มือลอกเกิดจากอะไร ดูแลตัวเองอย่างไรให้อาการดีขึ้น

มือลอกเกิดจากการผลัดเซลล์ผิวชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ที่เป็นเซลล์ผิวชั้นนอกสุด ซึ่งเป็นกระบวนการของร่างกายในการซ่อมแซมผิวหลังจากได้รับความเสียหายเพื่อผิวให้กลับมาเป็นปกติ เช่น การสัมผัสสารเคมีที่ทำให้ผิวระคายเคือง สภาพอากาศ โรคผิวหนัง และโรคประจำตัวอื่น ๆ 

อาการมือลอกมักดีขึ้นหลังจากดูแลผิวด้วยตัวเอง แต่กรณีที่เกิดจากโรคหรือความผิดปกติในร่างกายอาจต้องใช้ยาในการรักษา การไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างถูกต้องจะช่วยให้รักษาได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

มือลอกเกิดจากอะไร ดูแลตัวเองอย่างไรให้อาการดีขึ้น

มือลอกเกิดจากอะไร

สาเหตุของอาการมือลอกอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น

สภาพอากาศ

ลม แสงแดด และอุณหภูมิล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้มือลอกได้ โดยคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศแห้งจะมีโอกาสมือแห้งและลอกเป็นขุยได้มากกว่าพื้นที่ที่มีอากาศชื้น รวมถึงการโดนแสงแดดจัดเป็นเวลานานอาจทำให้ผิวบริเวณหลังมือแดง มีอาการแสบร้อนผิว และผิวบริเวณนั้นอาจลอกเป็นขุยหลังจากถูกแสงแดดจัดเป็นเวลา 2–3 วัน

การล้างมือบ่อย

การล้างมือเป็นวิธีรักษาสุขอนามัยที่ดีเพื่อชะล้างสิ่งสกปรกและเชื้อโรคที่อาจเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดของโรคติดต่ออย่างโรคโควิด-19 แต่การล้างมือบ่อยเกินไป การใช้น้ำที่ร้อนเกินไปหรือใช้สบู่ที่มีสารเคมีรุนแรงต่อผิวหนังในการล้างมือ การเช็ดมือกับผ้าหรือกระดาษทิชชู่เนื้อหยาบ และการไม่ทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้นหลังการล้างมืออาจทำให้มือลอกได้ 

การสัมผัสสารเคมี

น้ำหอม สีสังเคราะห์ สารฆ่าเชื้อ และสารกันเสียที่ผสมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหลายชนิด เช่น แชมพู สบู่ โลชั่น และมอยส์เจอไรเซอร์ เป็นปัจจัยที่ทำให้หลายคนเกิดอาการมือลอก  

นอกจากนี้ อาการมือลอกอาจเกิดขึ้นกับคนที่ประกอบอาชีพที่สัมผัสสารเคมีที่มีฤทธิ์รุนแรงต่อผิวเป็นประจำ เช่น พนักงานทำความสะอาด และพนักงานโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งอาจเกิดอาการมือลอกหลังสัมผัสสารเคมีที่ผสมในสารทำความสะอาด สารทำละลาย และกาว 

โรคผิวหนัง

คนที่มีผิวแห้งหรือมีโรคผิวหนังอาจทำให้เกิดอาการมือลอก เช่น

  • โรคผื่นแพ้สัมผัส (Allergic Contact Dermatitis) เป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายหลังจากสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือสารก่อการระคายเคือง เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม แชมพู สบู่ น้ำยาย้อมผม และเครื่องประดับที่ทำจากนิกเกิล ซึ่งอาจทำให้ผิวแดง มีตุ่มหรือผื่นขึ้นที่มือ และมือลอก
  • โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เกิดจากผิวหนังที่ไวต่อสภาพแวดล้อม เช่น สภาพอากาศ เชื้อโรค และสารเคมีที่ระคายเคืองผิว ทำให้คัน มีตุ่มแดงนูน และตุ่มน้ำใส ซึ่งเมื่อแตกออกจะกลายเป็นสะเก็ดแข็ง หากเป็นเรื้อรังจะทำให้ผิวเป็นแผ่นหนาและลอกเป็นขุย 
  • โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เซลล์ผิวแบ่งตัวเร็วขึ้น ส่งผลให้เกิดผื่นแดงหนาและมีขุยสีขาว
  • ภาวะผิวหนังอักเสบจนเกิดการหลุดลอก (Exfoliative Keratolysis) เป็นโรคที่ทำให้ฝ่ามือลอกโดยไม่ทราบสาเหตุ บางคนอาจมีอาการฝ่าเท้าลอกด้วย และหากใช้สบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ทำให้เกิดระคายเคืองอาจกระตุ้นให้มือลอกมากขึ้น
  • อาการบวมน้ำ (Edema) คืออาการบวมที่เกิดจากของเหลวสะสมตามอวัยวะบางส่วนของร่างกาย เช่น มือ แขน และเท้า ซึ่งอาจเกิดจากโรคประจำตัวเรื้อรัง การใช้ยา และการตั้งครรภ์ โดยอาการผิวลอกอาจเกิดขึ้นหลังอาการบวมน้ำจากสาเหตุเหล่านี้ทุเลาลง

โรคอื่น ๆ

มือลอกอาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา เช่น แผลพุพอง โรคกลาก และไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) รวมถึงโรคอื่น ๆ เช่น โรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) ที่เกิดจากการอักเสบของผนังหลอดเลือดแดงในร่างกาย และโรคทางพันธุกรรมอย่าง Acral Peeling Skin 

คำแนะนำในการดูแลอาการมือลอก

การรักษาอาการมือลอกจะแตกต่างกันตามสาเหตุ ในเบื้องต้นสามารถดูแลผิวด้วยตัวเองตามวิธีเหล่านี้

  • ไม่ควรอาบน้ำและล้างมือด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นหรือร้อนจัด และทาครีมให้ความให้ความชุ่มชื้นทุกครั้งหลังอาบน้ำและล้างมือ 
  • เลือกใช้สบู่ แชมพู โลชั่น และครีมทาผิวที่อ่อนโยน ไม่มีน้ำหอม สีสังเคราะห์ และสารกันเสีย
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีฤทธิ์รุนแรง หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมถุงมือเพื่อป้องกันผิวหนังที่ต้องสัมผัสกับสารที่อาจทำให้มือลอก
  • หากผิวไหม้แดดควรประคบเย็นที่มือเพื่อบรรเทาอาการแสบร้อนผิว ทาเจลว่านหางจระเข้หรือครีมเพิ่มความชุ่มชื้นที่ผิวหลังอาบน้ำ กรณีที่เกิดตุ่มน้ำพองที่ผิวไม่ควรบีบหรือแกะตุ่มน้ำเพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ และควรเลี่ยงการออกแดดจนกว่าผิวจะหายดี
  • ในห้องที่มีอากาศแห้งควรใช้เครื่องทำความชื้นเพื่อให้อากาศชุ่มชื้นขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการมือลอกโดยไม่ทราบสาเหตุ อาการรุนแรงขึ้น หรือมือลอกร่วมกับอาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น ผิวแดง รู้สึกเจ็บปวดบริเวณมือ มีตุ่มหนองที่มือ และมีไข้ ควรไปพบแพทย์ เพราะอาการมือลอกอาจเกิดจากโรคผิวหนังหรือโรคอื่นที่ต้องใช้ยารักษา เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ และยาฆ่าเชื้อรา