่งบางอย่างไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็มักนึกขึ้นได้ในภายหลัง ซึ่งต่างจากอาการหลงลืมที่พบในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ที่อาจถึงขั้นลืมเหตุการณ์หรือนัดหมายสำคัญ ถามเรื่องที่เคยถามไปแล้วซ้ำไปซ้ำมา รวมทั้งต้องจดบันทึก ใช้เครื่องช่วยจำ หรือต้องให้คนรอบข้างคอยบอกจึงจะทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างที่ตนเคยทำ
  • สับสนเรื่องเวลาและสถานที่ เป็นธรรมดาที่คนเราอาจลืมวันหรือเวลาไปบ้าง แต่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีปัญหาในการแยกแยะวัน เวลา สถานที่ และหลงทางได้ง่ายกว่าปกติ ทั้งยังทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ยาก หรือมักสงสัยว่าทำไมสิ่งนั้นถึงไม่เกิดขึ้นในทันที
  • ทำของหายบ่อย ทั้งของสำคัญและของที่ใช้เป็นประจำ เช่น แปรงสีฟัน แก้วน้ำ นาฬิกา กุญแจบ้าน กุญแจรถยนต์ เป็นต้น และมักวางของผิดที่ผิดทางจนหาไม่เจอหรือนึกไม่ออกว่าเก็บไว้ตรงไหน โดยอาจวางรีโมททีวีไว้ในตู้เย็น หรือวางโทรศัพท์ไว้ในห้องน้ำ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการพูดและการสนทนา ผู้สูงอายุบางรายอาจนึกคำพูดบางคำไม่ออก แต่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักมีปัญหามากกว่านั้น เช่น ตามบทสนทนาไม่ทัน หยุดชะงักระหว่างการสนทนา พูดคำหรือประโยคเดิมซ้ำไปซ้ำมา ใช้คำผิดความหมาย ใช้ภาษาแปลกไปจากเดิม เรียกชื่อคน สิ่งของ หรือสถานที่ต่าง ๆ ไม่ถูกต้องหรือผิดไปจากเดิม
  • มีปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ละเลยการอาบน้ำหรือการทำความสะอาดร่างกายตนเอง ไม่สามารถใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านได้อย่างที่เคยใช้เป็นประจำ เกมส์หรืองานอดิเรกที่เคยทำกลับกลายเป็นเรื่องยาก หรือแม้แต่กิจกรรมยามว่างง่าย ๆ ก็ไม่สามารถทำได้เหมือนเดิม
  • ประสิทธิภาพในการวางแผน การแก้ปัญหา และการตัดสินใจลดลง ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักมีปัญหาเกี่ยวกับการเตรียมการ การทำตามขั้นตอน และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข โดยอาจสังเกตได้ว่าผู้ป่วยทำอาหารเมนูที่คุ้นเคยได้ไม่คล่องแคล่วดังเดิม การชำระบิลค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เคยทำประจำทุกเดือนก็ทำได้ยากขึ้น มีสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ ลดลง ใช้จ่ายกับเรื่องที่ปกติแล้วจะไม่ใช้ และมักตัดสินใจผิดพลาดบ่อยครั้ง
  • เฉื่อยชา ไร้แรงจูงใจ และเบื่อการพบปะผู้คน ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์จะมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย ซึ่งมักเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยในระยะแรกเริ่มหรือระยะกลางเกิดความรู้สึกเฉื่อยชา ขาดแรงจูงใจ เบื่อการพบปะผู้คน ไม่อยากเข้าสังคม และมักหมดเวลาไปกับการดูทีวีหรือการนอน อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้อาจไม่ใช่สัญญาณของโรคอัลไซเมอร์เสมอไป แต่อาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น อายุที่มากขึ้นก็อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการรับรู้จนทำให้รู้สึกไม่อยากพูดคุยกับใคร หรือเป็นเพียงความเหนื่อยล้าจากการทำงาน การดูแลครอบครัว และการเข้าสังคม เป็นต้น
  • หวาดระแวงและเห็นภาพหลอน อาจเริ่มมีความคิดหรือความสงสัยที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล เช่น บอกว่ามีคนขโมยของบางอย่างไป ทั้งที่จริง ๆ แล้วอาจจะทำหายหรือวางลืมไว้เอง ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยอัลไซเมอร์บางรายอาจเห็นภาพหลอนแล้วคิดว่ามีคนจะมาทำร้ายตนเอง หรือมีความผิดปกติทางประสาทสัมผัสอื่น ๆ เช่น การได้ยิน การดมกลิ่น และการชิมรส เป็นต้น รวมทั้งอาจรับรู้ในสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงด้วย
  • มีอารมณ์รุนแรงและมีพฤติกรรมแปลกไป แม้เป็นเรื่องปกติที่ผู้สูงอายุอาจหงุดหงิดง่ายหากถูกขัดจังหวะ และเมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักมีอารมณ์แปรปรวนได้ง่ายกว่า หรือมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน เช่น โมโห ก้าวร้าว สงสัย สับสน หดหู่ หวาดกลัว ซึมเศร้า และวิตกกังวล เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรมแปลกไปจากเดิม หรือมีพฤติกรรมรุนแรงขึ้น เช่น ก่อกวนให้เกิดความวุ่นวาย ทำตัวน่าสงสัยและไม่น่าไว้วางใจ ชอบซ่อนสิ่งของไว้ตามที่ต่าง ๆ ใส่เสื้อผ้าน้อยหรือมากชิ้นกว่าปกติ ตะโกน โหวกเหวกโวยวาย ชอบใช้ความรุนแรง เป็นต้น
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น อายุที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้เกิดโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุทั่วไปได้ แต่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นที่รุนแรงกว่า เช่น มีปัญหาในการอ่านตัวหนังสือหรือมองเห็นตัวหนังสือลำบากมากขึ้น รวมทั้งกะระยะการมองเห็นผิดพลาดหรือแยกสีไม่ออก ซึ่งอาจส่งผลต่อการขับขี่ยานพาหนะและการปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจรต่าง ๆ ได้
  • สูญเสียทักษะการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักมีปัญหาในการหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ เช่น ไม่สามารถติดหรือปลดกระดุมเสื้อได้ มีปัญหาในการใช้ช้อนหรือส้อมในการรับประทานอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นได้เช่นกัน อย่างโรคพาร์กินสันที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อมืออ่อนล้า ชา หรือการสูญเสียประสาทสัมผัส

อย่างไรก็ตาม อาการขี้หลงขี้ลืมหรือปัญหาต่าง ๆ ข้างต้นอาจเป็นผลมาจากปัจจัยอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ความเหนื่อยล้า ปัญหาสุขภาพ รวมถึงการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น ดังนั้น หากพบว่าตนเองหรือบุคคลรอบข้างมีอาการดังที่กล่าวมา หรือมีอาการแย่ลงเรื่อย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป