ผลกระทบสุขภาพจากมลพิษทางน้ำและช่องทางการสัมผัส

มลพิษทางน้ำมักหมายถึงการปนเปื้อนของสารเคมีและเชื้อโรคในแหล่งน้ำส่งผลให้น้ำเน่าเสีย นอกจากนี้มลพิษทางน้ำยังเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน พบได้บ่อยตามบริเวณชุมชนแออัดและพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานอุตสาหกรรม 

มลพิษทางน้ำไม่เพียงส่งกลิ่นเน่าเหม็นรบกวนการใช้ชีวิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพของสภาพแวดล้อมโดยรอบ เช่น คุณภาพดินและพืชผลในพื้นที่เพาะปลูก นอกจากนี้แหล่งน้ำที่เสียสมดุลและขาดการไหลเวียนของน้ำมักเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงและสัตว์ที่อาจเป็นพาหะนำโรค พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางน้ำจึงเสี่ยงต่อโรคเชื้อและปัญหาสุขภาพได้

การปนเปื้อนในแหล่งน้ำมักเกิดจากการทิ้งของเสียจากคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นขยะ เศษอาหาร ของเสียจากร่างกาย และสารเคมีจากของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ผงซักฟอก สบู่ และน้ำยาทำความสะอาด การทำอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นโรงงานหรือการเพาะปลูกก็อาจทิ้งสารพิษและสารเคมีอันตราย เช่น โลหะหนัก ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง ซึ่งของเสียเหล่านี้จะทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อน เสียสมดุล และเกิดมลพิษทางน้ำขึ้น

บทความนี้จะพาคุณมาดูผลกระทบจากมลพิษทางน้ำและช่องทางการสัมผัส

ผลกระทบสุขภาพจากมลพิษทางน้ำและช่องทางการสัมผัส

ผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางน้ำ

การสัมผัสกับแหล่งน้ำที่เน่าเสียอาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพในด้านต่อไปนี้

โรคติดเชื้อ

แหล่งน้ำที่เน่าเสียเป็นทั้งแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคและพาหะนำโรค ซึ่งการสัมผัสกับแหล่งน้ำโดยตรงหรือสัมผัสผ่านสัตว์และแมลงที่เป็นพาหะก็อาจทำให้เกิดโรคติดเชื้อได้ เช่น

  • โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องร่วงท้องเสีย โรคบิด อหิวาตกโรค และกลุ่มอาการอาหารเป็นพิษ ซึ่งโรคในกลุ่มนี้อาจเกิดจากการกินอาหารที่ขาดสุขลักษณะ หรืออาหารถูกตอมโดยแมลงหรือสัตว์ที่เป็นพาหะของเชื้อโรค อย่างแมลงวันและหนู
  • โรคติดเชื้อบริเวณผิวหนัง เช่น โรคกลาก โรคเกลื้อน และโรคน้ำกัดเท้าที่เกิดจากการติดเชื้อราผ่านการสัมผัสกับแหล่งน้ำที่เน่าเสียโดยตรง
  • โรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น โรคไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โรคฉี่หนู โรคพยาธิใบไม้ในเลือด และโรคตับอักเสบ

ซึ่งโรคติดเชื้อส่วนใหญ่สามารถติดต่อกันได้ ทั้งจากการสัมผัสผิวหนังภายนอก การกินอาหารและการใช้ของร่วมกัน เมื่อเกิดในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ โรคติดเชื้อบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต

การได้รับสารพิษ

ชุมชนและคนที่พักอาศัยในเขตที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอาจเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษอันตรายที่มาจากกระบวนผลิตของโรงงานเหล่านี้ แม้ว่าในทางกฎหมายจะมีมาตรการรองรับและบังคับให้โรงงานบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แต่การบำบัดน้ำเสียไม่สามารถกำจัดสารพิษเหล่านั้นได้ทั้งหมด เมื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำจึงทำให้เกิดสารพิษปนเปื้อนและเมื่อเวลาผ่านไปน้ำก็จะเน่าเสียเนื่องจากสารพิษในแหล่งน้ำมีปริมาณสูงขึ้น

สารพิษและสารเคมีทุกชนิดส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ไม่มากก็น้อย แต่สารกัมมันตรังสีและสารพิษในกลุ่มโลหะหนัก (Metals) เช่น ปรอท ตะกั่ว สารหนู และแคดเมียม (Cadmium) อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก ผลกระทบจากสารพิษในแหล่งน้ำอาจใช้เวลาในการแสดงอาการ เมื่อร่างกายได้รับและสะสมมากขึ้นก็อาจนำไปสู่ภาวะเป็นและเพิ่มความเสี่ยงของโรคร้ายแรงได้

นอกจากนี้ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และยากำจัดศัตรูพืชจากการทำเกษตรกรรมก็สามารถซึมลงดินและปนเปื้อนในแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียง โดยสารเคมี อย่างดีดีที (DDT) เบนซิน (Bensin) พีซีบี (Polychlorinated biphenyl: PCB) สามารถให้เกิดพิษร้ายแรงต่อร่างกาย และเมื่อซึมลงสู่แหล่งน้ำ สารพิษเหล่านี้ก็อาจปนเปื้อนในปลา พืชน้ำ และสัตว์ในบริเวณนั้น หากนำมาปรุงอาหารก็จะทำให้ร่างกายได้รับสารพิษสะสมเพิ่มขึ้น

ในระยะยาว สารเคมีทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเกษตรอาจทำให้อวัยวะภายใน อย่างปอด ตับ ไต สมอง และหัวใจเสียหาย เสื่อมสภาพ รวมทั้งอาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง โดยชนิดของโรคมะเร็งก็อาจแตกต่างไปตามสารพิษและปริมาณที่ได้รับ

นอกจากนี้ มลพิษทางน้ำไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสุขภาพกายแล้ว ความสกปรก กลิ่นเน่าเสียของน้ำ และสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตใจ ทำให้เกิดความเครียด กังวล และรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งส่งผลต่อการอยู่อาศัย

ช่องการได้รับสารพิษจากมลพิษทางน้ำ

คุณอาจได้รับสารเคมีและเชื้อโรคจากแหล่งน้ำที่เน่าเสียได้หลายวิธีดังนี้

  • การสัมผัส
    คนที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่เน่าเสีย ไม่ว่าจะเป็นคลอง แม่น้ำ บ่อน้ำ หรือท้องร่องอาจเสี่ยงต่อการสัมผัสกับเชื้อโรคและสารพิษผ่านทางผิวหนังโดยตรง นอกจากนี้การสัญจรทางเรือผ่านคลองในเขตชุมชนแออัด น้ำที่กระเซ็นก็อาจสัมผัสกับผิวหนังและดวงตาและทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน
  • การกินและการดื่ม
    แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะสามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดได้แล้ว แต่บางครั้ง เราอาจได้รับเชื้อโรคและสารพิษทางอ้อม เพราะการเพาะปลูกและการทำปศุสัตว์ที่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำปนเปื้อนเพื่อรดพืชผลและเลี้ยงสัตว์ ก็อาจทำให้ผลผลิตเหล่านั้นปนเปื้อนเชื้อโรคและสารพิษได้ ไม่เพียงเท่านั้น แม้ความร้อนจากการปรุงอาหารจะช่วยฆ่าเชื้อโรค แต่สารเคมีและเชื้อโรคบางชนิดทนทานต่อความร้อนจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษทางอ้อมอยู่ดี
  • สัตว์เลี้ยงและสัตว์ที่เป็นพาหะ
    สัตว์เหล่านี้สามารถเป็นพาหะที่นำเชื้อมาติดต่อในครัวเรือน โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงแบบเปิด และสัตว์ฟันแทะอย่างหนู เพราะสัตว์เหล่านี้อาจหากินตามแหล่งน้ำที่ปนเปื้อน เมื่อเจ้าของสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง หรือสัมผัสกับสิ่งของที่มีร่องรอยของสัตว์ที่เป็นพาหะก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน
  • แมลง
    แมลงเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายคนได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการกัดหรือตอมอาหารและข้าวของเครื่องใช้ อย่างยุงลายและแมลงวัน นอกจากนี้ การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงและการทำฟาร์มปศุสัตว์อาจทำให้แมลงตัวเล็ก ๆ อย่างเห็บและหมัดที่กินดูดเลือดสัตว์เป็นอาหารก็อาจทำให้สัตว์ที่เลี้ยงกลายเป็นพาหะ หรือหากถูกแมลงที่มีเชื้อกัดก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

มลพิษทางน้ำเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องการการดูแลและฟื้นฟูในระยะยาว แต่เบื้องต้นเราสามารถลดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำด้วยปลูกฝังจิตสำนึกการทิ้งขยะให้ถูกที่ กำจัดของเสียอย่างเหมาะสม ลดการใช้สารเคมีในการเกษตรและปศุสัตว์ สำหรับคนที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำเน่าเสีย สามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ามาดูแล หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับมลพิษทางน้ำไม่ว่าจะรูปแบบใด รวมถึงการจับสัตว์น้ำบริเวณดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงของการได้รับเชื้อโรคและสารพิษ

หากคุณอาศัยอยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางน้ำแล้วเกิดพบสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยร่างกาย หายใจลำบาก ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน ควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะเมื่อพบอาการเหล่านี้ในเด็ก คนท้อง คนสูงวัย และคนที่มีโรคประจำตัว

สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพจากสารพิษในระยะยาว อาจสังเกตจากอาการทางผิวหนัง อย่างผิวหนังอักเสบ แห้งลอก หรือพุพอง และอาการอื่น อย่างแขนขาไม่ค่อยมีแรง ป่วยบ่อย ร่างกายทรุดโทรม ไม่สามารถใช้งานได้ปกติ หรืออาการอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างเหมาะสม