ริดสีดวงตา (Trachoma)

ความหมาย ริดสีดวงตา (Trachoma)

ริดสีดวงตา (Trachoma) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณดวงตา ผู้ป่วยจะมีอาการคันและเคืองบริเวณดวงตาหรือเปลือกตาเป็นอาการเริ่มต้น และอาจมีเปลือกตาบวมหรือหนองไหลออกจากตาตามมา 

ริดสีดวงตาเป็นโรคติดต่อที่พบได้มากในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมไม่ถูกสุขลักษณะหรือมีการใช้น้ำที่ไม่สะอาด หากเกิดการติดเชื้อไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือทำให้สูญเสียการมองเห็น และการเข้ารับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคต

ริดสีดวงตา

อาการของริดสีดวงตา 

ริดสีดวงตามักเกิดขึ้นกับตาทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยมักแสดงอาการในช่วง 5–12 วันหลังการติดเชื้อ เช่น คันหรือระคายเคืองบริเวณดวงตาและเปลือกตา มีเมือกหรือหนองไหลออกมาจากดวงตา เปลือกตาบวม ตาแพ้แสง ตามัวหรือเจ็บตา เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจติดเชื้อตั้งแต่เด็กและความรุนแรงของอาการจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ โดยอาการของริดสีดวงตาสามารถแบ่งเป็น 5 ระยะ คือ

  1. รูขุมขนอักเสบเนื่องจากการติดเชื้อบริเวณรูขุมขน โดยเกิดจุดเล็ก ๆ ประกอบไปด้วยเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์บริเวณเยื่อบุตา ซึ่งสามารถเห็นได้ด้วย การขยายภาพ 
  2. เกิดการอักเสบอย่างมาก เป็นระยะที่ตาของผู้ป่วยเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดอาการเคืองตา ผิวเปลือกตาบนหนาและบวม
  3. เกิดรอยแผลเป็นบริเวณเปลือกตาด้านในจากการติดเชื้อซ้ำ มีลักษณะเป็นเส้นสีขาวโดยเห็นได้จากการขยายภาพ และอาจกลายเป็นภาวะหนังตาม้วนเข้าด้านใน (Entropion) 
  4. ขนตาคุดเนื่องจากแผลบริเวณเปลือกตาด้านในบิดเบี้ยว ทำให้ขนตาม้วนกลับเข้าไปด้านในและขีดข่วนกระจกตา 
  5. กระจกตาขุ่นเนื่องจากการอักเสบใต้เปลือกตาด้านบน ซึ่งเป็นการอักเสบอย่างต่อเนื่องเพราะการข่วนของขนตา

อาการที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงบริเวณเปลือกตาบนมากกว่าเปลือกตาล่าง และอาจเกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อต่อมหล่อลื่นอย่างต่อมน้ำตาได้เช่นกัน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตาแห้งอย่างรุนแรงและอาการผิดปกติบริเวณดวงตาอาจรุนแรงขึ้น 

หากผู้ที่อาศัยหรือท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคริดสีดวงตา ตนเองหรือลูกหลานมีอาการคัน เคืองตาหรือมีของเหลวไหลออกจากตา ควรไปพบแพทย์ เพราะการได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 

สาเหตุของริดสีดวงตา 

ริดสีดวงตามีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียชนิดย่อยจากเชื้อคลาไมเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) ที่เป็นสาเหตุของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งจากลำคอ จมูกหรือดวงตาของผู้ที่ติดเชื้อ สัมผัสกับมือ เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หรือของใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย อีกทั้งแมลงวันบางชนิดก็อาจเป็นพาหะของการติดเชื้อได้ 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคริดสีดวงตา ได้แก่

  • ความยากจน เนื่องจากโรคริดสีดวงตาเป็นโรคที่พบได้มากในประเทศกำลังพัฒนาหรือให้กลุ่มประชากรที่ยากจน
  • สภาพความเป็นอยู่ที่แออัด มีสุขอนามัยที่ไม่เหมาะสมหรือขาดสุขอนามัยที่ดี เช่น การใช้น้ำไม่สะอาด การไม่ล้างหน้าเป็นประจำ เป็นต้น
  • เด็กที่มีอายุ 4–6 ปี
  • เพศหญิง
  • อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีแมลงวันชุกชุม
  • ไม่มีห้องน้ำส่วนตัว หรือใช้ห้องน้ำส่วนรวม

การวินิจฉัยริดสีดวงตา 

แพทย์จะวินิจฉัยริดสีดวงตาด้วยการตรวจร่างกาย การตรวจตาเพื่อหารอยแผลเป็นด้านในเปลือกตาด้านบน ตาแดง ขนตาคุดหรือเส้นเลือดใหม่ที่เกิดขึ้นบริเวณกระจกตา และการส่งตัวอย่างเชื้อแบคทีเรียบริเวณดวงตาไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ

การรักษาริดสีดวงตา 

โรคริดสีดวงตาสามารถรักษาได้ด้วยวิธีดังนี้

การรักษาโดยการใช้ยา

แพทย์จะรักษาผู้ป่วยระยะเริ่มต้นด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียว อย่างยาตาเตตราไซคลีน (Tetracyclines) หรือยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ซึ่งการรักษาตั้งแต่มีอาการในระยะเริ่มต้นจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้ 

การรักษาโดยการผ่าตัด

ผู้ที่เปลือกตามีความผิดปกติและรู้สึกเจ็บอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยแพทย์จะผ่าตัดรอยแผลเป็นบริเวณเปลือกตาเพื่อปรับให้ขนตาไม่ข่วนกระจกตา ซึ่งการผ่าตัดจะช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็นในอนาคตให้แก่ผู้ป่วย 

ในบางกรณีแพทย์อาจรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ อาทิ การกำจัดเปลือกตาที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือการปลูกถ่ายกระจกตาหากผู้ป่วยมีกระจกตาขุ่นมัวจนส่งผลต่อการมองเห็น แต่วิธีเหล่านี้อาจไม่สามารถรักษาโรคริดสีดวงตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจกลับมาติดเชื้อซ้ำได้อีกหากไม่รักษาความสะอาดหรือไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ ภายหลังการรักษาจึงจำเป็นต้องรักษาความสะอาดของร่างกายโดยเฉพาะบริเวณใบหน้าและมือ และรักษาความสะอาดสภาพแวดล้อมในพื้นที่ของตนเองร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของริดสีดวงตา 

หากผู้ป่วยมีอาการของโรคริดสีดวงตาซ้ำ ๆ อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างการเกิดรอยแผลเป็นบริเวณเปลือกตาด้านในหรือกระจกตา เกิดบาดแผลบริเวณกระจกตา เปลือกตาผิดรูป ตาขุ่นมัว สูญเสียการมองเห็นบางส่วนหรือทั้งหมดได้

การป้องกันริดสีดวงตา 

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคริดสีดวงตา การป้องกันโรคที่ดีคือ การรักษาความสะอาดดวงตาของตนเองอย่างถูกวิธีและการรักษาสภาพแวดล้อมให้ถูกตามสุขลักษณะ เช่น ล้างมือและล้างหน้าอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมจำนวนแมลงวันในพื้นที่ กำจัดของเสียด้วยวิธีที่เหมาะสม เพิ่มการเข้าถึงน้ำสะอาดเพื่อให้สามารถมีสุขลักษณะที่ดี เป็นต้น