รู้จักยาเลิกบุหรี่ และวิธีใช้ยาอย่างปลอดภัย

การเลิกบุหรี่อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับบางคน การใช้ยาเลิกบุหรี่จึงเป็นตัวช่วยที่เพิ่มโอกาสในการเลิกบุหรี่ได้สำเร็จมากขึ้น นอกจากนี้ การเลิกสูบบุหรี่ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงทั้งต่อคุณและคนที่คุณรักด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด โรคถุงลงโป่งพอง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

ปัจจุบันมียาที่ช่วยลดการอยากบุหรี่ได้อยู่หลายชนิด โดยแต่ละประเภทก็มีวิธีใช้และข้อจำกัดแตกต่างกันไป บทความนี้จะอธิบายยาเลิกบุหรี่แต่ละประเภทและควรรู้ก่อนใช้ยาเลิกบุหรี่ เพื่อช่วยให้ผู้ตั้งใจจะเลิกสูบบุหรี่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างถูกวิธี และปลอดภัยต่อสุขภาพของตัวคุณและคนที่คุณรัก

รู้จักยาเลิกบุหรี่ และวิธีใช้ยาอย่างปลอดภัย

ประเภทของยาเลิกบุหรี่

ยาที่ช่วยเลิกบุหรี่แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ

1. สารนิโคตินทดแทน (Nicotine Replacement Therapy: NRT)

สารนิโคตินทดแทนจะให้สารนิโคตินแก่ร่างกายแทนสารนิโคตินที่เคยได้รับจากการสูบบุหรี่ แต่จะให้ในปริมาณที่ต่ำกว่า และช่วยให้ร่างกายไม่ได้รับสารพิษเหมือนกับการสูบบุหรี่ จึงช่วยลดอาการอยากสูบบุหรี่ลดลงได้ สารนิโคตินทดแทนนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ แต่ประเทศไทยจะมีเฉพาะรูปแบบแผ่นแปะนิโคติน และหมากฝรั่งนิโคติน

แผ่นแปะนิโคติน

แผ่นแปะนิโคตินมีลักษณะคล้ายพลาสเตอร์ปิดแผล ออกฤทธิ์ปล่อยสารนิโคตินให้ซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังช้า ๆ ในปริมาณคงที่ จึงช่วยบรรเทาอาการอยากนิโคตินหรืออาการถอนยาจากการหยุดสูบบุหรี่ได้ 

ก่อนใช้แผ่นแปะนิโคตินควรล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง จากนั้นแปะลงบนผิวหนังช่วงระหว่างคอถึงสะโพก เช่น คอ หน้าอก ต้นแขน โดยให้หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีขนหรือมีบาดแผล และกดแผ่นแปะไว้ประมาณ 10 วินาที เพื่อให้ติดบนผิวหนังแน่น แผ่นแปะนิโคติน 1 แผ่น สามารถออกฤทธิ์ได้นาน 24 ชั่วโมง จึงควรแปะไว้ตลอดเวลารวมถึงเวลาอาบน้ำและเวลานอน และเมื่อครบ 24 ชั่วโมงจึงเปลี่ยนแผ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการทาแป้งหรือครีมบำรุงผิวบริเวณผิวหนังที่ต้องการแปะ เพราะอาจทำให้แผ่นแปะนิโคตินติดกับผิวหนังได้ไม่แน่นพอ และควรเปลี่ยนตำแหน่งที่แปะทุกวันเพื่อป้องกันการระคายเคืองบริเวณผิวหนัง

หมากฝรั่งนิโคติน

หมากฝรั่งนิโคตินมีลักษณะเหมือนหมากฝรั่งทั่วไป เมื่อกัดหรือเคี้ยวหมากฝรั่ง สารนิโคตินจะถูกปล่อยออกมาแล้วถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุช่องปาก จึงช่วยควบคุมอาการอยากนิโคตินอย่างฉับพลัน หรืออาการถอนยาจากการหยุดสูบบุหรี่ได้ 

โดยวิธีการเคี้ยวหมากฝรั่งนิโคตินจะต่างกับการเคี้ยวหมากฝรั่งปกติเล็กน้อยคือ ต้องเคี้ยวหมากฝรั่งช้า ๆ จนมีรสเผ็ดซ่าออกมา จากนั้นให้หยุดเคี้ยวและนำหมากฝรั่งไปพักไว้ที่กระพุ้งแก้มข้างใดข้างหนึ่งจนกว่ารสเผ็ดซ่าจะหายไป เมื่อรสเผ็ดซ่าหายไปแล้วให้เคี้ยวหมากฝรั่งใหม่ และทำซ้ำแบบเดิมประมาณ 30 นาที โดยสามารถเคี้ยวได้ทุก 1–2 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกินวันละ 24 ชิ้น 

ทั้งนี้ หมากฝรั่งนิโคตินจะมีความเหนียวกว่าหมากฝรั่งทั่วไป จึงไม่เหมาะกับผู้ที่ติดเครื่องมือทันตกรรมอย่างเหล็กดัดฟัน สะพานฟัน หรือฟันปลอม รวมถึงผู้ที่เป็นโรคข้อต่อขากรรไกรด้วย

2. ยากลุ่มที่ไม่มีส่วนผสมของสารนิโคติน

ยากลุ่มที่ไม่มีส่วนผสมของสารนิโคตินจะเป็นยาเม็ดรับประทานที่สั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ได้แก่ ยาบูโพรพิออน (Bupropion)  และยาวาเรนนิคลีน (Varenicline) ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทหรือออกฤทธิ์ขัดขวางตัวรับสารนิโคตินในสมอง ทำให้อาการอยากนิโคตินหรืออาการถอนยาจากการหยุดสูบบุหรี่ลดลง โดยแพทย์มักจะแนะนำให้เริ่มใช้ยาก่อนเลิกสูบบุหรี่ 1 สัปดาห์

นอกจากนี้ มีการศึกษาพบว่าการใช้ยาบูโพรพิออนร่วมกับสารนิโคตินทดแทนอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเลิกบุหรี่ได้มากยิ่งขึ้น แต่การใช้ยาวาเรนนิคลีนร่วมกับสารนิโคตินทดแทนยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่มากเพียงพอว่าใช้ได้ผลหรือเป็นประโยชน์ต่อการเลิกบุหรี่ในระยะยาว 

ข้อควรระวังในการใช้ยาเลิกบุหรี่ 

ก่อนใช้ยาเลิกบุหรี่แต่ละประเภท ควรปรึกษาแพทย์และศึกษาเงื่อนไขการใช้ยาก่อนเสมอ เพื่อป้องกันผลเสียที่อาจเกิดตามมา โดยข้อควรระวังในการใช้ยาเลิกบุหรี่มีดังนี้ 

สารนิโคตินทดแทน

สารนิโคตินทดแทนสามารถใช้ได้ในคนที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป และหากกำลังตั้งครรภ์ อยู่ในช่วงให้นมบุตร หรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคตับ โรคไต และโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้สารนิโคตินทดแทน

นอกจากนี้ การใช้แผ่นแปะนิโคตินอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง มีผื่นขึ้น หรือเกิดอาการคัน จึงควรเปลี่ยนตำแหน่งที่แปะทุกวันเพื่อป้องกันการระคายเคือง รวมถึงอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น นอนหลับยาก หรือฝันติดตาด้วย ส่วนการใช้หมากฝรั่งนิโคตินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ระคายเคืองในช่องปาก เจ็บกราม แสบร้อนกลางอก สะอึก และคลื่นไส้

ยากลุ่มที่ไม่มีส่วนผสมของสารนิโคติน

การใช้ยาเลิกบุหรี่ประเภทที่ไม่มีส่วนผสมของสารนิโคติน ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยยาประเภทนี้ไม่สามารถใช้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้ที่ตั้งครรภ์ และผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลยืนยันมากเพียงพอว่าสามารถใช้ยาได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีข้อควรระวังในการใช้ยาอื่น ๆ ได้แก่

  • ยาบูโพรพิออนไม่สามารถใช้ได้ในผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น อาการชัก ความผิดปกติเกี่ยวกับการกิน ภาวะไตวาย โรคไบโพลาร์ โรคซึมเศร้า และมีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์หนัก
  • การใช้ยาบูโพรพิออนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง มีปัญหาการนอนหลับ อารมณ์แปรปรวน รู้สึกหดหู่ มีความคิดหรือความพยายามที่จะฆ่าตัวตาย
  • การใช้ยาวาเรนนิคลีนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ ง่วงนอน มีปัญหาในการนอนหลับ ท้องผูก คลื่นไส้ มีภาวะซึมเศร้า และมีความคิดหรือความพยายามที่จะฆ่าตัวตาย

นอกจากการใช้ยาเลิกบุหรี่แล้ว ผู้ที่อยากจะเลิกบุหรี่ควรหากิจกรรมอื่น ๆ ทำร่วมด้วย  ไม่ว่าจะเป็นทำงานอดิเรก เล่นกีฬา ทำความสะอาดบ้าน หรือใช้เวลากับคนที่คุณรัก เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากบุหรี่ และสิ่งที่สำคัญก่อนทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ใด ๆ ก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง เพื่อป้องกันผลเสียต่อสุขภาพตามมา