9 วิธีแก้ไอตอนกลางคืนแบบง่าย ๆ ที่ทำได้ด้วยตัวเอง

การรู้จักวิธีแก้ไอตอนกลางคืนเป็นสิ่งที่หลายคนกำลังมองหา เนื่องจากอาการไออาจก่อให้เกิดความรำคาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไอตอนกลางคืนและรบกวนการนอนหลับ ซึ่งการไอตอนกลางคืนอาจส่งผลให้รู้สึกปวดหัว หงุดหงิดง่าย เหนื่อยล้า คิดช้า และไม่มีสมาธิ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ร่างกายนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ

การไอจะเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งระคายเคืองอยู่ในลำคอหรือทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่นหรือเสมหะ ร่างกายของเราจึงไอเพื่อกำจัดสิ่งนั้นออกไป การไอมีปัจจัยมาหลายสาเหตุ เช่น ไข้หวัด อาการแพ้ หอบหืด ไซนัสอักเสบ การสูบบุหรี่ โดยอาการไอมักรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากท่าทางการนอน สภาพแวดล้อมภายในห้องนอน และฝุ่นหรือไรฝุ่นจากที่นอน

วิธีแก้ไอตอนกลางคืน

วิธีแก้ไอตอนกลางคืน

วิธีแก้ไอตอนกลางคืนทำได้หลายวิธี ซึ่งอาจช่วยบรรเทาทั้งอาการไอแห้งและไอแบบมีเสมหะ โดยมีวิธีดังนี้ 

1. การดื่มน้ำอุ่น

วิธีแก้ไอตอนกลางคืนสามารถทำได้โดยการดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน โดยน้ำอุ่นอาจช่วยละลายเสมหะในลำคอและบรรเทาอาการเจ็บคอได้ นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มร้อนอื่น ๆ เช่น ชาร้อน ก็อาจช่วยบรรเทาอาการไอตอนกลางคืนได้เช่นกัน

2. เปลี่ยนท่านอน

ท่านอนอาจเป็นสาเหตุให้อาการไอตอนกลางคืนรุนแรงขึ้น เนื่องจากเสมหะหรือน้ำมูกอาจไหลไปสะสมอยู่ที่ลำคอ ทำให้คอระคายเคืองและก่อให้เกิดอาการไอได้ ดังนั้น วิธีแก้ไอตอนกลางคืนอาจทำได้โดยการปรับเปลี่ยนท่านอน เช่น นอนตะแคงและนอนโดยให้ศีรษะยกสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ควรสูงเกินไปเพราะอาจทำให้ปวดคอได้ 

3. กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ

วิธีแก้ไอตอนกลางคืนอาจใช้การกลั้วคอด้วยน้ำเกลือเพื่อขจัดเสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในทางเดินอากาศให้โล่งขึ้น นอกจากนี้ การกลั้วคออาจช่วยบรรเทาอาการไอที่เกิดจากอาการแพ้ โรคหอบหืด และการติดเชื้อ เพียงผสมเกลือครึ่งช้อนชาและน้ำอุ่น 240 มิลลิลิตร กลั้วคอไว้สักพักและบ้วนทิ้ง

4. กินอาหารหรือสมุนไพรแก้ไอ

วิธ๊แก้ไอตอนกลางคืนด้วยการกินอาหารหรือสมุนไพรบางชนิดเป็นวิธีที่ทำได้ไม่ยาก เพราะเป็นวัตถุดิบที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ตัวอย่างของสมุนไพรหรืออาหารต่าง ๆ ที่อาจช่วยบรรเทาอาการไอตอนกลางคืน เช่น

