สมองฝ่อ (Cerebral Atrophy/Brain Atrophy)

ความหมาย สมองฝ่อ (Cerebral Atrophy/Brain Atrophy)

สมองฝ่อ (Cerebral Atrophy หรือ Brain Atrophy) เป็นโรคที่เกิดจากการสูญเสียเซลล์ประสาทและการเชื่อมต่อกันของเซลล์ประสาท โดยอาจเป็นผลจากปัญหาสุขภาพบางประการ อาการบาดเจ็บทางสมอง หรืออายุที่มากขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการคิดหรือความจำของผู้ป่วยแย่ลง มีอาการชัก หรือมีปัญหาในการสื่อสาร ซึ่งอาจรุนแรงมากน้อยต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน

แม้ในปัจจุบันจะไม่สามารถฟื้นฟูหรือรักษาสมองฝ่อให้กลับมามีสภาพเดิมได้ แต่อาจสามารถป้องกันสมองเสียหายได้ หรือช่วยชะลอการเกิดสมองฝ่อในอนาคต ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อเข้ารับการรักษาและคำแนะนำในการป้องกันและดูแลตัวเองเพิ่มเติม  

สมองฝ่อ (Cerebral Atrophy/Brain Atrophy)

อาการของสมองฝ่อ

สมองฝ่ออาจก่อให้เกิดอาการที่ต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสาเหตุของสมองฝ่อและสมองส่วนที่เสียหาย โดยผู้ป่วยอาจสมองฝ่อแค่บางส่วน (Focal Atrophy) หรือสมองฝ่อทุกส่วน (Generalized Atrophy) โดยอาการของสมองฝ่อที่อาจพบได้ก็เช่น 

  • มีความบกพร่องทางการสื่อสาร เช่น การพูดคุย การเขียน หรือความสามารถในการเข้าใจภาษาหรือความหมายของคำ 
  • สมองเสื่อม ทำให้มีปัญหาด้านความจำ ความสามารถในการตัดสินใจ การให้เหตุผล การวางแผน พฤติกรรมหรืออารมณ์เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งอาจกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน 
  • อาการชัก กล้ามเนื้อเกร็ง มีรสชาติขมหรือรสโลหะในปาก หมดสติ ทรงตัวลำบาก 

แต่ในบางกรณี สมองฝ่ออาจก่อให้เกิดอาการของโรคเส้นเลือดในสมอง (Stroke) เช่น มีอาการปวดหัวรุนแรง รู้สึกชาและอ่อนแรงที่แขน ขา หรือใบหน้า เวียนศีรษะรุนแรง ไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้ ควรรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีเนื่องจากเป็นอาการที่มีความอันตราย และอาจเสี่ยงต่อการเกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้

สาเหตุของสมองฝ่อ

การสูญเสียเซลล์ประสาทและการเชื่อมต่อกันของเซลล์ประสาทในผู้ป่วยสมองฝ่อนั้นนอกจากจะเกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิดเนื่องมากจากกลุ่มอาการทางระบบประสาทหรือพัฒนาการทางสมองที่ไม่ดี ยังอาจเป็นผลจากอายุที่มากขึ้น และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ด้วย ดังนี้

  • ปัญหาสุขภาพที่ส่งผลให้เซลล์ประสาทเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) สมองพิการ (Cerebral Palsy) โรคฮันติงตัน (Huntington’s Disease) หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) 
  • การติดเชื้อที่สมอง เช่น โรคเอดส์ (AIDS) ไข้หุ้มสมองอักเสบ (Encephalitis) หรือซิฟิลิสระบบประสาท (Neurosyphilis)
  • อาการบาดเจ็บทางสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมองหรือเส้นเลือดในสมองแตก (Stroke) และอุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนทางสมองอย่างหกล้ม โดนตีศีรษะ หรือรถชน 
  • ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของสมองฝ่อ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากหรือโรคพิษสุราเรื้อรัง การได้รับสารพิษ หรือการขาดออกซิเจน  

การวินิจฉัยสมองฝ่อ

เบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและคนในครอบครัว อาการที่เกิดขึ้นจากผู้ป่วย และอาจส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อประเมินการทำงานของสมอง โดยพิจารณาจากการทำงานประสานกันของอวัยวะร่างกาย การเคลื่อนไหวของดวงตา ความจำ การใช้ภาษา ไปจนถึงทักษะการแก้ปัญหาของผู้ป่วย

กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง ชา มีปัญหาด้านการมองเห็น หรือพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจจากภาพถ่าย เพื่อตรวจหาสมองส่วนที่ได้รับความเสียหาย เช่น การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์อย่าง PET หรือ SPECT   

การรักษาสมองฝ่อ

เบื้องต้นแพทย์จะรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีที่ต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ก่อให้เกิดสมองฝ่อ โดยอาจเน้นไปที่การใช้ยารักษา กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด อรรถบำบัด การให้คำแนะนำ  การใช้ไม้ค้ำยันผู้ป่วยที่มีปัญหาในการทรงตัว หรือบางรายอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้ เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น 

  • อัลไซเมอร์ สมองพิการ หรือโรคฮันติงตันอาจใช้ยาบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น แต่ไม่อาจรักษาสมองที่เสียหายให้กลับมาปกติได้ 
  • โรคหลอดเลือดสมองอาจรักษาหรือป้องกันด้วยยาละลายลิ่มเลือด ยาลดความดันโลหิต ยาลดคอเลสเตอรอล หรือผ่าตัดนำลิ่มเลือดที่อุดตันออกหรือซ่อมแซมหลอดเลือดที่เสียหาย
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง อาจได้รับประทานยาป้องกันระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ประสาท
  • อาการบาดเจ็บที่สมองอาจรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อป้องกันเซลล์ประสาทได้รับความเสียหายเพิ่มเติม
  • โรคเอดส์หรือไข้สมองอักเสบรักษาด้วยยาต้านไวรัส ยาสเตียรอยด์ หรือยาแอนติบอดีชนิดพิเศษ
  • ซิฟิลิสรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันเซลล์ประสาทเสียหายและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

ภาวะแทรกซ้อนของสมองฝ่อ

เนื่องจากผู้ป่วยสมองฝ่อไม่อาจฟื้นฟูสมองส่วนที่เสียหายให้กลับมาเป็นปกติได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมหรือทันท่วงที อาจทำให้มีปัญหาด้านความจำ การคิด และกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาครอบครัวและสังคมหรือการเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่สมองฝ่อจากปัญหาสุขภาพที่รุนแรงและอุบัติเหตุ

การป้องกันสมองฝ่อ

การระมัดระวังตัวและหมั่นดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอเป็นส่วนสำคัญที่อาจช่วยลดความเสี่ยงของสมองฝ่อ รวมถึงต้นเหตุของสมองฝ่อบางประการได้ 

โดยควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 150 นาทีเป็นอย่างต่ำ ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หาวิธีผ่อนคลายความเครียด เลิกสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ าดเข็มขัดและสวมหมวกกันน็อคขณะขับขี่ยานพาหนะ หรือสวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายอย่างเหมาะสมขณะปฏิบัติงาน และหากพบอาการผิดปกติใด ๆ ควรไปปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