ฝีกับสิวต่างกันอย่างไร

ฝีและสิว เป็นปัญหาผิวหนังที่พบได้บ่อยและมีลักษณะคล้ายกันมาก หลายคนมักคิดว่าตุ่มนูนแดงหรือตุ่มนูนหัวสีขาวที่ขึ้นตามร่างกายคือสิว แต่แท้จริงแล้วมีความเป็นไปได้ที่ตุ่มลักษณะนี้จะเป็นฝีได้เช่นกัน ซึ่งหากรู้วิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างฝีและสิวจะช่วยให้รักษาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ปัญหาผิวหนังทั้ง 2 ชนิดนี้ หากมีอาการไม่รุนแรง อาจรักษาเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง

ฝี

ฝีและสิวคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร

ฝี คือตุ่มหนองอักเสบที่มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เกิดขึ้นได้ทั้งกับอวัยวะภายนอกและอวัยวะภายในร่างกาย ฝีที่ผิวหนังในระยะแรกมักเป็นตุ่มนูนแดง สัมผัสแล้วเจ็บปวด จากนั้นตุ่มจะค่อย ๆ นิ่ม ขยายใหญ่ และทำให้รู้สึกเจ็บมากขึ้น โดยอาจมีขนาดใหญ่ประมาณครึ่งนิ้ว รวมถึงเริ่มมีหนองสะสมภายในจนเห็นเป็นหัวสีขาวด้านบนตุ่ม การอักเสบอาจรุนแรงจนทำให้ผิวหนังรอบฝีอักเสบไปด้วย เกิดฝีขึ้นใหม่รอบฝีเดิม ต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายบวม หรือมีไข้ได้

สิว คือรูขุมขนที่เกิดการอุดตันจากไขมันหรือเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว บางครั้งอาจมีการอักเสบร่วมด้วย มักพบตามใบหน้า คอ หน้าอก หลัง หรือไหล่ มีหลายประเภท ทั้งสิวอุดตัน และสิวอักเสบ โดยสิวที่อักเสบรุนแรงและมีขนาดใหญ่อาจเป็นสิวซีสต์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายฝี

โดยทั่วไปฝีจะมีขนาดใหญ่ บวมแดง และทำให้รู้สึกเจ็บมากกว่าสิว ทั้งนี้ ฝี สิวหัวหนอง และสิวซีสต์นั้นเกิดจากการอักเสบของรูขุมขนและมีหนองอยู่ภายในเหมือนกัน ทำให้มีลักษณะคล้ายกันมากจนสังเกตความแตกต่างได้ยาก ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางผิวหนังชนิดใด หากมีอาการรุนแรงหรือรักษาด้วยตนเองในเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา และหลีกเลี่ยงการบีบสิวหรือฝีเพื่อระบายหนองออกด้วยตนเอง

การรักษาฝีในเบื้องต้น

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีฝีอักเสบรุนแรงรับประทานยาปฏิชีวนะหรือผ่าระบายหนอง แต่ฝีที่มีขนาดเล็กและอักเสบไม่รุนแรงอาจรักษาได้ด้วยตนเองโดยใช้การแช่น้ำอุ่นหรือประคบร้อนวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 20 นาที เพื่อกระตุ้นการหมุนเวียนโลหิตบริเวณผิวที่อักเสบ และช่วยให้สารภูมิต้านทานและเม็ดเลือดขาวเข้ามาในบริเวณดังกล่าวมากขึ้น เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุของการอักเสบ

การรักษาสิวในเบื้องต้น

สิวที่มีอาการอักเสบไม่รุนแรงอาจรักษาได้ด้วยตนเองโดยใช้สมุนไพร ยาหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายใต้คำแนะนำจากเภสัชกร เช่น

  • เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ เป็นยาที่มีหลายรูปแบบให้เลือกใช้ เช่น ครีม เจล โลชั่น และผลิตภัณฑ์ล้างหน้า มีสรรพคุณช่วยกำจัดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว ทว่าไม่ได้ช่วยให้ต่อมน้ำมันตามผิวหนังผลิตน้ำมันน้อยลงหรือช่วยให้รูขุมขนตื้นขึ้น หากหยุดใช้จึงอาจเกิดสิวขึ้นอีก ทั้งนี้ ตัวยาอาจส่งผลข้างเคียงทำให้ผิวแห้ง และควรระวังไม่ให้ยาเปื้อนเสื้อผ้า เพราะอาจทำให้ผ้าสีตกได้
  • กรดซาลิไซลิก มักพบในรูปแบบโลชั่น ครีม หรือแผ่นแปะดูดสิว มีสรรพคุณช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน แต่ไม่ช่วยลดการสร้างน้ำมันจากต่อมไขมันหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และควรใช้ต่อเนื่องเช่นเดียวกับเบนโซอิล เพอร์ออกไซด์
  • ยารักษาสิวอุดตันในกลุ่มกรดวิตามินเอชนิดทาภายนอก มีสรรพคุณลดอาการบวมและอักเสบ ตัวยาจะออกฤทธิ์กับสิวที่เริ่มก่อตัวแล้วเท่านั้น ในระยะแรกที่ใช้จึงส่งผลให้สิวขึ้นมากกว่าเดิม จากนั้นจึงค่อย ๆ ลดลงไป ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์บางชนิดที่มีตัวยานี้เป็นส่วนประกอบอาจต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น เนื่องจากมีความรุนแรงกว่าชนิดที่วางขายโดยทั่วไป
  • ซัลเฟอร์ หรือกำมะถันมักใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์รักษาสิวส่วนใหญ่ แต่มีประสิทธิภาพการรักษาน้อยและยังไม่ชัดเจนว่ามีกลไกช่วยรักษาสิวอย่างไร
  • แอลกอฮอล์และแอซีโทน มักใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์รักษาสิวบางตัว มีคุณสมบัติต่อต้านแบคทีเรียและกำจัดนำมันออกจากใบหน้า ซึ่งจะส่งผลให้หน้าแห้ง ทั้งยังมีประสิทธิภาพในการรักษาสิวน้อยหรือแทบไม่มีเลย มักมีขายตามร้านขายยาแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังมักไม่แนะนำให้ใช้
  • ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์จากพืช สมุนไพร หรือส่วนผสมจากธรรมชาติที่มีสรรพคุณช่วยรักษาสิว แต่ประสิทธิภาพในการรักษาสิวของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดและอาจช่วยรักษาสิวได้น้อยมาก

ป้องกันฝีได้อย่างไร

ฝีเป็นปัญหาผิวหนังที่ติดต่อกันได้ แต่ก็ป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดฝีหรือติดฝีจากผู้อื่น รวมถึงหมั่นรักษาความสะอาดของร่างกาย ดังนี้

  • ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว มีดโกน เสื้อผ้า เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการบีบฝีด้วยตนเอง เพราะเชื้อแบคทีเรียอาจแพร่กระจายไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย
  • ล้างและปิดแผลตามผิวหนัง เพื่อป้องกันแบคทีเรียเข้าสู่แผล เพราะไม่อย่างนั้นอาจทำให้แผลอักเสบและเกิดฝีได้

ป้องกันสิวได้อย่างไร

สิวต่างกับฝีตรงที่ติดต่อสู่ผู้อื่นไม่ได้ การป้องกันสิวจึงทำได้ด้วยการรักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า และหลีกเลี่ยงไขมันอุดตันรูขุมขน ดังนี้

  • ล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนเข้านอน แต่ไม่ควรล้างบ่อยเกินไป เพราะจะทำให้หน้าแห้ง ส่งผลให้ผิวหน้าต้องผลิตไขมันออกมาทดแทนและเสี่ยงเกิดสิวอุดตันจากไขมันมากขึ้น
  • สระผมสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ผมมัน เพราะน้ำมันจากเส้นผมอาจก่อให้เกิดสิวได้
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอางที่ปราศจากน้ำมัน
  • หลีกเลี่ยงการสวมหมวกหรือเครื่องประดับที่รัดผิวหนังเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้ระคายเคืองผิวและเกิดสิวตามมา