พยาธิใบไม้ คืออะไร ป้องกันอย่างไรดี

พยาธิใบไม้เป็นปรสิตก่อโรคชนิดหนึ่ง คนส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกับโรคพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยและหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจเกิดอาการร้ายแรงได้ การได้รับพยาธิใบไม้เข้าสู่ร่างกาย ไม่ได้ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ตับเพียงอย่างเดียว แต่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและเกิดโรคพยาธิใบไม้ในร่างกายส่วนอื่นด้วย

สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคพยาธิใบไม้ คือ การกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก และอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ ซึ่งมักเป็นอาหารพื้นบ้านหรืออาหารท้องถิ่นตามภาคต่าง ๆ เพราะพยาธิใบไม้พบได้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย 

พยาธิใบไม้ คืออะไร ป้องกันอย่างไรดี

รู้จักกับพยาธิใบไม้ ตัวการของโรคร้าย

พยาธิใบไม้เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก คล้ายกับหนอนที่ตัวแบนและยาว รูปร่างคล้ายใบไม้ พยาธิใบไม้มีหลายขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าไปจนถึงพยาธิใบไม้ขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นได้ โดยอาจมีความยาวประมาณ 5‒10 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 1‒2 มิลลิเมตร

แม้ว่าจะเป็นพยาธิใบไม้สายพันธุ์ที่ขนาดใหญ่กว่าพยาธิชนิดเดียวกัน แต่ก็ยังถือว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับมุมมองจากสายตามนุษย์ เมื่อปะปนมากับอาหารก็อาจทำให้หลายคนไม่ทันสังเกตได้

พยาธิใบไม้มักอาศัยอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำจืดในธรรมชาติ พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยพยาธิใบไม้เป็นปรสิตประเภทหนึ่งที่ดำรงชีวิตด้วยการอาศัยในร่างของสัตว์ชนิดอื่น เช่น ปลา หอย วัว หมู สุนัข แมว หรือสัตว์อื่น ๆ รวมถึงมนุษย์

พยาธิใบไม้จะเข้าสู่ร่างกายของสิ่งมีชีวิตอื่นได้จากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนพยาธิหรือไข่พยาธิ เมื่อพยาธิใบไม้เข้าสู่ร่างกาย พยาธิจะไชทะลุไปตามอวัยวะหรือระบบต่างจนทำให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ อย่างตับ ปอด หลอดเลือด และลำไส้

เมื่อเกิดการติดเชื้อตามส่วนต่าง ๆ ก็มักจะทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมา หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ ตัวอย่างเช่นโรคใบไม้ตับที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคตับ โรคท่อน้ำดี และโรคมะเร็งตับ

นอกจากพยาธิใบไม้เข้ามาอาศัยร่างกายมนุษย์เพื่อดำรงชีวิตแล้ว พยาธิใบไม้ยังแพร่พันธุ์ภายในร่างกาย ซึ่งไข่ของพยาธิบางส่วนจะถูกขับออกไปพร้อมกับอุจจาระ หากอุจจาระของคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อพยาธิปะปนสู่แหล่งน้ำก็จะทำให้เกิดวงจรการติดเชื้อขึ้น อย่างไรก็ตาม พยาธิใบไม้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน

จะรู้ได้อย่างไรว่ามีพยาธิใบไม้ในร่างกาย?

เบื้องต้นอาจสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น เป็นไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ในระยะแรกของการติดเชื้ออาจไม่มีอาการแสดงให้เห็น โดยโรคพยาธิใบไม้แต่ละชนิดอาจมีอาการเฉพาะบางอย่างที่แตกต่างกัน เช่น

  • พยาธิใบไม้ในตับมีอาการหลักเป็นอาการดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง
  • พยาธิใบไม้ในเลือดอาจทำให้เกิดผื่นหรือตุ่มแดงตามผิวหนัง
  • พยาธิใบไม้ในปอดอาจทำให้มีอาการไอและเสมหะปนเลือด
  • พยาธิใบไม้ในลำไส้อาจส่งผลให้ลำไส้อุดตัน ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน

คนที่มีพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกสุขลักษณะอาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อพยาธิใบไม้ได้สูงกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะการกินอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนหรืออาหารที่กึ่งสุกกึ่งดิบ

ส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหารท้องถิ่นหรืออาหารพื้นบ้านที่ประกอบจากปลาน้ำจืด ปูน้ำจืด กุ้งฝอย และหอยจากแหล่งน้ำ เช่น ลาบปลา ปลาร้า ปลาส้ม ก้อยปลา ปลาสด ปลาปิ้ง และแจ่วบอง นอกจากนี้ การดื่มน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่ต้มให้สุกในเวลาที่เหมาะสมก็อาจเสี่ยงต่อการได้รับพยาธิใบไม้เช่นกัน

การรักษาและวิธีป้องกันพยาธิใบไม้

หากสังเกตว่าตนเองมีอาการติดเชื้อ ภายหลังจากการกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะอาหารท้องถิ่น อาจเป็นไปได้ว่าร่างกายกำลังติดเชื้อจากพยาธิใบไม้หรือพยาธิชนิดอื่น

ซึ่งหากไปพบแพทย์ และแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคพยาธิใบไม้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาพราซิควอนเทล (Praziquantel) ที่เป็นยาหลักสำหรับการรักษาโรคนี้ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ในภายหลังการรักษา ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้ถูกสุขลักษณะ เพราะโรคพยาธิใบไม้สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้

โรคพยาธิใบไม้สามารถป้องกันได้หลายวิธี เช่น กินอาหารที่ผ่านการปรุงสุกด้วยความร้อนอย่างเหมาะสม ดื่มน้ำดื่มที่สะอาดผ่านการฆ่าเชื้อด้วยกรรมวิธีหรือผ่านการต้ม เป็นต้น และหากพบอาการไม่สบาย ป่วยติดต่อกันระยะหนึ่งภายหลังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิ เช่น เดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติตามต่างจังหวัดและการกินอาหารประจำท้องถิ่น ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างเหมาะสม