ยาแก้ท้องเสียมีอะไรบ้าง ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

แม้อาการท้องเสียมักหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรักษา แต่การใช้ยาแก้ท้องเสียก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยบรรเทาอาการกวนใจและทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ บทความนี้จึงอยากมาแนะนำว่าเราอาจเลือกใช้ยาแก้ท้องเสียตัวไหนได้บ้าง ยาแต่ละแบบมีคุณสมบัติอย่างไร และเรียนรู้วิธีใช้ยาเหล่านั้นอย่างเหมาะสมและปลอดภัยกัน

ท้องเสียเป็นอาการที่ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำบ่อยครั้งภายในวันเดียว ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง น้ำหนักตัวลดลง มีไข้ โดยมักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อหรือรับประทานอาหารบางชนิด 

ยาแก้ท้องเสียมีอะไรบ้าง ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

ในระหว่างที่มีอาการท้องเสีย ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำหรือเกลือแร่ชดเชยให้เพียงพอ ระมัดระวังในการรับประทานอาหารมากขึ้น หรืออาจซื้อยาแก้ท้องเสียที่จำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปมาใช้ก็ได้เช่นกัน 

ยาแก้ท้องเสียมีอะไรบ้าง

ยาที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาที่นำมาใช้บรรเทาอาการท้องเสียได้นั้นมีหลายชนิดด้วยกัน โดยผู้ป่วยควรปรึกษาเภสัชกร อ่านฉลากก่อนรับประทาน และใช้ยาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงให้ได้มากที่สุด โดยตัวอย่างยาที่ช่วยบรรเทาอาการท้องเสียมีดังนี้

ผงเกลือแร่ (Oral Rehydration Salts: ORS)

อาการท้องเสียมักส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ การจิบผงเกลือแร่ (Oral Rehydration Salts: ORS) บ่อย ๆ จะช่วยทดแทนน้ำและเกลือแร่อย่างโซเดียมและโพแทสเซียมที่เสียไป จึงช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำได้เป็นอย่างดี 

แต่ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียควรระมัดระวังในการเลือกดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ให้ถูกประเภท โดยไม่ควรดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย (Sport Drink) แทนผงเกลือแร่ ORS เพราะเครื่องดื่มดังกล่าวมักมีน้ำตาลสูงและมีปริมาณเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกายน้อยกว่า ซึ่งอาจส่งผลให้อาการท้องเสียแย่ลง 

ยาพาราเซตามอล

คนที่มีอาการปวดหรือรู้สึกไม่สบายตัวร่วมด้วยอาจรับประทานยาแก้ปวดอย่างยาพาราเซตามอลได้ แต่ปริมาณยาที่ควรใช้จะต่างกันไปขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้ป่วยแต่ละคน จึงควรอ่านฉลากก่อนใช้ยาเสมอ นอกจากนี้ ไม่ควรใช้ยาเกินวันละ 4,000 มิลลิกรัม และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 5 วัน เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะตับ

ถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal)

ถ่านกัมมันต์หรือยาคาร์บอนที่จำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดและยาแคปซูล มีคุณสมบัติช่วยดูดซับสารพิษบางชนิดซึ่งเป็นต้นตอของอาการท้องเสีย คลื่นไส้ หรืออาเจียน และช่วยขับยาหรือสารดังกล่าวออกจากร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการดีขึ้นได้ 

แต่เนื่องจากประสิทธิภาพของถ่านกัมมันต์ที่มีต่ออาการท้องเสียยังไม่ชัดเจน จึงควรรองานวิจัยในอนาคตเพิ่มเติม และให้เว้นระยะการรับประทานถ่านกัมมันต์ให้ห่างจากการรับประทานยาอื่นประมาณ 2 ชั่วโมง เพราะถ่านกัมมันต์อาจดูดซึมยาจนตัวยานั้นมีประสิทธิภาพลดลง

ยาไดออคตาฮีดรอล สเมกไทต์ (Dioctahedral Smectite)

ยานี้ผลิตมาจากดินธรรมชาติ จัดเป็นสารดูดซับสารพิษและยังช่วยเคลือบเยื่อบุในระบบทางเดินอาหาร จึงอาจช่วยบรรเทาอาการจากท้องเสียและภาวะขาดน้ำได้ 

ยามีจำหน่ายในรูปแบบยาผงและยาน้ำแขวนตะกอน เหมาะสำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป โดยควรใช้ยาในปริมาณที่กำหนดบนฉลาก รับประทานพร้อมมื้ออาหารหรือหลังมื้ออาหารทันที สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะลำไส้อุดตันควรแจ้งให้เภสัชกรทราบก่อนซื้อมาใช้  

ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต (Bismuth Subsalicylate)

บิสมัท ซับซาลิไซเลตเป็นยารูปแบบเม็ดและยาน้ำแขวนตะกอน ใช้สำหรับรักษาอาการท้องเสีย รวมไปถึงแสบร้อนกลางอก ท้องไส้ปั่นป่วน และอาหารไม่ย่อยในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยออกฤทธิ์ช่วยให้ถ่ายอุจจาระน้อยลง ต้านการอักเสบ และยังอาจช่วยฆ่าเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุของท้องเสียได้ด้วย 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรใช้ยาตามฉลากอย่างเคร่งครัด ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลตไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่อุจจาระเป็นสีดำหรือปนเลือด มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือแพ้สารซาลิไซเลต (Salicylates) อย่างยาแอสไพริน อีกทั้งยังห้ามใช้ยานี้ในเด็กและวัยรุ่นที่ป่วยเป็นไข้ ไข้หวัด และโรคอีสุกอีใส เพราะอาจก่อให้เกิดกลุ่มอาการราย (Reye's Syndrome) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต 

ยาไฮออสซีน บิวทิลโบรไมด์ (Hyoscine Butylbromide)

ตัวยาไฮออสซีน บิวทิลโบรไมด์ชนิดเม็ดจะช่วยลดอาการปวดเกร็งบริเวณช่องท้อง โดยจะช่วยคลายกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหารและทางเดินปัสสาวะ จึงอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัวยิ่งขึ้น 

โดยยานี้ใช้ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 6 ปี หากมีปัญหาสุขภาพ เช่น ต้อหิน ลำไส้โป่งพอง ปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาท หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้สูงอายุและสตรีมีครรภ์ ควรแจ้งให้เภสัชกรหรือแพทย์ทราบก่อนรับประทาน

นอกจากยาที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีตัวยาอีกหลายชนิดที่อาจนำมาใช้บรรเทาอาการท้องเสียได้ เช่น ยาโลเพอราไมด์ (Loperamide) หรือยาเกาลินและเพคติน (Kaolin and Pectin) ที่ใช้ในเด็ก หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยในการเลือกซื้อหรือรับประทานยาแก้ท้องเสียชนิดใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร 

อย่างไรก็ตาม หากดูแลตัวเองและใช้ยาที่หาซื้อได้เองแล้วอาการไม่ดีขึ้น พบผลข้างเคียงหลังการใช้ยาแก้ท้องเสีย หรือหากผู้ใหญ่ท้องเสียนานกว่า 2 วัน เด็กท้องเสียนานกว่า 24 ชั่วโมง เด็กไม่สามารถดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้ ร่างกายขาดน้ำ ปวดท้องหรือทวารหนักอย่างรุนแรง อุจจาระปนเลือดหรือเป็นสีดำ หรือมีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็ว