มะเร็งไทรอยด์

ความหมาย มะเร็งไทรอยด์

มะเร็งไทรอยด์ (Thyroid Cancer) เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในต่อมไทรอยด์ และพัฒนาเป็นก้อนมะเร็งขึ้นใต้ผิวหนังบริเวณกึ่งกลางลำคอ อาจพบก้อนเดียวหรือหลายก้อน โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเสียงแหบ หายใจหรือกลืนลำบาก และเจ็บที่ลำคอ หากรักษาและกำจัดเซลล์มะเร็งออกไม่หมด อาจเสี่ยงกลับมาเป็นซ้ำหรือมะเร็งอาจลุกลามไปสร้างความเสียหายให้ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้

มะเร็งไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายผีเสื้ออยู่บริเวณใต้ลูกกระเดือก ทำหน้าที่นำสารไอโอดีนจากอาหารที่รับประทานไปผลิตฮอร์โมนไทรอยด์และฮอร์โมนอื่น ๆ เพื่อช่วยในกระบวนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ และระบบการเผาผลาญในร่างกาย ซึ่งมะเร็งไทรอยด์อาจทำให้ต่อมไทรอยด์ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย

มะเร็งไทรอยด์อาจแบ่งตามลักษณะของเซลล์มะเร็งได้ดังนี้

  • มะเร็งไทรอยด์ชนิดพาพิลลารี่ (Papillary Thyroid Cancer) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยและมีความรุนแรงน้อยที่สุด เกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ (Follicular Cell) ซึ่งเซลล์มะเร็งจะมีลักษณะคล้ายเซลล์ปกติ เจริญเติบโตช้า เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่มักเกิดขึ้นกับหญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือผู้ที่มีอายุ 30-50 ปี
  • มะเร็งไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ (Follicular Thyroid Cancer) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยรองจากชนิดพาพิลลารี่ โดยเกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์เช่นเดียวกัน และมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • มะเร็งไทรอยด์ชนิดเมดัลลารี (Medullary Thyroid Cancer) ถือว่าเป็นโรคทางพันธุกรรมซึ่งเกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดซีเซลล์ (C Cell) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนแคลซิโทนิน (Calcitonin) และเมื่อตรวจพบระดับฮอร์โมนแคลซิโทนินในเลือดสูงขึ้น ก็อาจบ่งชี้ถึงมะเร็งไทรอยด์ชนิดนี้ในระยะแรกเริ่มได้
  • มะเร็งไทรอยด์ชนิดอะนาพลาสติก (Anaplastic Thyroid Cancer) เป็นชนิดที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยเซลล์มะเร็งชนิดนี้จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว รักษาได้ยาก และมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Lymphoma) เป็นอีกหนึ่งชนิดที่พบได้ยากและมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ โดยเกิดความผิดปกติขึ้นที่เซลล์ภูมิคุ้มกันในต่อมไทรอยด์ และเซลล์เนื้อร้ายมักเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

อาการของมะเร็งไทรอยด์

มะเร็งไทรอยด์ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา แต่เมื่อเซลล์มะเร็งเจริญเติบโตขึ้น ผู้ป่วยอาจคลำพบก้อนนูนใต้ผิวหนังบริเวณกึ่งกลางลำคอ ซึ่งอาจพบเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ และอาจพบอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • เสียงแหบลง เนื่องจากก้อนเนื้อมะเร็งโตขึ้นจนเบียดทับหรือลุกลามไปยังเส้นประสาทของกล่องเสียงที่ติดอยู่กับต่อมไทรอยด์ หรือไอบ่อยทั้งที่ไม่ได้เป็นหวัด
  • หายใจลำบากหรือหายใจมีเสียงหวีด เนื่องจากก้อนมะเร็งโตขึ้นจนเบียด กดทับ หรือลุกลามเข้าไปที่หลอดลม ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์
  • กลืนลำบาก หรือรู้สึกเจ็บขณะกลืน เนื่องจากก้อนเนื้อมะเร็งโตขึ้นจนเบียด กดทับ หรือลุกลามเข้าไปที่หลอดอาหาร ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์
  • เจ็บบริเวณลำคอ และปวดลามไปที่หูในบางครั้ง
  • ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอบวม

เนื่องจากอาการของมะเร็งไทรอยด์อาจคล้ายกับอาการของโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณลำคอด้วย ดังนั้น หากสำรวจพบว่ามีอาการตามที่กล่าวไปข้างต้นหรือสงสัยในอาการป่วยของตนเอง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

สาเหตุของมะเร็งไทรอยด์

มะเร็งไทรอยด์เป็นการกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรมในต่อมไทรอยด์ที่ทำให้เซลล์ต่าง ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ และทำให้เกิดก้อนเนื้อมะเร็งขึ้นในที่สุด ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่ามะเร็งไทรอยด์เกิดจากสาเหตุใด แต่มีหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งไทรอยด์ ได้แก่

  • อายุ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 25-65 ปี อาจมีแนวโน้มของการเกิดมะเร็งไทรอยด์ได้มากกว่าช่วงอายุอื่น
  • เพศ แม้มะเร็งไทรอยด์จะเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับเพศหญิงได้มากกว่าเพศชายถึง 3 เท่า
  • กรรมพันธุ์ โรคทางพันธุกรรมบางชนิดมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งไทรอยด์ รวมถึงผู้ที่มีญาติสายตรง อันได้แก่ พ่อ แม่ พี่ น้อง ที่เป็นมะเร็งไทรอยด์ ก็จะมีแนวโน้มของการเกิดโรคนี้เพิ่มขึ้น
  • โรคประจำตัว การเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งไทรอยด์ได้ เช่น โรคที่เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคอ้วน รวมถึงความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิด เป็นต้น
  • ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีไอโอดีนน้อยเกินไป นอกจากจะทำให้เกิดคอพอกหรือโรคเอ๋อแล้ว หากร่างกายมีระดับไอโอดีนต่ำอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งไทรอยด์ได้ด้วยเช่นกัน
  • การสัมผัสกับรังสี เช่น การฉายรังสีบริเวณศีรษะหรือลำคอเพื่อรักษาโรคในวัยเด็ก รวมถึงเคยประสบอุบัติเหตุเกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าหรืออาวุธนิวเคลียร์ อาจเพิ่มความเสี่ยงเผชิญโรคนี้ได้ ซึ่งความเสี่ยงจะขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับด้วย แต่ผู้ใหญ่ที่ได้รับรังสีจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งไทรอยด์ได้น้อยกว่าเด็ก

การวินิจฉัยมะเร็งไทรอยด์

แพทย์อาจสอบถามอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น เสียงแหบ ไอ หายใจลำบาก กลืนลำบาก หรือรู้สึกเจ็บบริเวณลำคอ และหากสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็งไทรอยด์ แพทย์จะวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

  • การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณลำคอว่ามีก้อนนูนเกิดขึ้นใต้ผิวหนังหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงกับต่อมไทรอยด์หรือไม่ นอกจากนี้ แพทย์อาจซักประวัติทางการแพทย์ โรคประจำตัว รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งไทรอยด์ และผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งไทรอยด์ โดยเฉพาะชนิดเมดัลลารีหรือเนื้องอกชนิดฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
  • การอัลตราซาวด์ โดยใช้คลื่นความถี่สูงตรวจหาก้อนเนื้อหรือก้อนน้ำบริเวณต่อมไทรอยด์ หรือบอกจำนวนและขนาดของก้อนเนื้อนั้น อีกทั้งยังช่วยวินิจฉัยในกรณีที่มะเร็งไทรอยด์กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ จนทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงมีขนาดโตขึ้นด้วย
  • การตรวจด้วยไอโอดีนรังสี โดยกลืนหรือฉีดสารไอโอดีนรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำแล้วใช้เครื่องสแกนวินิจฉัยว่าผู้ป่วยที่มีก้อนเกิดขึ้นที่ลำคอเป็นมะเร็งไทรอยด์หรือไม่ ซึ่งบริเวณที่สงสัยว่าอาจมีเซลล์มะเร็งจะมีการดูดซึมไอโอดีนรังสีน้อยกว่าเนื้อเยื่อในบริเวณใกล้เคียง และยังใช้ตรวจการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้อีกเช่นเดียวกัน
  • การสแกนทรวงอก เพื่อระบุตำแหน่ง บอกขนาด และตรวจการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจความเปลี่ยนแปลงทางเคมี (PET Scan) เป็นต้น
  • การทำไทรอยด์สแกน เป็นการตรวจภาพต่อมไทรอยด์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ที่ใช้วินิจฉัยเฉพาะผู้ป่วยบางราย โดยขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ และตรวจค่าฮอร์โมนหรือสารต่าง ๆ ที่บ่งชี้ว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งไทรอยด์ เช่น ฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (Thyroid-Stimulating Hormone: TSH) ฮอร์โมนไทรอยด์ไตรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine) ฮอร์โมนไทรอยด์ไทรอกซิน (Thyroxine) ฮอร์โมนแคลซิโทนิน (Calcitonin) หรือโปรตีนไทโรโกลบูลิน (Thyroglobulin) เป็นต้น
  • การตรวจชิ้นเนื้อ โดยตัดชิ้นเนื้อหรือใช้เข็มเจาะ (Fine Needle Aspiration: FNA) เพื่อนำเนื้อเยื่อหรือเซลล์บริเวณต่อมไทรอยด์ไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง
  • การตรวจกล่องเสียง เพื่อตรวจว่าเส้นเสียงยังทำงานเป็นปกติหรือไม่ เนื่องจากมะเร็งไทรอยด์อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของกล่องเสียงและเส้นเสียงได้

