ปัสสาวะบ่อย สาเหตุที่เป็นไปได้และวิธีรับมือเบื้องต้น

ปัสสาวะบ่อย เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยปัญหานี้นอกจากจะส่งผลให้บางคนรู้สึกติดขัดในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันแล้ว ในบางครั้งยังอาจเป็นสัญญาณที่กำลังบ่งบอกถึงปัญหาทางด้านสุขภาพได้อีกด้วย

โดยทั่วไปความถี่ของการปัสสาวะในหนึ่งวันของผู้ที่มีสุขภาพปกติจะอยู่ที่ประมาณ 3–5 ครั้งในช่วงกลางวัน และ 1–2 ครั้งในช่วงกลางคืน โดยในกรณีของผู้ที่มีปัญหาปัสสาวะบ่อย สิ่งที่เป็นสาเหตุอาจเป็นได้ตั้งแต่การดื่มน้ำเยอะ การอยู่ในพื้นที่หนาวเย็น การตั้งครรภ์ ไปจนถึงปัญหาสุขภาพบางอย่าง ซึ่งส่วนมากมักเกี่ยวกับไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ และต่อมลูกหมากในเพศชาย

ปัสสาวะบ่อย สาเหตุที่เป็นไปได้และวิธีรับมือเบื้องต้น

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย 

อาการปัสสาวะบ่อยสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ทางเดินปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะมีความผิดปกติ เช่น ภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวมากเกินปกติ (Overactive Bladder Syndrome)
  • ต่อมลูกหมากมีปัญหา เช่น มีภาวะต่อมลูกหมากโต ซึ่งอาจส่งผลให้ทางเดินปัสสาวะได้รับแรงกดทับได้
  • เบาหวาน ทั้งชนิดที่ 1 และ 2 โดยอาการปัสสาวะบ่อยถือเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยของผู้ป่วยภาวะเบาหวาน
  • การตั้งครรภ์ เนื่องจากในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ ขนาดของครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นอาจส่งแรงกดทับให้กับกระเพาะปัสสาวะได้
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือยารักษาภาวะความดันโลหิตสูง
  • การดื่มน้ำในปริมาณมาก โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
  • การอยู่ในที่สภาพแวดล้อมหนาวเย็น เนื่องจากเมื่อร่างกายอยู่ในสภาพอากาศหนาวเย็น หลอดเลือดในร่างกายจะเริ่มหดตัวเพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ซึ่งกลไกนี้อาจส่งสัญญาณให้ไตเริ่มขับของเหลวมากขึ้นตามมาได้

นอกจากนี้ อาการปัสสาวะบ่อยยังอาจเป็นผลมาจากสาเหตุอื่นได้อีกเช่นกัน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคทางระบบประสาท ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง หรือภาวะช่องคลอดอักเสบ

แนวทางการรับมือกับอาการปัสสาวะบ่อย

ในเบื้องต้น การปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตประวันบางอย่างอาจช่วยบรรเทาอาการปัสสาวะบ่อยที่เกิดจากบางสาเหตุได้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำในช่วงก่อนเข้านอน 
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
  • สำหรับผู้หญิง อาจลองฝึกท่ากระชับช่องคลอด (Kegel Exercises) เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่มีความสำคัญต่อกระเพาะปัสสาวะ

หากลองทำตามวิธีในข้างต้นแล้วปัญหาอาการปัสสาวะบ่อยยังไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ

โดยเฉพาะผู้ที่พบว่าอาการรบกวนการนอนหลับหรือการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ หรือผู้ที่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ อาเจียน ปัสสาวะสีเข้มหรือปนเลือด เจ็บขณะปัสสาวะ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ มีของเหลวไหลออกมาจากอวัยวะเพศ หรือปวดบริเวณท้องด้านข้าง ขาหนีบ และหลัง