มาโพรทิลีน

มาโพรทิลีน

Maprotiline (มาโพรทิลีน) เป็นยาต้านเศร้าในกลุ่มเตตราไซคลิก (Tetracyclic Antidepressants: TeCAs) ที่ออกฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง ช่วยปรับให้อารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วยดีขึ้นได้ โดยนำมาใช้รักษาโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล นอกจากนี้ ยังอาจนำมาใช้รักษาอาการอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์อีกด้วย

Maprotiline

เกี่ยวกับยา Maprotiline

กลุ่มยา ยาต้านเศร้าในกลุ่มเตตราไซคลิก
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล
กลุ่มผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป

 

คำเตือนในการใช้ยา Maprotiline

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยมีประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีเลือดออก มีปัญหาเรื่องการหายใจ ปัญหาเรื่องตับและไต ภาวะหัวใจขาดเลือดที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ปัญหาการขับถ่ายปัสสาวะหรือไทรอยด์เป็นพิษ รวมถึงคนในครอบครัวมีประวัติเป็นต้อหินมุมปิด โรคไบโพลาร์ โรคจิต การฆ่าตัวตาย ชัก หรือภาวะที่เสี่ยงต่อการชักอีกด้วย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลงได้ เช่น ยาลีเนโซลิด ยาเมทิลีน บลู เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยเคยใช้ยาต้านเศร้าในกลุ่มเอ็มเอโอไอ เช่น ยาไอโซคาร์บอกซาซิด ยาฟีเนลซีน ยาทรานิลซัยโปรมีน หรือยารักษาโรคพาร์กินสันอย่างยาเซเลกิลีนหรือยาราซากิลีน เป็นต้น ในช่วง 14 วัน ก่อนหน้า เพราะยานี้อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงมาก
  • ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดใช้ยา หรือเปลี่ยนปริมาณการใช้ยาด้วยตัวเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • ผู้ป่วยสูงอายุอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะอาการ เช่น เวียนศีรษะขณะลุกขึ้นยืน ง่วงซึม ปากแห้ง สับสน ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก และกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของโรคหัวใจที่ตรวจพบ QT ยาวจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยยังเสี่ยงต่อการหกล้มเพิ่มขึ้นได้ หากมีอาการเวียนศีรษะ ง่วงซึม และสับสนเกิดขึ้น  
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้อาจมีอาการชักเกิดขึ้นได้ โดยมักพบในผู้ป่วยที่ไม่เคยเกิดการชักมาก่อน
  • แพทย์จะตรวจอาการของผู้ป่วยอยู่เสมอตั้งแต่เริ่มใช้ยาครั้งแรก เพราะผู้ป่วยบางรายอาจมีความคิดฆ่าตัวตายเมื่อใช้ยา ซึ่งครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และอาการอื่น ๆ ของผู้ป่วยอยู่เสมอ เช่น ซึมเศร้า ประหม่า กระสับกระส่าย อารมณ์เสีย เกิดอาการหวาดกลัว เป็นต้น
  • หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาด้วยการช็อคไฟฟ้า (ECT) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวหรือใช้สายตาในระหว่างการใช้ยา เพราะยาอาจส่งผลต่อผู้ป่วยได้
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะยานี้อาจทำให้ความสามารถในการตอบสนองลดลงได้
  • ควรลุกขึ้นจากท่านั่งหรือนอนอย่างช้า ๆ และระมัดระวังในการขึ้นลงบันไดขณะใช้ยา เพราะยาอาจทำให้ผู้ป่วยเวียนศีรษะได้
  • ควรอมลูกอมที่ปราศจากน้ำตาลหรืออมน้ำแข็ง เคี้ยวหมากฝรั่งที่ปราศจากน้ำตาล ดื่มน้ำให้มากขึ้น หรือใช้น้ำยาบ้วนปากขณะใช้ยา เพราะยาอาจทำให้ผู้ป่วยปากแห้งได้
  • หากผู้ป่วยมีอาการท้องผูกขณะใช้ยานี้ ควรรับประทานใยอาหารให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก ๆ และออกกำลังกาย และอาจปรึกษาแพทย์ในการเลือกใช้ยาระบาย
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากในระหว่างใช้ยานี้ จึงควรตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดและแจ้งให้แพทย์ทราบอยู่เสมอ โดยแพทย์อาจปรับยารักษาโรคเบาหวาน และให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย หรือควมคุมอาหารเพิ่มเติม
  • ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีผลเสียและความเสี่ยงต่อทารกก่อนการใช้ยานี้  
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อทารกก่อนการให้นมบุตร

