รู้จักยาแก้ท้องอืด และข้อควรรรู้เพื่อการใช้ยาอย่างปลอดภัย

ยาแก้ท้องอืดสามารถช่วยบรรเทาอาการอึดอัด ไม่สบายท้อง และรู้สึกแน่นท้องเหมือนมีลมในท้องเป็นจำนวนมากได้ ซึ่งยาแก้ท้องอืดมีหลายชนิดและรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ท้องอืดรูปแบบเม็ดอย่างยาชนิดเคี้ยวแล้วกลืน หรือยาแก้ท้องอืดรูปแบบน้ำอย่างยาน้ำแขวนตะกอนหรือยาธาตุ ทั้งนี้ ก่อนเลือกใช้ยาแก้ท้องอืดแต่ละชนิดควรศึกษาวิธีการใช้งานอย่างถี่ถ้วน

อาการท้องอืดสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานอาหารมากเกินไปหรือเร็วเกินไป การรับประทานอาหารที่ย่อยยาก การรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น เช่น อาหารไฟเบอร์สูง ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำอัดลม นอกจากนี้ อาการท้องอืดอาจเป็นผลมาจากโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น ภาวะแพ้แลคโตส หรือโรคกรดไหลย้อนก็ได้เช่นกัน

ยาแก้ท้องอืด

สิ่งที่ควรรู้ก่อนเลือกใช้ยาแก้ท้องอืด

อาการท้องอืดสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และตัวยาแต่ละชนิดก็มีกลไกในการออกฤทธิ์เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องอืดที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ควรเลือกใช้ยาแก้ท้องอืดให้เหมาะสมกับสาเหตุของการเกิดอาการท้องอืด เพื่อที่จะสามารถบรรเทาอาการท้องอืดได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างยาแก้ท้องอืดที่ปลอดภัยและสามารถช่วยบรรเทาอาการท้องอืดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่

1. ยาไซเมทิโคน (Simethicone) 

ยาไซเมทิโคนเป็นยาแก้ท้องอืดที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ลดแรงตึงผิวของฟองแก๊สในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ฟองแก๊สเหล่านี้ถูกขับออกมาได้ง่ายในรูปแบบของการเรอ เมื่อมีแก๊สในกระเพาะอาหารลดลง อาการท้องอืดท้องเฟ้อก็จะบรรเทาลงด้วย

ยาไซเมทิโคนส่วนใหญ่เป็นยาในรูปแบบเม็ดเคี้ยวแล้วกลืน แต่ก็มียาในรูปแบบอื่นด้วย เช่น ยาแคปซูล นอกจากนี้ ตัวยาไซเมทิโคนจะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตรจึงสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

2. ยาลดกรด

อาการท้องอืดอาจเป็นผลข้างเคียงมาจากโรคกรดไหลย้อน การรับประทานยาลดกรดจึงเป็นวิธีแก้ท้องอืดอีกทางหนึ่ง ซึ่งยาลดกรดจะออกฤทธิ์ช่วยปรับค่าความเป็นกรดในกระเพาะอาหารให้มีความเป็นกลางมากขึ้น ช่วยลดการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร และยังช่วยลดแก๊สส่วนเกินในระบบทางเดินอาหารที่ทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อด้วย

ยาลดกรดส่วนใหญ่พบในรูปแบบยาเม็ดสำหรับเคี้ยวแล้วกลืนและยาน้ำแขวนตะกอน ตัวอย่างยาลดกรด เช่น ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของโซเดียมไบคาร์บอเนต และยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแคลเซียมคาร์บอเนต

3. ยาธาตุ

ยาธาตุมี 2 ชนิดคือยาธาตุน้ำแดงและยาธาตุน้ำขาว โดยยาธาตุน้ำแดงจะมีฤทธิ์เป็นยาระบายและยาลดกรด มีสรรพคุณช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ และช่วยขับลมออกจากระบบทางเดินอาหาร ส่วนยาธาตุน้ำขาวจะมีฤทธิ์ในการช่วยฆ่าเชื้อในลำไส้และช่วยขับลมในระบบทางเดินอาหาร ยาธาตุจึงสามารถช่วยบรรเทาอาการท้องอืดได้

4. ยาซูคราลเฟต (Sucralfate)

ยาซูคราลเฟตเป็นยาสำหรับรักษาแผลในกระเพาะอาหาร โดยตัวยาจะออกฤทธิ์เคลือบแผลในกระเพาะอาหาร และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ซึ่งยาซูคราลเฟตสามารถรักษาโรคกรดไหลย้อนที่อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องอืดได้ด้วย อีกทั้งยาซูคราลเฟตเป็นยาที่สามารถใช้ในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตรได้

5. ยายับยั้งการหลั่งกรด 

ยายับยั้งการหลั่งกรดเป็นยารักษาโรคกรดไหลย้อนที่อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องอืด โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอมไซม์ที่ทำหน้าที่หลั่งกรดในกระเพาะอาหาร หรือออกฤทธิ์ต้านตัวรับฮีสตามีนชนิด H2 ตัวอย่างยายับยั้งการหลั่งกรด เช่น ยาโอเมพราโซล (Omeprazole) ในกลุ่มยายับยั้งโปรตอนปั้ม (Proton Pump Inhibitors: PPI) หรือยาไซเมทิดีน (Cimetidine) ในกลุ่มยา H2-Receptor Antagonists 

ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ท้องอืด

ก่อนใช้ยาแก้ท้องอืด ควรศึกษาข้อควรระวังและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพ ดังนี้

  • การใช้ยาแก้ท้องอืดควรใช้ยาตามคำแนะนำบนฉลากหรือคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  • ยาแก้ท้องอืดบางชนิดอาจไม่เหมาะกับเด็กเล็ก ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคตับ โรคไต และภาวะความดันโลหิตสูง จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา 
  • การใช้ยาแก้ท้องอืดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงทั่วไปที่ไม่รุนแรง เช่น ยาลดกรดอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน หรือยาซูคราลเฟตอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ แต่หากมีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรงควรไปพบแพทย์
  • ยาบางชนิดอาจไม่สามารถใช้ร่วมกับยาแก้ท้องอืดได้ เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาของยาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ยาไซเมทิโคนไม่ควรใช้ร่วมกับยาเลโวไทรอกซิน (Levothyroxine)
  • ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่กำลังใช้ยาลดกรด เพราะอาจทำให้อาการท้องอืดและอาการกรดไหลย้อนแย่ลง รวมถึงอาจเกิดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นด้วย
  • ยาแก้ท้องอืดชนิดเคี้ยวแล้วกลืนบางยี่ห้ออาจมีการผสมน้ำตาล ดังนั้น ผู้ที่ต้องการควบคุมปริมาณน้ำตาลในร่างกายจึงควรศึกษาส่วนประกอบของตัวยาก่อนใช้ และเลือกใช้ยาสูตรที่ไม่มีน้ำตาลแทน
  • การรับประทานยาชนิดเคี้ยวแล้วกลืน ควรเคี้ยวตัวยาให้ละเอียดก่อนกลืน เพื่อให้ตัวยาสามารถออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
  • การรับประทานยาชนิดยาน้ำแขวนตะกอน ควรเขย่าขวดก่อนรับประทาน และไม่ควรใช้ช้อนโต๊ะหรือช้อนชาในการตวงยาแทนช้อนตวงยา เพราะอาจทำให้ได้ปริมาณยามากกว่าหรือน้อยกว่าที่กำหนด

นอกจากการใช้ยาแก้ท้องอืดแล้ว คุณอาจรับมือกับอาการท้องอืดง่าย ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และเน้นรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติก เช่น โยเกิร์ต ชาหมัก ผักดอง หรือกิมจิ เพื่อช่วยเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร ทั้งนี้ หากมีอาการรุนแรงเกิดขึ้น เช่น คลื่นไส้และอาเจียนต่อเนื่อง ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก และถ่ายเป็นเลือด ควรไปพบแพทย์