ตาแพ้แสง

ความหมาย ตาแพ้แสง

ตาแพ้แสง คือ อาการรู้สึกไม่สบายตา หรือระคายเคืองดวงตาเมื่อต้องสัมผัสแสงต่าง ๆ เช่น แสงแดด แสงจากหลอดไฟ หรือแสงจากเปลวไฟ เป็นต้น โดยทั่วไปตาแพ้แสงเป็นอาการที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการได้โดยสวมแว่นกันแดด แต่หากตาแพ้แสงอย่างรุนแรงก็อาจต้องไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะแสงอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดดวงตาอย่างมาก

ตาแพ้แสง

อาการของตาแพ้แสง

ตาแพ้แสงสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และอาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ มาก่อน ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแตกต่างกันไป และบางรายอาจมีอาการตาแพ้แสงร่วมกับอาการอื่น ๆ ด้วย

โดยอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีตาแพ้แสง ได้แก่

  • รู้สึกไม่สบายตา ระคายเคืองดวงตา
  • ต้องหรี่ตาหรือหลับตาเมื่อสัมผัสแสง
  • แสบตา
  • ตาแดง
  • มีน้ำตาไหลออกมามาก
  • มีสารคัดหลั่งสีเขียวหรือสีเหลืองไหลออกจากดวงตา

ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงของตาแพ้แสง และอาการที่ปรากฏร่วมกับตาแพ้แสงนั้นไม่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง โดยอาจแตกต่างกันไปตามโรค ภาวะ หรืออาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของตาแพ้แสง

สาเหตุของตาแพ้แสง

อาการตาแพ้แสงเป็นเพียง 1 ในอาการของภาวะเจ็บป่วยหรือโรคต่าง ๆ เท่านั้น ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับเซลล์ในดวงตาที่ตรวจจับแสง และเส้นประสาทตาที่ส่งต่อไปยังสมอง โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากโรคไมเกรน ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการตาแพ้แสงร่วมกับอาการปวดหัว และในบางครั้งก็อาจเกี่ยวข้องกับอาการปวดหัวแบบเป็นชุด ๆ หรือที่เรียกว่า ปวดหัวคลัสเตอร์ ด้วยเช่นกัน

ส่วนอาการเจ็บป่วยหรือภาวะอื่น ๆ ที่อาจทำให้ตาแพ้แสงได้ มีดังนี้

โรคหรืออาการเจ็บป่วยทางสมอง เช่น

  • การได้รับบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง
  • เนื้องอกในต่อมใต้สมอง
  • ก้านสมองเสื่อม
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

โรคหรืออาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับดวงตา เช่น

  • ตาแห้ง
  • ม่านตา กระจกตา เยื่อตา หรือตาขาวอักเสบ
  • กระจกตาเสียหาย หรือกระจกตาถลอก

นอกจากนี้ อาการตาแพ้แสงอาจเกิดได้จากการรักษาปัญหาสายตาด้วยเลสิก ปัญหาสุขภาพจิต หรือแม้แต่การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาเสพติดบางอย่าง ยาฟูโรซีไมด์ ยาควินิน ยาด็อกซีไซคลิน ยาเตตราไซคลีน หรือยาหยอดขยายม่านตา เป็นต้น

การวินิจฉัยตาแพ้แสง

ในเบื้องต้น แพทย์อาจถามถึงอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การมีสารคัดหลั่งออกจากดวงตา มีไข้ หรืออาการเจ็บป่วยที่อาจเป็นสาเหตุของตาแพ้แสง เป็นต้น จากนั้นอาจมีการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น

  • การวัดสายตา เพื่อตรวจการมองเห็นของดวงตาทั้ง 2 ข้าง
  • การตรวจฟิล์มน้ำตา เพื่อตรวจปริมาณน้ำตาว่าตาแห้งเกินไปหรือไม่
  • การตรวจตาด้วยเครื่อง Slit-Lamp หรือกล้องจุลทรรศน์สำหรับตรวจตาชนิดลำแสงแคบ โดยตรวจการอักเสบหรือการบาดเจ็บในตา ซึ่งแพทย์อาจหยดสีย้อมชนิดพิเศษลงบนดวงตา เพื่อดูความเสียหายจุดอื่น ๆ บนผิวตาด้วย
  • การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) หรือการสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยสร้างรายละเอียดภาพของดวงตาขึ้นมาเพื่อประกอบการวินิจฉัย

การรักษาตาแพ้แสง

โดยทั่วไป ตาแพ้แสงที่ไม่รุนแรงมากอาจบรรเทาอาการได้ด้วยการดูแลตนเองในเบื้องต้น โดยปิดไฟหรือปิดม่านเพื่อทำให้ห้องหรืออาคารที่อยู่มืดลง หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรงหรือแสงไฟในอาคารที่สว่างจ้าเกินไป ถ้าดวงตาต้องโดนแสงก็อาจหลับตาหรือใส่แว่นตากันแดด

อย่างไรก็ตาม หากอาการตาแพ้แสงรุนแรงมากขึ้นจนทำให้รู้สึกเจ็บปวดดวงตาอย่างมากเมื่อเจอแสงในรูปแบบต่าง ๆ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม โดยวิธีที่อาจใช้รักษาอาการตาแพ้แสง มีดังนี้

  • น้ำตาเทียม หยอดน้ำตาเทียมเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา และรักษาอาการตาแห้งที่ไม่รุนแรง
  • การใช้ยา ยาที่ใช้รักษามีหลายชนิด ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ตาแพ้แสงด้วย เช่น ใช้ยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส หรือยาต้านเชื้อรา เมื่อเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา เป็นต้น โดยปกติแพทย์จะให้ใช้ยาหยอดตาก่อน แต่หากอาการรุนแรงก็อาจให้ใช้ยาชนิดรับประทาน และผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาสเตียรอยด์เพิ่มตามดุลยพินิจของแพทย์ในกรณีที่เกิดอาการบวมร่วมด้วย

การป้องกันตาแพ้แสง

ตาแพ้แสงเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยบางสาเหตุอาจป้องกันได้ยาก เช่น โรคไมเกรน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาการตาแพ้แสงจากบางสาเหตุสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • หลับตาลงสักชั่วขณะหนึ่ง
  • รักษาโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุของตาแพ้แสงตั้งแต่เริ่มต้น เช่น อาการตาแห้ง หรือเยื่อตาอักเสบ เป็นต้น
  • สวมหมวกปีกกว้าง หรือแม้จะอยู่ใต้ร่มเงาก็ควรใส่แว่นกันแดดที่มีเลนส์โพลาไรซ์ (Polarized) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยกรองแสงและลดแสงจ้าเมื่ออยู่ในที่แจ้ง
  • หรี่ไฟ ปิดไฟในอาคาร หรือปิดม่านเมื่อมีแสงจากด้านนอกส่องเข้ามามากเกินไป
  • รับประทานวิตามินและอาหารที่มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ
  • ไม่ควรสวมคอนแทคเลนส์ เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้รู้สึกไม่สบายตาได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตา เพราะเครื่องสำอางอาจทำให้ระคายเคืองดวงตาได้