ปริมาณการใช้ยา Maprotiline

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

โรคซึมเศร้า
ตัวอย่างการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า

ผู้ใหญ่ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง เริ่มรับประทานยาปริมาณ 75 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน หรือแบ่งรับประทานหลายครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หากจำเป็นให้ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาครั้งละ 25 มิลลิกรัม จนถึงปริมาณสูงสุดที่ผู้ป่วยสามารถรับได้ โดยปริมาณยาสูงสุดต้องไม่เกิน 150 มิลลิกรัม/วัน

ผู้ใหญ่ที่มีอาการรุนแรงที่รักษาตัวในโรงพยาบาล เริ่มรับประทานยาปริมาณ 100-150 มิลลิกรัม/วัน หากจำเป็นให้ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาจนถึงปริมาณสูงสุดที่ผู้ป่วยสามารถรับได้ โดยปริมาณยาสูงสุดต้องไม่เกิน 225 มิลลิกรัม/วัน

ผู้สูงอายุ เริ่มรับประทานยาปริมาณ 25 มิลลิกรัม/วัน อาจค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาเป็น 50-75 มิลลิกรัม/วัน ตามการตอบสนองต่อยา

การใช้ยา Maprotiline

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการรับประทาน
  • รับประทายานี้พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้
  • ใช้ยาให้ครบกำหนดตามที่แพทย์สั่ง แม้จะอาการจะดีขึ้นแล้ว
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ช่วงเวลาของยารอบถัดไปพอดี ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดหรือมีอาการหมดสติและหายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • ผู้ป่วยควรรับประทานยาเป็นประจำทุกวันเพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์สูงสุด โดยรับประทานยาในเวลาเดิมของแต่ละวันเพื่อช่วยป้องกันการลืม
  • ผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม และห้ามหยุดใช้ยานี้อย่างกะทันหันโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ หากต้องการหยุดใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกร หากหมดอายุให้ทิ้งยาทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Maprotiline

การใช้ยา Maprotiline อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เวียนศีรษะ รู้สึกประหม่าและตื่นเต้น ท้องผูก ปากแห้ง รู้สึกง่วงนอน มองเห็นเป็นภาพเบลอ และมีปัญหาในการปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งหากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือมีอาการแย่ลงก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที หากเกิดอาการรุนแรงที่อาจพบได้ยาก ดังต่อไปนี้

  • มีอาการแพ้ยา เช่น ผื่น ลมพิษ อาการคัน ผิวหนังบวมแดงหรือพอง ผิวลอกที่อาจมีไข้ร่วมด้วยหรือไม่มีไข้ร่วมด้วย มีเสียงหวีดขณะหายใจ แน่นหน้าอกหรือบริเวณลำคอ มีปัญหาเรื่องการหายใจ การกลืนหรือการพูด เสียงแหบผิดปกติ อาการบวมบริเวณปาก ริมฝีปาก ลิ้น คอและใบหน้า เป็นต้น
  • เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเกี่ยวกับดวงตา ซึ่งอาจพบได้ในผู้ป่วยบางราย อาจทำให้เกิดอาการ เช่น เจ็บตา ตาแดงหรือบวม ผิวบริเวณรอบดวงตาบวมหรือแดง การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น
  • มีกลุ่มอาการระยะคิวทียาวที่พบได้น้อยมาก อาจทำให้เกิดอาการ เช่น หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หมดสติ เป็นต้น
  • มีไข้
  • เจ็บคอ
  • ชัก

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากผู้ป่วยรายใดพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรรีบแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที