สังเกต 8 อาการไข่ตก และสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

อาการไข่ตก (Ovulation Symptoms) เป็นอาการที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงรอบเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายพร้อมสำหรับการปฏิสนธิและตั้งครรภ์ อาการไข่ตกของผู้หญิงแต่ละคนจะแตกต่างกัน เช่น อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ตกขาวเปลี่ยนไป เจ็บเต้านม และปวดเกร็งท้อง การสังเกตอาการไข่ตกจะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ และทราบการเปลี่ยนแปลงเพื่อดูแลสุขภาพระบบสืบพันธุ์

ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์จะมีการตกไข่เดือนละ 1 ครั้ง โดยไข่เพียงใบเดียวที่สุกแล้วจะออกจากรังไข่ไปยังท่อนำไข่ เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิ ในช่วงนี้ฮอร์โมนในร่างกายจะแปรปรวน จึงทำให้เกิดอาการตกไข่

อาการไข่ตก

สัญญาณบ่งบอกอาการไข่ตก

อาการไข่ตกของแต่ละคนจะแตกต่างกัน โดยระยะเวลาที่อาจเกิดอาการตกไข่จะขึ้นอยู่กับรอบเดือน เช่น ผู้หญิงที่มีรอบเดือนมาทุก ๆ 28 วันอย่างสม่ำเสมอ วันไข่ตกจะอยู่ในช่วงวันที่ 14 ของรอบเดือน ผู้หญิงบางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ เลย แต่บางคนอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายอย่างที่สังเกตเห็นได้ เช่น

1. อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น

ช่วงไข่ตกจะมีการหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ออกมา ทำให้อุณหภูมิร่างกายขณะพัก (Basal Body Temperature: BBT) สูงขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 0.3–0.6 องศาเซลเซียสหลังไข่ตกภายใน 24 ชั่วโมง และอุณหภูมิจะคงที่ไปจนกว่าจะหมดรอบเดือนนั้น ๆ

การวัดอุณหภูมิร่างกายขณะพักทุกวันจึงเป็นวิธีที่ช่วยให้ทราบรอบเดือนของตัวเอง และคำนวณอาการไข่ตกได้ โดยช่วงเวลาที่ควรวัดอุณหภูมิของร่างกายขณะพักคือหลังตื่นนอนทันที เพราะเป็นช่วงที่ยังไม่ได้เริ่มออกแรงทำกิจกรรม ทำให้ได้อุณหภูมิที่แม่นยำ

2. ตกขาวเปลี่ยนไป

ตกขาว หรือเมือกบริเวณปากมดลูกเป็นสัญญาณบ่งบอกที่อาการไข่ตกได้ดี โดยในช่วงที่มีการตกไข่ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะสูงขึ้น ตกขาวจึงมีลักษณะคล้ายไข่ขาวดิบ คือเป็นเมือกเหลวใส และมีปริมาณมากกว่าปกติ เพื่อช่วยให้อสุจิเดินทางผ่านปากมดลูกเข้าไปปฏิสนธิและตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น 

บางคนอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยด้วย จึงอาจสังเกตเห็นตกขาวมีเลือดปน หรือตกขาวสีน้ำตาล จากนั้นเมื่อหมดช่วงไข่ตก ตกขาวจะน้อยลงและเป็นเมือกเหนียวขึ้น

3. เจ็บเต้านม

เจ็บเต้านมเป็นอาการไข่ตกที่พบได้ โดยอาจมีอาการได้หลายแบบ เช่น คัดตึงหน้าอกเล็กน้อย ปวดตื้อ ๆ หนัก ๆ หรือปวดร้าว รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสเต้านมและบริเวณหัวนม บางคนอาจมีอาการเจ็บเต้านมมากเมื่อเกิดการเสียดสีกับชุดชั้นใน 

4. ท้องอืด และตัวบวม

อาการไข่ตกอาจทำให้ท้องอืด เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing hormone: LH) เพิ่มสูงขึ้น บางคนอาจมีอาการบวมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หน้าท้อง มือ และข้อเท้าด้วย

5. ปวดท้อง

อาการไข่ตกอาจทำให้ปวดเกร็งบริเวณท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่ง (Mittelschmerz) นั่นคือข้างที่มีไข่ตก ซึ่งเกิดจากการที่ถุงรังไข่แตกออก และปล่อยไข่ที่สุกแล้วออกมา 

โดยแต่ละคนอาจมีอาการปวดที่แตกต่างกัน เช่น ปวดแปลบ ปวดตื้อ และปวดหน่วง ๆ บางคนอาจปวดบริเวณกระดูกเชิงกรานด้วย ระยะเวลาที่ปวดอาจเป็นช่วงสั้น ๆ แล้วหายไปภายในไม่กี่นาที แต่บางคนอาจมีอาจปวดต่อเนื่องกัน 2–3 วัน

6. ลักษณะของปากมดลูกเปลี่ยนไป

ปากมดลูกที่เปลี่ยนไปเป็นอาการไข่ตกที่สามารถทดสอบได้ด้วยตัวเอง โดยล้างมือให้สะอาด จากนั้นค่อย ๆ สอดนิ้วชี้เข้าไปในช่องคลอด จนรู้สึกว่าปลายนิ้วแตะที่ปากมดลูก จะพบว่าช่วงที่ไข่ตก ปากมดลูกจะอยู่สูงกว่าปกติ มีลักษณะอ่อนนุ่ม บวมเล็กน้อย และไวต่อการสัมผัสมากขึ้น

7. อารมณ์แปรปรวน

ระดับฮอร์โมนเพศหญิง เช่น เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน และฮอร์โมนลูทิไนซิงจะเปลี่ยนแปลงในช่วงไข่ตก อารมณ์แปรปรวนจึงเป็นอาการไข่ตกที่อาจพบได้ โดยอาจทำให้มีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ดีใจและเสียใจง่าย กระสับกระส่าย รู้สึกมีพลังหรือความมั่นใจเป็นพิเศษ

8. ความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น

การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเพศหญิง เช่น เอสโตรเจน และลูทิไนซิง ในช่วงระหว่างที่ไข่ตก จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการทางเพศมากขึ้น และพร้อมสำหรับการปฏิสนธิ และอารมณ์ทางเพศจะกลับเป็นปกติเมื่อหมดช่วงไข่ตกไปแล้ว และระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ลดลง

นอกจากอาการไข่ตกเหล่านี้ ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการอื่น  ๆ เช่น รู้สึกไม่สบายตัว ปวดหัว คลื่นไส้ ไวต่อแสง กลิ่น และเสียงต่าง ๆ มากกว่าปกติ และอยากอาหารมากขึ้น

อาการไข่ตกที่ควรไปพบแพทย์

หลายคนอาจกังวลว่าอาการไข่ตกปกติหรือไม่ และเมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์ คำตอบคือหากมีอาการไข่ตกต่าง ๆ ข้างต้นที่ไม่รุนแรง ถือเป็นอาการปกติ และไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล อย่างไรก็ตาม คนที่มีอาการไข่ตกเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ 

  • มีอาการปวดนานกว่า 48 ชั่วโมง หรือปวดรุนแรงจนไม่สามารถขยับตัวหรือทำกิจกรรมได้ตามปกติ
  • รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ ถ่ายอุจจาระ และขณะมีเพศสัมพันธ์
  • อาเจียน และท้องเสีย
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดปริมาณมาก หรือเลือดออกไม่หยุด
  • เป็นลม หมดสติ

ผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ แต่ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนขาด อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่ทำให้ไม่ตกไข่ในบางเดือน หรืออาจไม่ตกไข่เลย (Anovulation) เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS) ซึ่งจะทำให้มีบุตรยาก 

หากพยายามมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อตั้งครรภ์เป็นเวลา 1 ปี แล้วยังไม่ตั้งครรภ์ หรือายุ 35 ปีขึ้นไป และไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ภายใน 6 เดือนที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่รักอย่างสม่ำเสมอ ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจและรักษาภาวะมีบุตรยากต่อไป

การสังเกตอาการไข่ตกจะช่วยช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์หรือการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ และยังช่วยให้ทราบอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์อีกด้วย นอกจากสังเกตอาการไข่ตกแล้ว อาจใช้วิธีนับวันและจดบนปฏิทิน หรือใช้ชุดตรวจการตกไข่มาตรวจด้วยตัวเอง เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการคำนวณวันตกไข่