ยาสูดพ่นแบบ DPI และอุปกรณ์สูดพ่นสำหรับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ

ยาสูดพ่นแบบ DPI เป็นยาที่ใช้ระงับอาการของโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง อย่างโรคหืดหรือที่มักเรียกกันว่าโรคหอบ และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ซึ่งส่งผลให้หลอดลมหดตัวฉับพลันจนทำให้เกิดปัญหาด้านการหายใจ ในรายที่รุนแรงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตราย โดยยาสูดพ่นแบบ DPI ต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์พ่นยาเสมอ

การใช้ยาสูดพ่นสำหรับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรังมีจุดประสงค์ 2 อย่าง อย่างแรกใช้เพื่อระงับอาการของโรคที่มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลันแบบที่หลายคนเคยเห็น และอย่างที่สองใช้เป็นประจำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งเช้าและเย็น เพื่อควบคุมอาการ ด้วยเหตุนี้ การเลือกอุปกรณ์พ่นยาที่ใช้งานง่ายและออกแบบมาให้ผู้ป่วยได้รับยาตามโดสอาจช่วยให้ใช้งานได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งช่วยระงับและควบคุมอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยาสูดพ่นแบบ DPI และอุปกรณ์สูดพ่นสำหรับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ

ยาสูดพ่นแบบ DPI คืออะไร ?

ยาสูดพ่นแบบ DPI (Dry Powder Inhaler) เป็นตัวยาในรูปแบบยาสูดชนิดผงแห้ง มีทั้งรูปแบบแคปซูลสำหรับใช้กับอุปกรณ์พ่นยารูปแบบเฉพาะ และแบบที่บรรจุผงยามาในตัวอุปกรณ์พ่นยา โดยตัวยาสูดชนิดผงแห้งแบ่งออกเป็น 2 ตัวยาด้วยกัน ได้แก่

ยาขยายหลอดลม

ยาขยายหลอดลม (Bronchodilators) เป็นตัวยาที่ช่วยระงับอาการหลอดลมตีบแคบ ซึ่งเป็นอาการที่ส่งผลต่อการหายใจ ยาขยายหลอดลมมีทั้งชนิดออกฤทธิ์สั้นและออกฤทธิ์นาน โดยแพทย์จะสั่งจ่ายให้แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ยาแซลเมเทอรอล (Salmeterol) และยาอินดาคาเทอรอล (Indacaterol) เป็นต้น

ยาสเตียรอยด์

แพทย์อาจสั่งจ่ายยาสเตียรอยด์สำหรับสูดพ่นชนิดผงแห้งเพื่อต้านการอักเสบที่เกิดในผู้ป่วยบางราย โดยตัวยาสเตียรอยด์สำหรับระงับอาการโรคหอบและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เช่น ยาฟลูติคาโซน (Fluticasone) ยาเบโคลเมทาโซน (Beclomethasone) และยาบูเดโซไนด์ (Budesonide) เป็นต้น
ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจสั่งจ่ายยาสูดพ่นทั้งสองชนิดหรือสั่งจ่ายยาที่มีส่วนผสมของยาทั้งสองชนิด ซึ่งผู้ป่วยควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

รูปแบบอุปกรณ์พ่นยาแบบ DPI และวิธีใช้

ยาสูดพ่นแบบ DPI สามารถใช้กับอุปกรณ์พ่นยาได้ 2 รูปแบบด้วยกัน โดยอุปกรณ์แต่ละแบบมีวิธีใช้ที่ต่างกัน ดังนี้

1. อุปกรณ์พ่นยา DPI แบบพ่นครั้งเดียว

อุปกรณ์พ่นยา DPI แบบพ่นครั้งเดียว (Single-Unit DPI Inhaler Device) เป็นอุปกรณ์พ่นยาที่ใช้ร่วมกับแคปซูลยาสูดพ่นแบบ DPI โดยมีจุดเด่นตรงที่เป็นการใช้ยาทีละแคปซูลต่อการใช้หนึ่งครั้ง ซึ่งผู้ใช้สามารถเปิดตัวอุปกรณ์พ่นยาเพื่อตรวจดูแคปซูลยาและปริมาณยาที่เหลืออยู่ได้ จึงช่วยให้ผู้ใช้สังเกตได้ว่าสูดยาได้ครบตามโดสหรือไม่ อีกทั้งตัวยาที่ใช้จะบรรจุในแคปซูลจึงลดปัญหาเรื่องผงยาสัมผัสกับความชื้นที่มักทำให้สูดยาได้ไม่สะดวก

อุปกรณ์พ่นยา DPI แบบพ่นครั้งเดียวแบ่งออกได้หลายแบบ เช่น Aerolizer Breezhaler และ Handihaler เป็นต้น ในบทความนี้จะยกตัวอย่างวิธีใช้อุปกรณ์พ่นยาแบบ Aerolizer

Aerolizer แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักด้วยกัน ได้แก่ (1) ฝาปิด (2) ท่อพ่นยา ซึ่งติดอยู่กับส่วนฐานและสามารถเลื่อนออกเพื่อใส่แคปซูลยาสูดพ่น (3) ฐานที่มีช่องใส่แคปซูลยาสูดพ่น (4) ปุ่มกดจำนวน 2 ปุ่ม เพื่อใช้เจาะแคปซูล โดยตัวปุ่มจะอยู่ด้านข้างของฐานใส่แคปซูล

  • ขั้นแรกให้ดึงฝาของอุปกรณ์พ่นยาออก
  • เมื่อดึงฝาออกแล้วจะพบกับท่อพ่นยา จากนั้นให้เลื่อนเปิดส่วนของท่อพ่นยาออก
  • แกะแคปซูลยาออกจากห่อยาด้วยมือที่แห้ง นำแคปซูลยาวางไปในช่องแคปซูลที่อยู่ในส่วนฐาน (ส่วนที่สาม) และเลื่อนปิดท่อพ่นยาให้สนิทตามเดิม โดยจะมีเสียงคลิ๊กดังขึ้น
  • ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งกดปุ่มที่อยู่ด้านข้างจนได้ยินเสียงคลิ๊กแล้วปล่อยออก ควรกดปุ่มเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
  • ก่อนสูดยาพ่น ให้หายใจออกจนสุด โดยถือตัวอุปกรณ์พ่นให้ห่างจากทิศทางที่หายใจออก
  • ใช้ปากและริมฝีปากประกบกับท่อพ่นยาให้สนิท พร้อมสูดหายใจเข้าทางปากให้เร็ว แรง และลึก
  • ดึงตัวท่อพ่นยาออก ปิดปากพร้อมกลั้นหายใจ ค้างไว้ 5‒10 วินาที หรือนานที่สุดเท่าที่กลั้นได้ แล้วค่อย ๆ หายใจออกตามปกติ

ภายหลังสูดยาพ่นให้ตรวจปริมาณยาที่หลงเหลือในอุปกรณ์พ่นยา หากเลือกใช้ยาที่มีแคปซูลโปร่งแสงจะสามารถเห็นยาที่เหลืออยู่ได้ ในกรณีที่ยายังไม่หมด ให้ทำตามขั้นตอนการใช้ยาสูดพ่นอีกครั้ง แต่หากยาหมดแล้วให้เลื่อนเปิดท่อพ่นยาเพื่อนำแคปซูลยาออกจากอุปกรณ์และเลื่อนปิดกลับตามเดิม จากนั้นใช้กระดาษเช็ดทำความสะอาดท่อพ่นยาและปิดฝาอุปกรณ์พ่นยา

นอกจากนี้ หากผู้ใช้มีแรงสูดที่เพียงพอจะได้ยินเสียงการสั่นของแคปซูลยา จึงอาจคาดได้ว่าผู้ใช้สามารถสูดยาได้ในปริมาณเหมาะสมตามโดส 

2. อุปกรณ์พ่นยา DPI แบบพ่นหลายครั้ง

อุปกรณ์พ่นยา DPI แบบพ่นหลายครั้ง (Multi-Unit DPI Inhaler) มีหลายรูปแบบเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น Turbuhaler และ Accuhaler ซึ่งภายในตัวอุปกรณ์จะบรรจุยาสูดพ่นชนิดผงแห้งเอาไว้จำนวนหนึ่ง สามารถใช้งานได้หลายครั้ง โดยตัวอุปกรณ์จะมีกลไกในการกดหรือการหมุนตัวอุปกรณ์ เพื่อแบ่งยาสูดพ่นออกมาในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละครั้ง

อุปกรณ์พ่นยา DPI แบบพ่นหลายครั้งไม่ต้องเปลี่ยนแคปซูลยาสูดพ่นทุกครั้ง แต่ผู้ใช้ควรศึกษาวิธีอ่านตัวเลขและสัญลักษณ์ของจำนวนครั้งของปริมาณยาสูดพ่นที่เหลือ รวมทั้งวิธีเปิดผนึกของตัวยาสูดพ่นเมื่อใช้ครั้งแรก เพราะแต่ละอุปกรณ์มักไม่เหมือนกัน อย่าง Turbuhaler จำเป็นจะต้องหมุนเพื่อเปิดตัวเก็บยาภายในอุปกรณ์ในครั้งแรก หากเปิดไม่ถูกอาจทำให้ตัวยาสูดพ่นไม่ออกมาและไม่สามารถใช้งานได้

นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นการบรรจุยาสูดพ่นชนิดผงแห้งไว้เพื่อใช้หลายครั้ง หากนำอุปกรณ์ไปไว้ในที่ชื้นหรือเผลอหายใจเข้าไปในตัวอุปกรณ์อาจทำให้ผงยาชื้นและจับตัวเป็นก้อน ทำให้สูดพ่นยาได้ลำบากหรือเสี่ยงต่อการได้รับยาไม่ครบโดส

บทความนี้จะยกตัวอย่างวิธีใช้ Accuhaler ซึ่งเป็นอุปกรณ์พ่นยา DPI แบบพ่นหลายครั้งที่พบได้บ่อย ตัวอุปกรณ์ Accuhaler มีลักษณะกลมแบนขนาดเล็ก โดยมีวิธีใช้ดังนี้

  • ใช้นิ้ววางบนตัวเลื่อนหลัก (ช่องสำหรับวางนิ้ว) และเลื่อนไปด้านข้างให้สุดจนได้ยินเสียงคลิ๊กเพื่อเปิดอุปกรณ์
  • เมื่อเลื่อนจนสุดจะมีช่องพ่นยาและแถบเลื่อนรองสำหรับเปิดช่องปล่อยยาสูดพ่น จากนั้นให้ดันแถบเลื่อนรองไปด้านข้างจนสุดเพื่อเปิดช่องยาสูดพ่นและห้ามเลื่อนกลับ
  • ก่อนเริ่มใช้ยาสูดพ่นให้หายใจออกจนสุด โดยถืออุปกรณ์พ่นยาให้ห่างกับทิศทางที่หายใจ
  • นำอุปกรณ์มาประกบกับปากและริมฝีปากให้สนิทในแนวนอนให้ตรงกับช่องพ่นยา
  • สูดหายใจเข้าทางปากให้เร็ว แรง และลึก
  • จากนั้นนำอุปกรณ์พ่นยาออกจากปาก กลั้นหายใจค้างไว้ 5‒10 วินาที หรือนานที่สุดเท่าที่กลั้นได้ แล้วหายใจออกตามปกติ

หลังใช้ยาสูดพ่นเสร็จให้ใช้กระดาษเช็ดทำความสะอาดบริเวณช่องพ่นยา และเลื่อนแถบเลื่อนหลักกลับเพื่อปิดอุปกรณ์พ่นยา โดยไม่ต้องเลื่อนแถบเลื่อนรองคืน

เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการใช้ยาสูดพ่นและอุปกรณ์พ่นยา

ภายหลังจากการใช้ยาสูดพ่นทุกชนิด ควรบ้วนปากให้สะอาดเพื่อลดอาการปากแห้งจากการใช้ยาและลดความเสี่ยงของโรคเชื้อราในช่องปาก ผู้ที่ใช้ยาสูดพ่นและอุปกรณ์พ่นยาควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หมั่นเช็ดทำความสะอาดท่อพ่นยาทุกครั้งหลังใช้ โดยใช้กระดาษทิชชู่หรือผ้าแห้งเช็ดทำความสะอาด ห้ามใช้ผ้าเปียกเช็ดเด็ดขาด รวมทั้งเก็บอุปกรณ์พ่นยาไว้ในที่แห้งเพื่อป้องกันผงยาชื้นและจับตัวกันทำให้ใช้งานได้ยาก

นอกจากนี้ ผู้ใช้ควรหมั่นเช็กการใช้งานของอุปกรณ์ว่าสามารถใช้งานได้ปกติ และสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ หากใช้ยาสูดพ่นแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือเกิดอาการผิดปกติ ควรหยุดยาและไปพบแพทย์ โดยนำยาสูดพ่นที่ใช้ติดตัวไปด้วย

สุดท้ายนี้ การใช้ยาสูดพ่นและอุปกรณ์พ่นยาจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและการสั่งจ่ายโดยแพทย์ก่อนเท่านั้น ซึ่งการใช้ยาสูดพ่นตามที่แพทย์แนะนำร่วมกับการเลือกอุปกรณ์สูดพ่นยาที่ใช้งานง่าย สะดวก และมีประสิทธิภาพจะช่วยให้ร่างกายได้รับยาพ่นครบโดสและระงับอาการได้อย่างทันท่วงที

บางครั้งแพทย์อาจจ่ายยาสูดพ่นแบบ MDI (Metered Dose Inhaler) หรือแบบอื่น ๆ ให้กับผู้ป่วยบางราย ตัวผู้ป่วยเองควรใช้ตามแพทย์สั่งและเรียนรู้วิธีใช้อุปกรณ์พ่นยาอย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรักษามากที่สุด หากต้องการเปลี่ยนตัวยาหรืออุปกรณ์พ่นยาควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