รักษาสิวเสี้ยนอย่างไรให้ถูกต้อง

สิวเสี้ยน เป็นปัญหาผิวหนังที่อาจส่งผลให้ผิวไม่เรียบเนียน และก่อให้เกิดความรำคาญ แต่หากรู้จักวิธีรักษาและการป้องกันที่ถูกต้อง จะช่วยลดปัญหาสิวเสี้ยนหรือสิวชนิดอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิวเสี้ยน

สิวเสี้ยน คือความผิดปกติของรูขุมขนที่ทำให้เกิดสิวที่มีลักษณะคล้ายสิวอุดตันหัวดำ แต่ต่างกันตรงที่สิวเสี้ยนนั้นมีขนอ่อน ๆ กระจุกอยู่ภายในสิวรวมกับไขมันหรือเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว มักจะเกิดขึ้นที่จมูกเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังอาจพบได้ที่บริเวณหนังศีรษะ หน้าอก หลัง หรือที่อื่น ๆ สิวเสี้ยนเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้ชาย และผู้หญิง มักจะพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก

สิวเสี้ยนเกิดจากอะไร ?

สิวเสี้ยนเกิดขึ้นจากความผิดปกติของต่อมรูขนส่งผลให้รูขุมขนมีขนอ่อน ๆ ขึ้นมากผิดปกติ ไม่สามารถหลุดร่วงไปตามกาลเวลาได้ และเมื่อรวมตัวกับไขมันที่ถูกผลิตออกมาและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วจึงทำให้เกิดเป็นสิวที่มีลักษณะคล้ายสิวอุดตันหัวดำ โดยสิวชนิดนี้อาจก่อให้เกิดการอักเสบหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ทั้งนี้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการอุดตันของสิวเสี้ยน ได้แก่

  • การทำงานที่มากผิดปกติของฮอร์โมนเพศชายภายในผิวหนัง
  • ปริมาณกรดไขมันไลโนเลอิก (Linoleic Acid) ที่อยู่ในซีบัมซึ่งอยู่บนผิวหนังชั้นนอกลดลง ทำให้ผิวหนังได้รับการปกป้องลดลง
  • ระบบภูมิคุ้มกันสร้างสารไซโทไคน์ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ (Proinflammatory Cytokines)
  • เชื้แบคทีเรียพีแอคเน่ (Propionibacterium Acne: P. Acnes) ก่อให้เกิดสิวสร้างกรดไขมันอิสระมากเกินไป
  • ภาวะที่ร่างกายมีน้ำเกินก่อนมีประจำเดือน ทำให้ง่ายต่อการอับชื้น
  • สัมผัสกับสารเคมี เช่น ผลิตภัณฑ์แต่งผม สารเคมีไอพีเอ็ม (Isopropyl Myristate: IPM) สารโพรพิลีนไกลคอล (Propylene Glycol) และผลิตภัณฑ์ย้อมสีบางชนิดที่กระตุ้นการก่อให้เกิดสิว
  • ภาวะรูขุมขนถูกทำลายเนื่องจากผิวหนังเกิดการบาดเจ็บ เช่น การบีบสิว การล้างหน้าที่ไม่อ่อนโยน การใช้สารเคมี หรือการทำเลเซอร์ผิวหนัง
  • สูบบุหรี่
  • การรับประทานอาหารที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดสิว เช่น อาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เป็นต้น

ความเชื่อเกี่ยวกับสิวเหล่านี้ จริงหรือไม่ ?

ยังมีหลายคนที่เชื่อว่าสิวเสี้ยนนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ๆ นอกเหนือจากการไม่รักษาความสะอาด แต่ความเชื่อเหล่านั้นมีทั้งที่เป็นจริงและไม่เป็นจริงเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

  • รับประทานช็อกโกแลตทำให้เกิดสิว อาหารถือเป็นส่วนประกอบเล็ก ๆ ของปัจจัยที่ทำให้เกิดสิว ทั้งนี้ยังไม่มีงานวิจัยยืนยันว่าการรับประทานช็อกโกแลตทำให้เกิดสิวพบเพียงว่า การรับประทานอาหารที่ทำจากนมหรือมีคาร์โบไฮเดรตอาจกระตุ้นให้เกิดสิวได้ ซึ่งยังต้องศึกษาหาผลที่แน่ชัดต่อไป
  • ล้างหน้าบ่อย ๆ จะช่วยลดสิวได้ การล้างหน้าบ่อย ๆ จะส่งผลให้ผิวหนังระคายเคืองง่าย และการขัดหรือทำความสะอาดหน้ามากเกินความจำเป็นจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดสิว ดังนั้นจึงควรล้างหน้าเพียงวันละ 2 ครั้งด้วยสบู่อ่อน ๆ และหลังจากล้างหน้าเสร็จควรเช็ดด้วยผ้าสะอาดเพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรีย
  • การบีบสิวช่วยป้องกันสิวได้ การบีบสิวจะยิ่งทำให้เชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในสิวแพร่กระจายไปทั่วผิวหนังและก่อให้เกิดสิวได้มากขึ้น อีกทั้งอาจทำให้เกิดแผลเป็นที่ผิวหนังได้
  • ยิ่งแต่งหน้า ยิ่งทำให้เกิดสิว การแต่งหน้าไม่ทำให้เกิดสิวเสมอไป เพราะหากเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนประกอบของสารก่อสิว หรือเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผิวหน้า ก็จะไม่ทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนจนเกิดสิวได้ นอกจากนี้ ควรล้างเครื่องสำอางให้สะอาดทุกครั้งก่อนเข้านอน และหมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์แต่งหน้าอย่างสม่ำเสมอ

สิ้วเสี้ยน รักษาอย่างไรให้ได้ผล

ในบางกรณี สิวเสี้ยนไม่จำเป็นต้องรักษาโดยแพทย์ เพราะรักษาให้หายเองได้  เช่น เกิดจากเครื่องสำอาง การอุดตันของขน รักษาได้ด้วยการถอนขนอ่อนเหล่านั้นออก หรือใช้ที่ปิดรักษาสิวอุดตันก็ช่วยได้ แต่ทั้งนี้ในระหว่างการรักษาจะต้องดูแลรักษาความสะอาดผิวหนังบริเวณที่เกิดสิวให้สะอาดมากเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ โดยควรดูแลตัวเองดังนี้

  • เลือกเครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันเพื่อไม่ให้เกิดการอุดตัน
  • ล้างหน้าวันละ 2 ครั้งด้วยสบู่อ่อน ๆ และน้ำเปล่า
  • งดสูบบุหรี่
  • ลดการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน หรือผลิตภัณฑ์จากนมลง

ทั้งนี้หากต้องการให้สิวเสี้ยนหายเร็วก็รักษาได้ด้วยยา ยาส่วนใหญ่ที่ใช้มักจะเป็นยาทา ซึ่งต้องทาอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง และอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าอาการจะเริ่มดีขึ้น ยาทาสิวที่ใช้ได้ผลมักมีส่วนประกอบของ

  • บนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ใช้ในการรักษาสิวชนิดที่ไม่รุนแรง และสามารถใช้ในสตรีมีครรภ์ได้ แต่มีผลข้างเคียงคือทำให้ผิวแห้ง เกิดอาการระคายเคือง หรืออาจมีอาการแพ้ นอกจากนี้ ยังอาจเปื้อนเสื้อผ้าได้อีกด้วย
  • กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) เป็นยาที่ใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะหรือยาอื่น ๆ ในการรักษาได้ แต่มีผลข้างเคียงคือ ทำให้เกิดอาการบวมแดง ผิวหนังลอก มีอาการคัน หรือแสบร้อนบริเวณที่ใช้ยาได้
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ซัลเฟอร์ (Sulfur) และรีซอร์ซินอล (Resorcinol) ใช้ในการรักษาโรคผิวหนังหลายชนิด รวมทั้งอาการสิว การใช้ยานี้ต้องระมัดระวังผลข้างเคียง ได้แก่ ผิวหนังระคายเคืองอย่างรุนแรง ผิวหนังบริเวณที่ใช้ยามีลักษณะแดงมากผิดสังเกต หากสัมผัสจะรู้สึกอุ่น ๆ และถ้าใช้ในปริมาณมากอาจทำให้ได้รับยาเกินขนาดจนเป็นอันตราย
  • กรดไกลโคลิค (Glycolic Acid) เป็นยาที่ใช้รักษาสิว และฟื้นฟูสภาพผิว หากใช้ติดต่อกันนาน ๆ อาจส่งผลเสียต่อผิวหนังชั้นลึกได้ อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง เนื่องจากยาตัวนี้มีลักษณะเป็นกรด
  • สารประกอบเรตินอยด์ (Retinoids) เป็นยารักษาสิวที่มักอยู่ในรูปของยาทา หาซื้อได้ง่ายแต่ต้องระมัดระวังผลข้างเคียง เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง และเกิดอาการบวมแดง และตุ่มน้ำ

สำหรับผู้ที่เป็นสิวเรื้อรังไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา แพทย์อาจแนะนำให้ใช้การรักษาสิวเสี้ยน ด้วยเลเซอร์ โดยของเลเซอร์ที่ใช้จะเป็นชนิดลองเพาซ์อเลคซานไดซ์ (Long Pulsed Alexandrite Laser) ที่มีความยาว 755 นาโนเมตร ซึ่งใช้รักษาผิวหน้าโดยเฉพาะ วิธีนี้จะช่วยกำจัดสิวเสี้ยนให้หมดไปได้

วิธีป้องกันสิวเสี้ยน

ในเบื้องต้นนั้น สิวเสี้ยนป้องกันได้ด้วยวิธีง่าย ๆ คือ ดูแลรักษาความสะอาดใบหน้าให้สะอาดอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่น ๆ ได้แก่

  • ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งด้วยสบู่อ่อน ๆ
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยยับยั้งความมันของใบหน้าเพื่อป้องกันสิว
  • เลือกเครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำมัน เพื่อป้องกันเครื่องสำอางอุดตันรูขุมขนบนใบหน้า
  • ล้างเครื่องสำอางทุกครั้งก่อนเข้านอน
  • หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสกับใบหน้าโดยไม่ได้ล้างมือ
  • ใช้ผลิตภัณฑ์แต่งผมที่มีส่วนผสมของน้ำเป็นหลัก (Water-Based) และหลีกเลี่ยงการให้ผมปรกหน้าเพื่อป้องกันการอุดตันของรูขุมขนที่มาจากผลิตภัณฑ์แต่งผม

ทั้งนี้ หากยังมีสิวเสี้ยนขึ้นบนใบหน้า หรือมีอาการรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง เพื่อหาสาเหตุของการเกิดสิวเสี้ยน และรับการรักษาที่ตรงจุดและเหมาะกับสภาพผิวของแต่ละคน

สิวเสี้ยนไม่ใช่ปัญหาที่ต้องกังวลหากรู้จักวิธีรักษาและป้องกันอย่างถูกต้อง แต่ถ้าปล่อยทิ้งโดยไม่ได้รับการเยียวยาก็อาจทำให้สิวเสี้ยนนั้นกลายเป็นสิวอักเสบ ส่งผลเสียต่อผิวหน้าได้