ปวดหัวไมเกรน วิธีสังเกตอาการและการรับมือที่ได้ผล

ปวดหัวไมเกรน เป็นอาการปวดหัวที่มีความรุนแรง โดยมักทำให้รู้สึกปวดหัวตุบ ๆ ข้างเดียวอย่างรุนแรง หรือบางครั้งอาจปวดหัวทั้ง 2 ข้าง ซึ่งผู้ที่ปวดไมเกรนมักมีอาการอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่คนมักสับสนหรือไม่รู้ว่าอาการปวดหัวที่เกิดกับตนเองนั้นเป็นอาการปวดหัวชนิดอื่นหรือปวดหัวไมเกรน ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของอาการปวดหัว อาจช่วยให้ทราบว่าประเภทและหาทางรักษาอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมต่อไป

2051 ปวดหัวไมเกรน rs

ปวดหัวไมเกรน แตกต่างจากอาการปวดหัวอื่น ๆ อย่างไร ?

เมื่อปวดหัว อาจรู้สึกว่ามีแรงดันหรือปวดหัวทั้ง 2 ข้างเป็นส่วนใหญ่ โดยอาจมีอาการปวดเพียงเล็กน้อยไปจนถึงอาจรู้สึกปวดหัวอย่างรุนแรง ซึ่งอาการปวดหัวมักเกิดขึ้นรอบ ๆ บริเวณหน้าผาก หัวด้านหลัง หรือขมับ และอาจเกิดขึ้นเป็นเวลา 30 นาที หรือนานถึง 1 สัปดาห์ ซึ่งปกติอาการปวดหัวนั้นมีอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่พบได้บ่อยมากที่สุด คือ ปวดหัวจากความเครียด  

อย่างไรก็ตาม หากเป็นอาการปวดหัวไมเกรนจะแตกต่างจากอาการปวดหัวชนิดอื่น โดยไมเกรนมักทำให้รู้สึกปวดหัวตุบ ๆ เพียงข้างใดข้างหนึ่งอย่างรุนแรง จนอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างด้านการเรียนหรือการทำงานได้ ตลอดจนผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ แต่บางครั้งอาการปวดหัวไมเกรนอาจเกิดขึ้นบริเวณหัวทั้ง 2 ข้างได้เช่นกัน ทั้งนี้ ภาวะปวดหัวไมเกรนอาจก่อให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมาได้ด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดขมับ ปวดด้านหลังตาหรือหลังหู สูญเสียการมองเห็นชั่วขณะ มีความรู้สึกไวต่อแสงและเสียง เป็นต้น โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นในช่วงเวลา 4 ชั่วโมงไปจนถึง 3 วัน และอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยล้าอย่างมากหลังจากมีอาการแล้ว 1 สัปดาห์ ส่วนสาเหตุของการปวดหัวไมเกรนยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเป็นผลมาจากยีนในร่างกาย สิ่งแวดล้อม รวมทั้งสิ่งกระตุ้นอย่างการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายและแสงสว่าง

ทั้งนี้ อาการปวดหัวไมเกรนอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ชนิดที่มีอาการเตือน และชนิดที่ไม่มีอาการเตือน ซึ่งชนิดที่มีอาการเตือนเป็นประเภทที่พบได้น้อยเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ปวดหัวด้วยไมเกรน โดยผู้ป่วยอาจมีอาการในระยะเตือนก่อนปวดหัว ระยะปวดหัว และระยะหลังปวดหัว มีตัวอย่างอาการที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่จะรู้สึกปวดหัวไมเกรน เช่น เวียนศีรษะหรือทรงตัวไม่อยู่ มีปัญหาด้านการคิดหรือการพูด ความรู้สึกตื่นตัวทางจิตใจลดลง มองเห็นแสงวาบ จุดบอด เส้นคลื่นที่ผิดปกติ หรือรูปร่างซิกแซก เสียวแปลบหรือชาที่ใบหน้าหรือแขน มีการรับรู้กลิ่น รส หรือสัมผัสที่ผิดปกติ หรือหมดสติ เป็นต้น โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเป็นเวลาประมาณ 10-30 นาที นอกจากนี้ บางรายอาจท้องผูก กระหายน้ำหรือปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ อยากอาหารผิดปกติ หาวบ่อย ลำคอแข็ง อารมณ์แปรปรวน หรือซึมเศร้าก่อนที่จะปวดหัวไมเกรน 1-2 วัน อีกด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้เรียกว่า ระยะอาการบอกเหตุ

ปวดหัวไมเกรน รักษาอย่างไร ?

ผู้ที่ปวดหัวไมเกรนอาจบรรเทาและรักษาอาการที่เกิดขึ้นได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • รับประทานยาหรือใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแอสไพริน ยานาพรอกเซน โซเดียม ยาไอบูโพรเฟน ยาต้านการอาเจียนอย่างยาโปรเมทาซีน ยาคลอร์โปรมาซีน ยาโปรคลอเปอราซีน ยากลุ่มทริปแทน ยากลุ่มโอปิออยด์ ยาเออร์กอต ยากลูโคคอร์ติคอยด์ ยาอีเรนูแมบ ยาต้านชัก ยาต้านเศร้า ยารักษาโรคหัวใจ หรือรับการฉีดโบทอกซ์ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงอาหารบางประเภท อย่างกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • เข้ารับการรักษาด้วยไบโอฟีดแบ็คที่อาจช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและความเจ็บปวด หรือเข้ารับการบำบัดพฤติกรรม
  • ผ่อนคลายตนเองด้วยการนอนพักในห้องที่มืดและเงียบสงบ นั่งสมาธิ นวดผ่อนคลาย กดจุด ฝังเข็ม เล่นโยคะ
  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดความเครียดขึ้นกับตนเอง  

นอกจากนี้ ผู้ป่วยไมเกรนบางรายอาจสนใจการแพทย์ทางเลือกอื่น ๆ อย่างการรับประทานสมุนไพร วิตามิน หรือแร่ธาตุเสริมต่าง ๆ แต่ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนตัดสินใจใช้อาหารเสริมใด ๆ และใช้ผลิตภัณฑ์นั้นภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัดเสมอ

อาการปวดหัวที่ควรไปพบแพทย์

แม้อาการปวดหัวส่วนใหญ่นั้นไม่ก่อให้เกิดอันตราย อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์หากมีอาการปวดหัวในลักษณะดังต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเกิดจากปวดหัวไมเกรนหรือไม่ก็ตาม

  • รู้สึกปวดหัวหลังจากได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ
  • ปวดหัวบ่อย หรือปวดหัวรุนแรงกว่าปกติ
  • อาการปวดไม่บรรเทาลงหรือแย่ลงแม้จะรับประทานยาแล้วก็ตาม
  • ปวดหัวจนไม่สามารถนอนหลับ ทำงาน หรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ
  • ปวดหัวและมีอาการเจ็บคอ มีแรงดันในตา และมีน้ำมูกสีเขียวปนสีเหลือง

ยิ่งไปกว่านั้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีหากรู้สึกปวดหัวอย่างรุนแรง ฉับพลัน หรือมีอาการปวดหัวที่รุนแรงมากที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา พร้อมทั้งมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างมีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน สับสน ง่วงซึม มีปัญหาด้านการมองเห็น การเดิน การพูด หรือการเข้าใจคำพูด ชาบริเวณใบหน้า ลำคอแข็ง ใบหน้าและแขนขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต เป็นลม หรือเป็นลมชัก เพราะอาจเป็นอาการเสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วยได้