ยี่หร่า เครื่องเทศหลากสรรพคุณ กับผลต่อสุขภาพ

ยี่หร่าเป็นเครื่องเทศที่ถูกนำมาปรุงอาหารให้มีรสชาติเผ็ดร้อน หลายคนเชื่อว่ายี่หร่าเป็นสมุนไพรที่ดีต่อสุขภาพและอาจมีสรรพคุณทางการรักษาโรคด้วย เนื่องจากยี่หร่าอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก และยังเป็นแหล่งของสารต้านอนุุมูลอิสระอย่างฟีนอล ฟลาโวนอยด์ และเทอร์พีน เป็นต้น บางพื้นที่จึงนำเมล็ดยี่หร่าไปปรุงยาด้วยความเชื่อที่ว่ายี่หร่าอาจรักษาโรคและอาการบางชนิดได้ เช่น ท้องเสีย ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดบีบบริเวณลำไส้ ลดระดับไขมันคอเลสเตอรอล ลดน้ำหนัก หรือแม้แต่ช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศด้วย

ยี่หร่า

สมมติฐานบางแง่มุมของยี่หร่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ จึงถูกนำมาศึกษาทดลองด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยจริงได้ในอนาคต ดังต่อไปนี้

ลดระดับไขมันและลดน้ำหนัก

ภาวะน้ำหนักเกินและภาวะอ้วนเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงเผชิญโรคและการเจ็บป่วยต่าง ๆ ตามมามากมาย หลายคนจึงพยายามลดน้ำหนักด้วยวิธีต่าง ๆ รวมทั้งการเลือกรับประทานอาหารด้วย

ยี่หร่าเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่คนเชื่อว่าอาจนำมาบริโภคเพื่อช่วยลดน้ำหนักตัวได้ โดยมีงานวิจัยหนึ่งพบว่า การรับประทานผงสกัดจากยี่หร่าร่วมกับโยเกิร์ตวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี เพิ่มไขมันคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี และลดน้ำหนักตัวของผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและภาวะอ้วนได้

อย่างไรก็ตาม อีกงานวิจัยหนึ่งที่ทดลองในผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับกลับพบว่า หลังบริโภคสารสกัดจากยี่หร่าในรูปแบบแคปซูลยาทุกวันเป็นเวลา 6 เดือน ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังไม่มีการยืนยันว่าการบริโภคยี่หร่าแบบเป็นเครื่องเทศในอาหารจะมีประสิทธิภาพในด้านนี้ได้แต่อย่างใด จึงควรค้นคว้าทดลองเพื่อให้ได้ผลที่แน่ชัดต่อไป ก่อนนำผลลัพธ์ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์

รักษาและป้องกันอาการในระบบย่อยอาหาร

ยี่หร่าประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่เชื่อว่าอาจส่งผลดีต่อระบบย่อยอาหาร โดยมีงานวิจัยบางส่วนพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากยี่หร่าช่วยเพิ่มการย่อยโปรตีน ซึ่งช่วยลดอาการป่วยจากกลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) โรคนี้ทำให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง ไม่สบายท้อง มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ท้องผูก ท้องเสีย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยี่หร่ายังถูกใช้เป็นสมุนไพรประกอบการรักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อในวัฒนธรรมของชาวเปอร์เซียด้วย แต่ยี่หร่าเป็นเพียง 1 ในหลากหลายสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้เท่านั้น จึงไม่อาจประเมินประสิทธิผลที่แน่ชัดได้

แม้งานวิจัยหลายชิ้นได้ชี้ถึงคุณประโยชน์ของยี่หร่าที่มีต่อระบบย่อยอาหาร แต่บางงานก็เป็นเพียงงานทดลองขนาดเล็ก และมีผลลัพธ์ทางการทดลองที่ไม่ชัดเจน ดังนั้น จึงควรมีการค้นคว้าที่ชัดเจนในด้านนี้ต่อไปในอนาคต

ต้านอนุมูลอิสระ

สารอนุมูลอิสระมีส่วนสำคัญในกระบวนการทำงานภายในเซลล์ แต่หากมีสารชนิดนี้มากเกินไปก็อาจเสี่ยงเกิดโรคหรืออันตรายต่อร่างกายได้ เช่น ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคมะเร็ง เป็นต้น

ผลการค้นคว้าพบว่า ยี่หร่าประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ฟีนอล ฟลาโวนอยด์ และเทอร์พีน จึงเชื่อว่ายี่หร่าอาจมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดโรคจากสารอนุมูลอิสระที่ทำลายเซลล์ได้ โดยเฉพาะน้ำมันหอมระเหยจากยี่หร่าที่ถูกนำมาศึกษาแล้วพบว่ามีประสิทธิภาพในการต้านสารอนุมูลอิสระสูง

แม้สารในยี่หร่ามีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ แต่ประสิทธิผลของพืชแต่ละชนิดที่นำมาใช้ในเชิงการรักษารวมทั้งยี่หร่า อาจแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น สิ่งแวดล้อม พื้นที่ ฤดูกาล และสภาพอากาศบริเวณที่เพาะปลูก ตลอดจนขั้นตอนและลักษณะในการสกัดเป็นยา ดังนั้น จึงควรค้นคว้าหาข้อมูลให้ละเอียดชัดเจนก่อนใช้ยี่หร่า และผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลด้านความปลอดภัยให้ถี่ถ้วนก่อนรับประทานหรือใช้สารสกัดใด ๆ จากยี่หร่าเสมอ

ข้อมูลความปลอดภัยในการบริโภคยี่หร่า

ยี่หร่าอาจขึ้นชื่อด้านสรรพคุณการรักษาในบางพื้นที่ แต่การแพทย์ปัจจุบันยังคงไม่ยืนยันประสิทธิผลที่ชัดเจนของยี่หร่าในการรักษาหรือป้องกันโรคใด ๆ และยังไม่มีข้อมูลด้านปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภค ผู้บริโภคหรือผู้ป่วยโรคต่าง ๆ จึงควรระมัดระวังด้านความปลอดภัยในการบริโภคยี่หร่า รวมถึงอาหารหรือสมุนไพรใด ๆ จนกว่าจะมีหลักฐานและข้อพิสูจน์ที่ปรากฏเป็นที่ชัดเจน โดยปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคยี่หร่าของแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ สุขภาพ และปัญหาการเจ็บป่วย

เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคยี่หร่า ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

ผู้บริโภคทั่วไป

  • รับประทานยี่หร่าในปริมาณพอดีที่ได้จากอาหารตามปกติ
  • หากรับประทานยี่หร่าในรูปแบบยาหรืออาหารเสริม ควรปฏิบัติตามฉลากยาและคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเมื่อมีข้อสงสัย และไม่บริโภคเกินปริมาณที่กำหนด
  • แม้ยังไม่ทราบผลข้างเคียงที่แน่ชัดของการบริโภคยี่หร่า แต่มีหลักฐานจากการทดลองพบว่ายี่หร่าอาจมีผลต่อระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ซึ่งอาจทำให้เพศชายเสี่ยงเผชิญภาวะมีบุตรยาก

ผู้บริโภคที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่ชัดเจน แต่เคยมีรายงานว่าสารจากยี่หร่าอาจเป็นเหตุให้แท้งบุตรได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคยี่หร่าจนกว่าจะพ้นจากภาวะเหล่านี้
  • ผู้ป่วยเบาหวาน ยี่หร่าอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไปได้ หากบริโภคยี่หร่า ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ในระดับปลอดภัยเสมอ และหมั่นสังเกตสัญญาณอาการป่วยต่าง ๆ เพื่อให้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีหากมีเหตุอันตรายเกิดขึ้น
  • ผู้ป่วยภาวะเลือดออกผิดปกติ ยี่หร่าอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง ซึ่งอาจเสี่ยงทำให้อาการของผู้ป่วยภาวะนี้ทรุดหนักลงได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคยี่หร่า หรือปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากยี่หร่าอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง จึงควรงดบริโภคยี่หร่าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจากระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดต่ำลงทั้งในระหว่างและหลังการผ่าตัด