  • ขิง การกินขิงหรือน้ำขิงร้อนอาจช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองคอและทางเดินหายใจ ซึ่งอาจส่งผลให้อาการไอตอนกลางคืนดีขึ้น
  • น้ำผึ้ง การกินน้ำผึ้งอาจช่วยรักษาอาการไอตอนกลางคืนและลดเสมหะได้ แต่ไม่เหมาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจาก อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคโบทูลิซึม (Botulism) หรือโรคอาหารเป็นพิษชนิดหนึ่งได้
  • น้ำมะนาว การดื่มน้ำมะนาวอาจช่วยรักษาอาการไอตอนกลางคืนได้ น้ำมะนาวสามารถดื่มได้หลายวิธี เช่น ผสมกับน้ำอุ่น หรือผสมกับขิง น้ำผึ้งและน้ำอุ่น เพื่อช่วยให้อาการไอตอนกลางคืนลดลง
  • สับปะรด การกินสับปะรดหรือดื่มน้ำสับปะรดอาจทำให้ร่างกายได้รับเอนไซม์โบรมีเลน (Bromelain) จากสับปะรด ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยละลายเสมหะและลดอาการไอตอนกลางคืนได้

5. การใช้ยาอมแก้ไอ

การใช้ยาอมแก้ไอเป็นอีกหนึ่งวิธีในการแก้ไอตอนกลางคืน โดยการใช้ยาอมแก้ไออาจช่วยให้คอชุ่มชื้นและบรรเทาอาการเจ็บคอหรือระคายเคืองคอ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการไอตอนกลางคืนได้ 

ทั้งนี้ การใช้ยาอมแก้ไอควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยา เนื่องจากการใช้ยาอมแก้ไอมากเกินไปอาจทำให้อาการไอรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาอมในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี เพราะอาจเสี่ยงต่อยาอมติดคอได้

6. ใช้เครื่องฟอกอากาศ

วิธีแก้ไอตอนกลางคืนอาจทำได้โดยการใช้เครื่องฟอกอากาศ โดยเครื่องฟอกอากาศอาจช่วยดักจับสิ่งสกปรกในอากาศที่ก่อให้เกิดอาการไอตอนกลางคืน เช่น ฝุ่นละออง ควัน ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส ดังนั้น การใช้เครื่องฟอกอากาศจึงอาจช่วยให้อากาศปราศจากสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้และบรรเทาอาการไอตอนกลางคืนได้

7. หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง

อาการไอตอนกลางคืนอาจเกิดจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ เช่น สถานที่ที่มีฝุ่นหรือควันเยอะ วิธีแก้ไอตอนกลางคืนอาจทำได้ดังนี้

  • ปิดหน้าต่างเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองหรือควันลอยเข้ามาในห้อง 
  • ใช้ชุดเครื่องนอนที่ช่วยป้องกันไรฝุ่นและควรทำความสะอาดชุดเครื่องนอนด้วยน้ำร้อนทุกสัปดาห์ เพื่อกำจัดไรฝุ่น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการไอตอนกลางคืน
  • อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าหลังออกไปข้างนอก เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกที่อาจติดอยู่บนร่างกาย

8. เลิกสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่หรือสูดดมกลิ่นบุหรี่เป็นระยะเวลานานอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอตอนกลางคืน โดยอาการไออาจเป็นวิธีกำจัดสารพิษหรือสารเคมีในบุหรี่ออกจากทางเดินหายใจ ดังนั้น การเลิกสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ อาจเป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการไอตอนกลางคืนได้

9. กินยาบรรเทาอาการไอ

การกินยาอาจเป็นวิธีแก้ไอตอนกลางคืนที่มีประสิทธิภาพ โดยอาจกินยาขับเสมหะและยาแก้ไอพื่อลดเสมหะให้น้อยลงและบรรเทาอาการไอให้ดีขึ้น วิธีนี้อาจเหมาะสำหรับอาการไอที่เรื้อรังหรือก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายและรบกวนการนอนหลับ ทั้งนี้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาหรืออาจปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาเพื่อความปลอดภัย

หากลองทำตามวิธีแก้ไอตอนกลางคืนแล้ว แต่ยังคงมีอาการไอตอนกลางคืนนานเกิน 7 วัน หรือมีอาการเพิ่มเติม เช่น มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีเลือดปนเสมหะ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป