รู้จักความแตกต่างระหว่างอาการไซนัสอักเสบและไข้หวัด

เชื่อว่าใครหลายคนคงอาจรู้สึกสับสนในการแยกความแตกต่างระหว่างอาการไข้หวัด (Common Cold) และอาการไซนัสอักเสบ (Sinusitis) เนื่องจากอาการที่มีความคล้ายคลึงกัน ทั้งอาการไอ คัดจมูก หรือปวดศีรษะ แต่ความเป็นจริงแล้วระหว่างไข้หวัดและไซนัสอักเสบยังมีปัจจัยอื่นที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ป่วยสามารถสังเกตตัวเองได้ง่ายขึ้น เช่น ลักษณะอาการบางอย่าง ระยะเวลาการเกิดอาการ เป็นต้น

ไซนัสอักเสบเป็นภาวะที่ไซนัสหรือเยื่อบุโพรงอากาศข้างจมูกเกิดการอักเสบ โดยมักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ อย่างเชื้อแบคทีเรียและไวรัส หรืออาจเกิดตามหลังอาการภูมิแพ้หรือโรคไข้หวัด ส่วนโรคไข้หวัดมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสได้หลายชนิด แต่ชนิดที่พบได้บ่อยคือเชื้อไรโนไวรัส (Rhinoviruses) 

อย่างไรก็ตาม แม้อาการจากไซนัสอักเสบและไข้หวัดจะคล้ายคลึงกันและไม่รุนแรง โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการไอ คัดจมูก มีเสมหะในคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หรือมีไข้ แต่ไซนัสอักเสบเป็นภาวะที่ควรได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

รู้จักความแตกต่างระหว่างอาการไซนัสอักเสบและไข้หวัด

ความแตกต่างของอาการไซนัสอักเสบและไข้หวัด

แม้ว่าลักษณะอาการของโรคไข้หวัดและไซนัสอักเสบจะมีความคล้ายคลึงกันอย่างที่กล่าวไปในข้างต้น แต่ผู้ที่มีภาวะไซนัสอักเสบมักพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหรือกดเจ็บบริเวณใบหน้า ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น น้ำมูกไหลลงคอ และอาจมีอาการปวดฟันในบางราย เป็นต้น

นอกจากนี้ ความแตกต่างระหว่างไซนัสอักเสบและไข้หวัดยังอาจสังเกตได้จากสีของเสมหะ โดยผู้ที่เป็นภาวะไซนัสอักเสบมักมีเสมะหะลักษณะสีเหลืองหรือสีเขียว ในขณะที่ผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดจะพบเสมหะในลักษณะสีใส รวมถึงอาจสังเกตจากระยะเวลาการเกิดอาการ โดยอาการไซนัสอักเสบมักมีแนวโน้มเกิดนานตั้งแต่ 10 วันขึ้นไป ส่วนอาการจากโรคไข้หวัดมักอยู่เพียงประมาณ 3–5 วัน และค่อย ๆ ดีขึ้นในเวลาต่อมา

ทำอย่างไรเมื่อเกิดอาการไซนัสอักเสบหรือป่วยด้วยไข้หวัด

โดยทั่วไป อาการต่าง ๆ ที่เกิดจากทั้งภาวะไซนัสอักเสบและโรคไข้หวัดอาจค่อย ๆ ดีขึ้นได้เอง หรือสามารถบรรเทาความรุนแรงของอาการได้ในเบื้องต้นด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ในกรณีที่มีไข้ให้รับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อลดไข้ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่ฉลากยาหรือเภสัชกรกำหนด เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากยา

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากพบความผิดปกติบางอย่าง เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม เช่น

  • อาการเกิดขึ้นนานเกิน 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะอาการหายใจมีเสียง หายใจไม่อิ่ม หรือเหนื่อยง่าย เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะผิดปกติที่ร้ายแรง อย่างภาวะปอดบวม (Pneumonia)
  • พบอาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะไซนัสอักเสบขั้นรุนแรง เช่น อุณหภูมิของร่างกายสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง มองเห็นภาพซ้อน รู้สึกตึงบริเวณลำคอ มีความรู้สึกสับสน มึนงง พบรอยบวมแดงบริเวณแก้มและรอบดวงตา เป็นต้น
  • ผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กแล้วมีไข้สูง ตัวร้อน รับประทานอาหารได้ลดลง ซึมหรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป

เนื่องจากภาวะไซนัสอักเสบและโรคไข้หวัดมีสาเหตุและวิธีรักษาที่ต่างกัน แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน ผู้ที่มีอาการในข้างต้นจึงไม่ควรรับประทานยาปฏิชีวนะหากยังไม่ได้รับการวินิจฉัยแน่ชัดจากแพทย์ เนื่องจากยาปฏิชีวนะเป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย แต่โรคไข้หวัดมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และภาวะไซนัสอักเสบอาจเกิดได้จากปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การติดเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกัน อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันผลข้างเคียงบางอย่างจากการใช้ยา

ทั้งนี้ การลดความเสี่ยงการเกิดอาการไซนัสอักเสบและไข้หวัดในเบื้องต้นทำได้โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด โดยเฉพาะในสถานที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ในกรณีผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ให้ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์และหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้เสมอ