มะละกอ ผลไม้ขึ้นชื่อ กับประโยชน์ต่อสุขภาพ

มะละกอ เป็นไม้ผลที่มีเนื้อในสีเหลืองส้ม หุ้มด้วยเปลือกชั้นนอกบาง ๆ สีเขียว เปลี่ยนเป็นสีส้มหรือแดงเมื่อผลใกล้สุกเต็มที่แล้ว หากยังไม่ถูกผ่าออก มะละกอจะไม่ส่งกลิ่นใด ๆ แต่เมื่อถูกปอกเปลือกและผ่าจนเห็นเนื้อใน มะละกอจะส่งกลิ่นหอมหวานออกมา นอกจากคนจะนิยมรับประทานมะละกอสุกเป็นผลไม้อาหารว่างแล้ว มะละกอยังถูกนำมาประกอบอาหารไทยหลายชนิด โดยเฉพาะส้มตำ อาหารยอดนิยมและขึ้นชื่อเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทย

มะละกอ

ในด้านคุณค่าทางโภชนาการ มะละกอเป็นผลไม้ที่ประกอบไปด้วยสารอาหารนานาชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีแคลอรี่ต่ำ ไม่มีไขมันหรือคอเลสเตอรอล และยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของวิตามินเอ วิตามินซี โพแทสเซียม โฟเลต และเส้นใยอาหาร นอกจากนี้ ในมะละกอยังมีสารพาเพน (Papain) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยย่อยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันได้เป็นอย่างดี เป็นผลดีต่อกระบวนการย่อยสลายอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่ถูกรับประทานเข้าไป และยังมีสารคาร์เพน (Carpain) ที่คาดว่าอาจมีฤทธิ์ในการฆ่าทำลายปรสิต และส่งผลดีต่อระบบประสาทได้อีกด้วย

ดังนั้น ผลและใบของมะละกอจึงเชื่อว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ และอาจสามารถนำมาใช้รักษาบรรเทาอาการป่วยบางอย่างได้ เช่น ช่วยให้ประสาทผ่อนคลาย ช่วยขับปัสสาวะ ป้องกันและรักษาโรคในระบบทางเดินอาหาร การติดเชื้อและโรคพยาธิในลำไส้ และอาการปวดเส้นประสาทเนื่องจากมีหนอนพยาธิในระบบน้ำเหลือง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับสารเคมีต่าง ๆ ที่พบในมะละกอ ว่ามีประสิทธิภาพทางการรักษาและมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพจริงหรือไม่ จึงเป็นที่มาของการศึกษาค้นคว้าข้อมูลในด้านต่าง ๆ และการทดลองทางการแพทย์ เพื่อให้ได้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดให้สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้จริง

ตัวอย่างงานทดลองที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิผลและผลข้างเคียงของมะละกอ ได้แก่

เสริมสร้างวิตามินเอ

วิตามินเอ เป็นวิตามินที่เชื่อกันว่าช่วยบำรุงสายตาและการมองเห็น กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ และการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ เรตินอยด์ เป็นวิตามินเอชนิดที่มักได้รับจากการบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์ และเบต้า แคโรทีน เป็นวิตามินเอชนิดที่มักได้รับจากการบริโภคอาหารประเภทพืช ผัก ผลไม้

หากร่างกายมีภาวะขาดวิตามินเอ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสายตา อย่างภาวะตาบอดตอนกลางคืน กระจกตาเสื่อม หรือโรคเยื่อตาแห้งจากการขาดอาหาร (Xerophthalmia) โรคผิวหนังชนิด Hyperkeratosis ที่มีผิวหนังแห้งและตกสะเก็ด เป็นต้น

เนื่องจากมะละกอเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ จึงเชื่อว่ามะละกอจะช่วยเสริมสร้างวิตามินเอ ให้แก่ร่างกาย ช่วยป้องกันและรักษาภาวะขาดวิตามินเอได้ มีงานทดลองหนึ่งที่มีผู้อาสาสมัครทดลองเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี 7 ราย โดยผู้ทดลองจะรับประทานอาหารที่มีเบต้าแคโรทีนสูงอย่างมะม่วงและมะละกอ ทั้งในรูปแบบน้ำผลไม้ ผลไม้สด และผลไม้อบแห้ง

จากผลการทดลองพบว่า สารแคโรทีนอยด์ในมะละกออาจช่วยลดปริมาณไขมันในเลือดไคโลไมครอน (Chylomicrons) ลง ในขณะที่มีการเพิ่มระดับวิตามินเอชนิดเรตินอยด์ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยรูปแบบการบริโภคที่ส่งผลต่อประสิทธิผลในด้านดังกล่าวมากที่สุด คือ การบริโภคในรูปแบบน้ำผลไม้และผลไม้สด

จึงอาจกล่าวได้ว่า มะละกอเป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างระดับวิตามินเอแก่ร่างกาย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายในด้านต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง

โรคเบาหวานชนิดที่ 2

โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ กระบวนการดูดซึมน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานของเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จนเกิดน้ำตาลสะสมในเลือดปริมาณมาก มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องจากปัญหาน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน เบาหวานชนิดนี้มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก อาการของโรคจะมีการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะเวลานานหากปล่อยให้ร่างกายอยู่ในสภาวะนี้เป็นเวลานานจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อม เกิดโรคและอาการแทรกซ้อนขึ้น

เนื่องจากมะละกอเป็นผลไม้ที่มีไขมันและน้ำตาลต่ำ มีงานวิจัยหนึ่งที่ทำการทดลองหาประสิทธิผลของมะละกอต่อโรคเบาหวาน ด้วยการให้ผู้ทดลอง 50 ราย ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับยารักษาโรคเบาหวานไปด้วยในระหว่างการทดลอง และกลุ่มผู้ที่มีสุขภาพดี โดยให้ผู้ทดลองทั้ง 2 กลุ่มบริโภคมะละกอหมักปริมาณ 3 กรัม ทุกวัน ในช่วงอาหารมื้อกลางวันเป็นเวลา 2 เดือน ผลการทดลองพบว่า ผู้ทดลองทั้ง 2 กลุ่มมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ อีกงานวิจัยหนึ่งที่ใช้สารหมักมะละกอทดลองหาประสิทธิผลต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานเช่นกัน พบว่า หลังผู้ทดลองบริโภคสารหมักมะละกอ 6 กรัม เป็นเวลา 14 สัปดาห์ ผู้ทดลองมีระดับ C-reactive protein (CRP) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ร่างกายหลั่งออกมาเพื่อตอบสนองต่อกระบวนการอักเสบลดน้อยลง มีการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในเลือดและกรดยูริคในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น สารที่อยู่ในมะละกอหมักอาจมีประสิทธิผลทางการรักษาที่สำคัญ เช่น อาจลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจช่วยลดกระบวนการอักเสบ ลดระดับไขมันในเลือด รวมถึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจได้ด้วย ทั้งนี้ การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประสิทธิผลของมะละกอจึงควรดำเนินต่อไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพในการนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โรคความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร

ความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้เกิดโรคและอาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำไส้และกระเพาะอาหารได้ เช่น กรดไหลย้อน แสบร้อนกลางอก ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ลำไส้แปรปรวน เรอ ท้องอืดท้องเฟ้อ มีแก๊สในกระเพาะ ท้องผูก ท้องร่วง ปวดท้อง ปวดเกร็งบริเวณช่องท้อง เป็นต้น

ในประเทศเขตร้อนรวมถึงประเทศไทย มีความเชื่อในการรักษาด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยเชื่อว่ามะละกออาจมีประสิทธิผลต่ออาการต่าง ๆ ในระบบทางเดินอาหารได้ จึงมีงานทดลองหนึ่งที่ให้อาสาสมัครเข้าร่วมการทดลองจำนวน 13 รายที่มีอาการป่วยในระบบทางเดินอาหารอย่างเรื้อรัง แบ่งเป็นการบริโภคยาหลอกและสารสกัดมะละกอปริมาณ 20 มิลลิลิตร ทุกวันเป็นเวลา 40 วัน จากนั้นจึงตรวจสอบผลการทดลองด้วยการสอบถามอาการที่เกิดขึ้น

ผลปรากฏว่า ผู้ทดลองมีอาการท้องผูก ท้องอืดท้องเฟ้อ และอาการแสบร้อนกลางอกที่ดีขึ้น แต่กลับไม่มีผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญแสดงถึงประสิทธิผลของมะละกอหลังจากหยุดกระบวนการทดลองแต่อย่างใด

เนื่องจากการทดลองดังกล่าวเป็นงานทดลองขนาดเล็ก และวัดผลด้วยการสำรวจสอบถามอาการของผู้ทดลอง จึงยังคงขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญและชัดเจนพอจะพิสูจน์ได้ว่า มะละกอมีประสิทธิภาพทางการรักษาอาการของโรคในระบบทางเดินอาหารได้จริงหรือไม่ การทดลองและค้นคว้าในด้านนี้จึงควรดำเนินต่อไป เพื่อพิสูจน์สมมติฐานและหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในทางรักษาโรคในระบบทางเดินอาหารต่อไป

ภาวะขาดธาตุเหล็กในระหว่างตั้งครรภ์

ธาตุเหล็ก เป็นหนึ่งในแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นแหล่งลำเลียงก๊าซออกซิเจนให้ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ตามกระบวนการเจริญเติบโตของร่างกาย หากร่างกายขาดธาตุเหล็กจะส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง จึงมีการผลิตธาตุเหล็กในรูปแบบอาหารเสริมในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถบริโภคธาตุเหล็กได้ในปริมาณที่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร

ในระหว่างการตั้งครรภ์ ร่างกายของผู้เป็นแม่จะมีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยในกระบวนการเติบโตของทารกในครรภ์ ดังนั้น ผู้ที่ตั้งครรภ์จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางหากร่างกายขาดธาตุเหล็ก มะละกอซึ่งเป็นหนึ่งในผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์หลายชนิดรวมถึงธาตุเหล็ก จึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ถูกนำมาทำการทดลองในกรณีนี้

การทดลองนี้มีผู้เข้ารับการทดลองเป็นหญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์จำนวนทั้งสิ้นกว่า 252 ราย โดยผู้ทดลองจะได้รับประทานอาหารกลุ่มที่มีวิตามินซีและธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ฝรั่ง ส้ม และมะละกอ โดยมีการตรวจสอบติดตามและวัดผลในช่วงอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ และอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุครรภ์ 32-36 สัปดาห์

ผลการทดลองพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะขาดธาตุเหล็กได้รับประสิทธิผลที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าในหญิงตั้งครรภ์ที่มีระดับธาตุเหล็กในเลือดเป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม แม้การบริโภคอาหารและผลไม้ที่มีวิตามินซีและธาตุเหล็กสูงในระหว่างตั้งครรภ์อาจเป็นผลดีต่อผู้เป็นแม่และทารกในครรภ์ แต่สำหรับการบริโภคมะละกอนั้น มีหลักฐานอื่นที่สนับสนุนว่า สารพาเพนในมะละกออาจก่อให้เกิดภาวะพิษในครรภ์จนอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะพิการแต่กำเนิด

ดังนั้น การบริโภคมะละกอในระหว่างตั้งครรภ์จึงอาจไม่ปลอดภัยสำหรับแม่และเด็กในครรภ์ ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ไม่บริโภคมะละกอในปริมาณที่มากเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์ และปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการบริโภคอาหาร ยา หรืออาหารเสริมใด ๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ

มะละกอมีประโยชน์ต่อสุขภาพจริงหรือไม่ ?

แม้มะละกอจะอุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์มากมาย แต่สารเคมีบางชนิดในมะละกอก็อาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของผู้บริโภคได้ทั้งผลดีและผลเสีย อีกทั้งในปัจจุบัน ยังคงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดที่พิสูจน์ประสิทธิผลทางการรักษา หรือประสิทธิผลในการเสริมสร้างสุขภาพในด้านต่าง ๆ ได้อย่างกระจ่างชัดเจน ดังนั้น ผู้บริโภคควรเลือกรับประทานมะละกอที่มีคุณภาพ ถูกสุขอนามัย ในปริมาณที่พอดี เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ความปลอดภัยในการบริโภคมะละกอ

ข้อมูลสำหรับผู้บริโภคทั่วไป

  • เลือกบริโภคมะละกอสดที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะมะละกอสุกที่มีผิวสีเหลืองบางส่วน หรือทั้งผล และไม่นิ่มเหลวตรงบริเวณขั้วที่ติดกับลำต้น
  • ไม่บริโภคมะละกอที่เน่าเสีย ผิวช้ำ เหี่ยวย่น หรือหลีกเลี่ยงการบริโภคมะละกอบริเวณที่มีเนื้อนุ่มเหลวเละ
  • ไม่บริโภคมะละกอที่ดิบจนเกินไป โดยเฉพาะที่มีเปลือกนอกสีเขียว และมีเนื้อแข็ง
  • การบริโภคมะละกอจะปลอดภัย หากบริโภคในปริมาณที่พอดีในรูปแบบอาหารและผลไม้ของว่างทั่วไป
  • การบริโภคยาหรือสารสกัดมะละกอจะปลอดภัย หากบริโภคตามปริมาณที่ถูกต้องเหมาะสมภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • การบริโภคมะละกอจะเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป
  • การที่ผิวสัมผัสกับยางมะละกอ อาจจะเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพได้

ข้อควรระวังของการบริโภคมะละกอในผู้ที่มีปัจจัยทางสุขภาพ

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ การบริโภคมะละกออาจไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากบางงานวิจัยชี้ว่า สารเคมีพาเพนในมะละกออาจเป็นพิษต่อทารกในครรภ์หรือทำให้เกิดภาวะพิการแต่กำเนิดได้ จึงควรรับประทานมะละกอในปริมาณที่เหมาะสม หรือปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตร แม้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดที่เสนอเกี่ยวกับผลกระทบต่อแม่และทารกแรกเกิดในระหว่างช่วงที่ให้นมบุตร แต่แม่เด็กควรหลีกเลี่ยงการบริโภคมะละกอในปริมาณมากเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของตนและทารกที่อาจได้รับสารเคมีต่าง ๆ ผ่านทางน้ำนมไปด้วย
  • โรคเบาหวาน มะละกอที่ผ่านการหมักดองอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กำลังใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดควรระมัดระวังในการบริโภค ไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คและควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ
  • ผู้ที่แพ้สารพาเพน ต้องหลีกเลี่ยงไม่บริโภคมะละกอ อาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของมะละกอ เนื่องจากมีสารชนิดนี้อยู่ในมะละกอ
  • ผู้ที่แพ้สารลาเท็กซ์ ต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของมะละกอและยางมะละกอ
  • ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากมะละกอที่ผ่านการหมักดองอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงได้ จึงอาจกระทบต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างและหลังการผ่าตัด ดังนั้น ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดควรหยุดบริโภคมะละกออย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด

ปริมาณในการบริโภคมะละกอ

แม้มะละกอจะอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างหลากหลาย แต่ในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางโภชนาการถึงปริมาณที่เหมาะสมชัดเจนในการรับประทานมะละกอ ดังนั้น ผู้ที่บริโภคมะละกอทั้งในรูปแบบอาหาร ยา หรือสารสกัด ควรระมัดระวังในด้านปริมาณและวิธีการบริโภค โดยทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แม้มะละกอหรือสารสกัดจากมะละกอจะมีสารอาหารตามธรรมชาติ แต่ข้อมูลด้านความปลอดภัยในการบริโภคมะละกอยังคงมีจำกัด ผู้บริโภคควรรับประทานมะละกอในปริมาณที่พอดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
  • หากต้องบริโภคมะละกอเพื่อจุดประสงค์เชิงการรักษา ควรบริโภคตามปริมาณที่เหมาะสมกับปัจจัยส่วนบุคคลของผู้บริโภค เช่น อายุ สุขภาพ อาการป่วย โรคประจำตัว เป็นต้น
  • ศึกษาข้อมูลและปริมาณการบริโภคมะละกออย่างเหมาะสมจากฉลากโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์ หรือปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนการบริโภคสารสกัดจากมะละกอ
  • ในด้านคุณภาพ มะละกอที่มีผิวภายนอกสีเขียวจะเปลี่ยนสีและกลายเป็นมะละสุกในเวลารวดเร็วขึ้นหากเก็บรักษาในอุณหภูมิห้อง และแม้จะสามารถเก็บรักษามะละกอสดไว้ได้ประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อบริโภคในภายหลัง แต่ควรรับประทานมะละกอภายใน 1-2 วัน หลังเก็บจากต้น เพื่อให้ได้สารอาหารที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อร่างกาย

ตัวอย่างปริมาณสารอาหารแต่ละชนิดที่ได้จากการบริโภคมะละกอ 140 กรัม โดยประมาณ ได้แก่

  • พลังงาน 70 แคลอรี่
  • โซเดียม 10 มิลลิกรัม
  • คาร์โบไฮเดรตรวม 19 กรัม
  • น้ำตาล 9 กรัม
  • เส้นใยอาหาร 2 กรัม
  • ไขมันรวม 0 กรัม
  • คอเลสเตอรอล 0 กรัม
  • วิตามินเอ 8% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • วิตามินซี 150% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • แคลเซียม 4% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • ธาตุเหล็ก 2% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน