ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำระดับรุนแรง (Agranulocytosis)

ความหมาย ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำระดับรุนแรง (Agranulocytosis)

Agranulocytosis หรือภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำระดับรุนแรง เป็นภาวะที่เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิล (Neutrophil) ในร่างกายมีปริมาณน้อยกว่าปกติ ซึ่งเม็ดเลือดขาวขนิดนี้จะช่วยกำจัดเชื้อที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เมื่อร่างกายมีเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลมีน้อยจนเกินไปอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

Agranulocytosis เป็นภาวะอันตรายที่อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้แม้เกิดการติดเชื้อเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยควรได้การวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการติดเชื้อและบรรเทาอาการป่วยอื่น ๆ ที่อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากภาวะ Agranulocytosis ได้อย่างทันท่วงที

ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำระดับรุนแรง (Agranulocytosis)

อาการของ Agranulocytosis

Agranulocytosis อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการต่อไปนี้

  • หนาวสั่น มีไข้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน
  • เจ็บคอ
  • คลื่นไส้ วิงเวียน
  • รู้สึกเจ็บที่เหงือกและปาก มีแผลภายในช่องปากและลำคอ
  • เลือดออกตามไรฟัน
  • อ่อนแรง
  • ปวดกระดูก 
  • เกิดฝีตามผิวหนังส่วนต่าง ๆ 
  • หายใจเร็วผิดปกติ
  • ปอดอักเสบ
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ความดันเลือดลดต่ำลง
  • เกิดภาวะช็อค

สาเหตุของ Agranulocytosis

Agranulocytosis เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายมีปริมาณของเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลต่ำอย่างรุนแรงจนร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อบ่อยครั้ง ซึ่งปริมาณเม็ดเลือดขาวปกติของคนที่มีสุขภาพดีจะอยู่ที่ 1,500–8,000 นิวโตรฟิล/ไมโครลิตร (Neutrophils/mcL) ในขณะที่ผู้ป่วยจะมีปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 500 นิวโตรฟิล/ไมโครลิตร 

ภาวะ Agranulocytosis แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

  • Agranulocytosis แต่กำเนิด 

ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จะมีความผิดปกติติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด และอาจเกี่ยวข้องกับการผลิตเม็ดเลือดขาวของร่างกาย ทำให้ร่างกายของทารกเกิดการอักเสบ ติดเชื้อซ้ำบ่อยครั้ง มีไข้ และเกิดความผิดปกติของกระดูก

  • Agranulocytosis ที่เกิดขึ้นภายหลัง 

Agranulocytosis ชนิดนี้อาจเกิดขึ้นจากอาการป่วย การติดเชื้อ การใช้ยาหรือการสัมผัสสารเคมีบางชนิด เช่น โรคไขกระดูก โรคแพ้ภูมิตัวเอ วัณโรค การขาดสารอาหารหรือวิตามิน การสัมผัสยาฆ่าแมลงที่มีสารดีดีที (DDT) ปรอทหรือตะกั่ว การรักษาด้วยเคมีบำบัด และการใช้ยาปฏิชีวนะ ยาต้านการอักเสบ หรือยาต้านอาการทางจิต 

การวินิจฉัย Agranulocytosis

แพทย์จะวินิจฉัย Agranulocytosis จากการสอบถามอาการ ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและครอบครัว และยาที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ อาจตรวจเลือดเพื่อตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) หรือนำตัวอย่างไขกระดูกไปตรวจเพิ่มเติม เพื่อตรวจดูปริมาณการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกาย 

นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งให้ตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อจากแผลในช่องปาก ตรวจปัสสาวะ หรือในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะ Agranulocytosis แต่กำเนิด แพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจดีเอ็นเอ (Genetic Test) เพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย

การรักษา Agranulocytosis

แพทย์จะรักษา Agranulocytosis ตามสาเหตุที่ทำให้ปริมาณเม็ดเลือดขาวในร่างกายของผู้ป่วยลดลง หากภาวะ Agranulocytosis เกิดจากการใช้ยา แพทย์อาจสั่งให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยาหรือสลับไปใช้ยาชนิดอื่นที่ปลอดภัยต่อร่างกาย และอาจใช้ยาชนิดต่าง ๆ เพื่อช่วยสร้างเม็ดเลือดขาวหรือบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น เช่น

  • ยากระตุ้นให้มีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์ (Granulocyte Colony-Stimulating Factor: G-CSF) เช่น ยาเพกฟิลกราสทิม (Pegfilgrastim) ยาฟิลกราสทิม (Filgrastim)
  • ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ในกรณีที่ภาวะ Agranulocytosis เป็นผลมาจากโรคแพ้ภูมิตัวเอง 
  • ยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยบรรเทาอาการติดเชื้อ เช่น ยาพิเพอราซิลลินและยาทาโซแบ็กแทม (Piperacillin-Tazobactam) ยาเซฟีพิม (Cefepime) หรือยากลุ่มคาร์บาพีเนม (Carbapenem) 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ แพทย์อาจรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรป้องกันการติดเชื้อด้วยการดูแลความสะอาดภายในช่องปากอย่างสม่ำเสมอและรักษาแผลในช่องปากให้ดี ล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด 

ภาวะแทรกซ้อนของ Agranulocytosis

หากปล่อยไว้หรือไม่ได้รับการรักษา ภาวะ Agranulocytosis อาจเพิ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะการเกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ซึ่งเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือดและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ 

การป้องกัน Agranulocytosis

ภาวะ Agranulocytosis ไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะนี้ เช่น หากอยู่ระหว่างการรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัด แพทย์จะฉีดยาเพื่อให้ร่างกายสามารถผลิตเม็ดเลือดขาวได้มากขึ้น หรือหากกำลังรับประทานยาที่อาจก่อให้เกิดภาวะ Agranulocytosis อยู่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบและรับการตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อวัดปริมาณเม็ดเลือดขาวที่ร่างกายสามารถผลิตได้