การรักษามะเร็งไทรอยด์

ผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์อาจได้รับการดูแลรักษาจากทีมแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจากสหวิชาชีพ เพื่อวางแผนวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับชนิดและระยะโรคของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งการรักษามะเร็งไทรอยด์อาจทำได้หลายวิธี ดังต่อไปนี้

การผ่าตัด ผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ส่วนใหญ่จะรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น

  • การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออก 1 ข้าง (Lobectomy) ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งขนาดเล็กและไม่พบสัญญาณของการแพร่กระจายเซลล์มะเร็ง ผู้ป่วยอาจไม่ต้องรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์หลังการผ่าตัด เนื่องจากต่อมไทรอยด์อีกข้างยังทำงานได้อยู่
  • การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (Thyroidectomy) ทั้งผ่าตัดนำต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด หรืออาจผ่าตัดนำต่อมไทรอยด์ออกไปเพียงบางส่วน โดยหลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ
  • การผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง มักใช้รักษาผู้ป่วยที่มะเร็งไทรอยด์แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ชนิดเมดัลลารีและอะนาพลาสติก

การรับประทานไอโอดีนรังสี เป็นการรับประทานสารกัมมันตรังสีซึ่งอยู่ในรูปแบบที่รับประทานง่าย โดยสารดังกล่าวจะเข้าไปรักษาโรคมะเร็งไทรอยด์ที่อาจหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัดทั้งภายในลำคอและเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง และยังใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ชนิดพาพิลลารี่และฟอลลิคูลาร์ที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะส่วนอื่น ๆ ด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลือง ปอด และกระดูก ซึ่งการรักษาด้วยไอโอดีนรังสีนั้น ผู้ป่วยอาจรับประทานเพียงครั้งเดียวหรือมากกว่า 1 ครั้ง ตามความรุนแรงของโรคและดุลยพินิจของแพทย์

การรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์ หลังการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกทั้ง 2 ข้างแล้ว ร่างกายอาจไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้ตามปกติ การรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์จะช่วยทดแทนฮอร์โมนที่ขาดหายไป ทำให้ระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานได้ตามปกติ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ในร่างกาย และยังช่วยป้องกันการกลับมาเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์ซ้ำได้อีกด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยควรรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์อย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์

การฉายรังสีจากภายนอกร่างกาย โดยใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง มักใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ชนิดเมดัลลารีและอะนาพลาสติกร่วมกับการรับประทานไอโอดีนรังสี และช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำหลังการผ่าตัด

การทำเคมีบำบัด เป็นการใช้ยาต้านมะเร็งหลายชนิด โดยให้ผู้ป่วยรับประทานยาหรือฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำหรือทางกล้ามเนื้อ จากนั้นยาจะเข้าสู่กระแสเลือดแล้วเข้าทำลายเซลล์มะเร็งที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว

การใช้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง เป็นยารักษามะเร็งไทรอยด์รูปแบบใหม่ ซึ่งจะแบ่งใช้ตามชนิดของมะเร็งไทรอยด์ ดังนี้

  • มะเร็งไทรอยด์ชนิดเมดัลลารี เช่น ยาแวนเดทานิบ หรือยาคาโบซานทินิบ ยาจะออกฤทธิ์เข้าทำลายเซลล์มะเร็งที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
  • มะเร็งไทรอยด์ชนิดพาพิลลารี่และฟอลลิคูลาร์ เช่น ยาโซลาเฟนิบ หรือยาเลนวาทินิบ ยาจะยับยั้งการสร้างหลอดเลือดและโปรตีนที่เซลล์มะเร็งใช้ในการเจริญเติบโตของเนื้องอก

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งไทรอยด์

แม้ผู้ป่วยจะผ่านการรักษาหรือผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกแล้ว แต่หากกำจัดเซลล์มะเร็งออกจากร่างกายไม่หมด หรือเกิดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองและบริเวณที่ใกล้เคียง ก็อาจเสี่ยงกลับมาเป็นมะเร็งไทรอยด์ซ้ำได้

นอกจากนี้ แม้การรักษามะเร็งไทรอยด์จะช่วยให้ผู้ป่วยหายจากมะเร็งหรือมีอาการทุเลาลงแล้ว การรักษาแต่ละวิธีก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน ดังนี้

  • การผ่าตัด เช่น มีเลือดออกมาก แผลผ่าตัดติดเชื้อ เกิดแผลเป็นขนาดเล็กที่ลำคอ เสียงแหบชั่วคราวหรือถาวร หรือต่อมพาราไทรอยด์อาจได้รับความเสียหายจนส่งผลให้ระดับแคลเซียมในเลือดลดต่ำลง ซึ่งเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อมีอาการชาหรือกล้ามเนื้อกระตุก
  • การรับประทานไอโอดีนรังสี เช่น มีอาการบวมที่คอและต่อมน้ำลาย คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง การรับรสเปลี่ยนไป ร่างกายสร้างน้ำตาลดลงจนทำให้ตาแห้ง หรือผู้ป่วยเพศชายบางรายอาจมีจำนวนอสุจิลดลง เป็นต้น
  • การรับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ยานี้ในระยะยาวอาจทำให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นหรือเต้นผิดปกติ และเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนด้วย
  • การฉายรังสีจากภายนอกร่างกาย เนื้อเยื่อที่มีสุขภาพดีในบริเวณใกล้เคียงอาจได้รับความเสียหายไปด้วย และผิวหนังของผู้ป่วยในบริเวณที่ได้รับการฉายรังสีอาจมีลักษณะคล้ายกับผิวไหม้แดด แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจกลืนอาหารลำบาก ปากแห้ง เสียงแหบ และรู้สึกเมื่อยล้าได้
  • การทำเคมีบำบัด เนื่องจากยาเคมีบำบัดจะเข้าทำลายเซลล์ที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว แต่นอกจากเซลล์มะเร็งแล้ว ไขกระดูก เยื่อบุที่ปาก เยื่อบุลำไส้ และรูขุมขนก็มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน บริเวณเหล่านั้นจึงอาจได้รับความเสียหายจากการทำเคมีบำบัดไปด้วย นอกจากนี้ ผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัดก็ขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้ด้วย ซึ่งอาการที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ ผมร่วง เป็นแผลในปาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย รู้สึกเมื่อยล้าเพราะเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำเกินไป ร่างกายติดเชื้อง่ายขึ้นเพราะเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำเกินไป หรือเกิดแผลฟกช้ำและมีเลือดออกง่ายเพราะเกล็ดเลือดต่ำเกินไป เป็นต้น
  • การใช้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง ผลข้างเคียงจะขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้ ซึ่งอาการที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ รู้สึกเมื่อยล้า มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง เบื่ออาหาร ท้องเสีย คลื่นไส้ ความดันโลหิตสูง หรือมีอาการมือและเท้าบวมแดง เป็นต้น

การป้องกันมะเร็งไทรอยด์

แม้โดยส่วนใหญ่แล้วยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามะเร็งไทรอยด์เกิดจากสาเหตุใด แต่อาจป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง โดยปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่มีไอโอดีนสูง เช่น นม ไข่ ธัญพืช กุ้ง ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน หรืออาหารที่ปรุงด้วยเกลือเสริมไอโอดีน เป็นต้น
  • ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี และแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น
  • ลดความเสี่ยงจากรังสี สำหรับผู้ที่ต้องอาศัยอยู่หรือทำงานใกล้กับรังสี ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลสุขภาพ รวมทั้งอาจรับประทานยาโพแทสเซียมไอโอไดด์ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งไทรอยด์
  • ปรึกษาแพทย์เพื่อผ่าตัดต่อมไทรอยด์ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งไทรอยด์หรือมีประวัติการกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรมในต่อมไทรอยด์