ลูกฝันร้าย สาเหตุและวิธีรับมือเพื่อให้ลูกหลับเต็มอิ่ม

ฝันร้ายเป็นภาวะที่พบได้ทุกวัย แต่มักพบในเด็กอายุระหว่าง 3–6 ปี ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เด็กตกใจกลัวและตื่นกลางดึก ในขณะที่บางคนอาจรู้สึกกลัวจนไม่สามารถนอนหลับต่อได้ ทั้งนี้ เด็กส่วนมากจะฝันร้ายน้อยลงเมื่อโตขึ้น แต่หากฝันร้ายเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรบกวนการนอนหลับ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงฝันร้ายที่ผิดปกติ (Nightmare Disorder) และความผิดปกติอื่น ๆ ได้

ฝันร้ายมักเกิดขึ้นในช่วงระยะหลับฝัน (Rapid Eye Movement Sleep: REM Sleep) ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของวงจรการนอนหลับ ฝันร้ายมักทำให้เด็กรู้สึกตื่นกลัว หวาดผวา เครียด และวิตกกังวล หากเกิดในเด็กเล็กมักทำให้เด็กงอแงและไม่ยอมนอน เพราะกลัวจะฝันร้ายซ้ำอีก พ่อแม่จึงควรเรียนรู้วิธีรับมือเมื่อลูกฝันร้าย เพื่อให้ลูกไม่หวาดกลัวและสามารถนอนหลับได้อย่างเต็มอิ่ม

ลูกฝันร้าย สาเหตุและวิธีรับมือเพื่อให้ลูกหลับเต็มอิ่ม

ฝันร้ายในเด็ก เกิดจากสาเหตุใด

ฝันร้ายเป็นภาวะที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ฝันร้ายในเด็กมักเกี่ยวข้องกับความกลัวและความเครียดจากเหตุการณ์ในชีวิตจริง หรือเกิดจากจินตนาการของเด็กเอง โดยเด็กเล็กมักฝันร้ายเรื่องการแยกจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง 

ส่วนเด็กวัยเรียนอาจฝันร้ายเมื่อเจอเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น ความขัดแย้งของคนในครอบครัว การย้ายโรงเรียน และการดูภาพยนตร์หรือหนังสือที่น่ากลัว อย่างเรื่องที่มีสัตว์ประหลาด ผี หรือสัตว์ดุร้ายก่อนเข้านอน ทำให้เก็บมาฝันในตอนกลางคืน

นอกจากนี้ ฝันร้ายในเด็กยังอาจเกิดจากอาการเจ็บป่วยอย่างมีไข้ และอาจพบในเด็กที่ผ่านเหตุการณ์กระทบกระเทือนต่อจิตใจ เช่น การถูกกลั่นแกล้ง การถูกทำร้ายร่างกาย การถูกล่วงละเมิดทางเพศ อุบัติเหตุ และการผ่าตัด 

ทั้งนี้ อาการฝันร้ายบ่อย ๆ ในเด็กที่อายุมากกว่า 6 ปี อาจเป็นสัญญาณของความเจ็บป่วยทางร่างกายและความผิดปกติทางจิตใจที่ควรได้รับการรักษา เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท (Schizophrenia) และโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) 

รับมืออย่างไรเมื่อลูกฝันร้าย

จากสถิติพบว่าเด็กราว 25% ฝันร้ายทุกสัปดาห์ โดยมักเกิดในช่วงเช้าระหว่าง 4.00–6.00 น. พ่อแม่จึงควรรับมือเมื่อลูกฝันร้ายอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยให้ลูกคลายความกลัวและนอนหลับได้อย่างเต็มอิ่ม ดังนี้

  • หากเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่ควรเข้าหาลูกทันทีที่รู้ว่าลูกฝันร้าย กอดและปลอบให้ลูกรู้ว่าเรื่องราวร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นในความฝันไม่ได้เกิดขึ้นในความเป็นจริง
  • อยู่กับลูกจนกว่าจะหายตกใจ หยุดร้องไห้ และมีท่าทีสงบลง โดยอาจเปิดเพลงสบาย ๆ ให้กอดตุ๊กตาตัวโปรด และอ่านนิทานที่ลูกชอบ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย
  • รับฟังความกลัวและความกังวลของลูกอย่างตั้งใจ พ่อแม่ไม่ควรโกรธและหงุดหงิด เพราะจะยิ่งทำให้ลูกเครียดจนไม่สามารถหลับต่อได้
  • เมื่อลูกโตขึ้น ควรฝึกให้ลูกรับมือกับฝันร้ายได้ด้วยตัวเอง อย่างการให้กลับไปนอนต่อที่ห้องของตัวเองโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องคอยปลอบ 

วิธีป้องกันลูกน้อยฝันร้าย

ฝันร้ายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่เทคนิคเหล่านี้อาจช่วยให้ลูกนอนหลับสนิทได้ตลอดทั้งคืนโดยไม่ถูกรบกวนจากฝันร้าย

  • หลีกเลี่ยงการดูโทรทัศน์หรือการอ่านหนังสือที่น่ากลัวก่อนนอนอย่างน้อย 30 นาที เพราะเรื่องราวเหล่านั้นจะตกค้างในความรู้สึกของลูกและกระตุ้นให้ฝันร้ายได้
  • สอนให้ลูกเข้าใจว่าความฝันเกิดขึ้นได้กับทุกคน และฝันร้ายมักเกิดในบางครั้งเท่านั้น 
  • พูดคุยเรื่องความฝันและสอนวิธีรับมือกับฝันร้ายในตอนกลางวัน โดยชวนลูกทำกิจกรรมสนุก ๆ อย่างการวาดรูปเพื่อลดความกลัวของลูก และสังเกตว่าลูกฝันร้ายเกี่ยวกับเรื่องใดซ้ำ ๆ ซึ่งอาจสาเหตุของการฝันร้าย
  • พูดชมเชยหรือให้รางวัลเมื่อลูกไม่ตื่นกลัวจากฝันร้ายและสามารถนอนหลับต่อได้เอง
  • ให้ลูกนอนให้เพียงพอ ซึ่งอาจช่วยให้ฝันร้ายน้อยลง โดยเด็กวัยเรียนควรนอนหลับให้ได้ 9–12 ชั่วโมงต่อวัน และเด็กเล็กที่อายุระหว่าง 1–5 ปี ควรนอนให้ได้วันละประมาณ 10–14 ชั่วโมง 

แม้ว่าฝันร้ายในเด็กมักเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่น่ากังวล แต่การฝันร้ายบ่อยมักรบกวนการนอนหลับและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากลูกฝันร้ายมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลาต่อเนื่องกันเกิน 6 เดือน มีอาการวิตกกังวลและกลัวอย่างรุนแรงจนไม่สามารถนอนหลับได้ หรือฝันร้ายหลังผ่านเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจมาก่อน ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา