11 สาเหตุของอาการปวดท้องน้อยที่ไม่ควรละเลย

ปวดท้องน้อย (Pelvic Pain) คืออาการปวดท้องด้านล่างตั้งแต่บริเวณใต้สะดือจนถึงหัวหน่าว โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ ระบบย่อยอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบกล้ามเนื้อและเส้นประสาทบริเวณอุ้งเชิงกราน บางสาเหตุอาจไม่รุนแรงมากและหายได้เอง แต่บางสาเหตุอาจรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา

อาการปวดท้องน้อยมักเกิดในผู้หญิง แต่บางครั้งก็อาจเกิดในผู้ชายได้เช่นกัน โดยอาการอาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันและหายไปในเวลาไม่นาน หรืออาการเรื้อรังที่คงอยู่นานหลายเดือน และไม่หายขาด เราจึงควรสังเกตอาการของตัวเองและไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งพบแพทย์ได้รวบรวม 11 สาเหตุของอาการปวดท้องน้อยที่พบได้บ่อยเอาไว้ในบทความนี้

ปวดท้องน้อย อาการกวนใจที่สาว ๆ ควรรู้ทันสาเหตุ

สาเหตุที่ทำให้เกิดปวดท้องน้อย

หากไม่นับการปวดท้องน้อยจากการมีประจำเดือนและการตกไข่ที่ผู้หญิงหลายคนคุ้นเคยกันทุก ๆ เดือน อาการปวดท้องน้อยอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ เช่น

1. ท้องผูก

ท้องผูกเป็นปัญหาในระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายที่พบได้บ่อย และทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย โดยอาจเป็นผลจากการรับประทานอาหารที่ไม่มีไฟเบอร์ (Fiber) การดื่มน้ำน้อย ใช้ยาบางชนิด ขาดการออกกำลังกายหรือไม่ค่อยขยับร่างกาย การกลั้นอุจจาระ รวมถึงความเครียด โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้าที่อาจปัจจัยกระตุ้นได้ 

2. ลำไส้แปรปรวน

ลำไส้แปรปรวนเป็นโรคในระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อย โดยอาจเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อในลำไส้ ความผิดปกติของเส้นประสาทในระบบย่อยอาหาร การติดเชื้อรุนแรง ความไม่สมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ การรับประทานอาหารบางชนิด และความเครียด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเกร็งหน้าท้อง ท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก และปวดท้องน้อย 

3. ไส้ติ่งอักเสบ

การอักเสบบริเวณไส้ติ่งไม่ได้มีสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากการอุดตันของไส้ติ่งจนเชื้อแบคทีเรียบริเวณนั้นเพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้เกิดการอักเสบ บวม เป็นหนอง ไส้ติ่งอักเสบมักทำให้ปวดท้องส่วนล่างด้านขวา โดยบางครั้งอาจเริ่มปวดจากบริเวณรอบสะดือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด ท้องบวม ไม่อยากอาหาร หรือมีไข้ต่ำ ๆ 

ทั้งนี้ ไส้ติ่งอักเสบที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันอาจเสี่ยงต่อการไส้ติ่งแตกที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการผ่าตัดทันที

4. เยื่อบุช่องท้องอักเสบ

โดยปกติแล้ว ภายในช่องท้องจะห่อหุ้มด้วยเนื้อเยื่อที่เรียกว่าเยื่อบุช่องท้อง ซึ่งบางครั้งเยื่อบุนี้อาจเกิดการอักเสบขึ้น โดยมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีอาการปวดท้องน้อย ปวดท้องรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ท้องอืด มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากอาหาร ท้องเสีย ปัสสาวะน้อยลง กระหายน้ำ ถ่ายไม่ออก อ่อนเพลีย รู้สึกสับสน หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

5. อุ้งเชิงกรานอักเสบ

อุ้งเชิงกรานอักเสบอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียภายในอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น มดลูก ท่อนำไข่ หรือรังไข่ โดยสาเหตุมักมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้รับการรักษาให้หายขาด เช่น หนองในแท้ และหนองในเทียม ซึ่งการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์เป็นเวลานานมักก่อให้เกิดอุ้งเชิงกรานอักเสบเรื้อรังที่อาจนำไปสู่ภาวะมีบุตรยาก การตั้งครรภ์นอกมดลูก และการปวดท้องน้อยเรื้อรัง

ผู้มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบมักมีอาการปวดท้องน้อยหรือท้องส่วนล่าง รู้สึกไม่สบายตัว รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์และขณะปัสสาวะ ปัสสาวะได้ลำบาก มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ประจำเดือนมามาก หรือตกขาวมีสีผิดปกติ โดยเฉพาะสีเหลืองและสีเขียว ซึ่งควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

6. เนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูกป็นกลุ่มเซลล์ที่เจริญเติบโตอย่างผิดปกติภายในหรือบริเวณโดยรอบมดลูก ส่วนใหญ่จะไม่กลายเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา แต่บางรายอาจมีอาการแน่นท้อง ปวดท้องน้อย ประจำเดือนมามากผิดปกติ ปัสสาวะบ่อยครั้ง ปวดประจำเดือน ท้องผูก และริดสีดวงทวาร ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ขนาด และจำนวนของเนื้องอกมดลูกที่พบในผู้ป่วยแต่ละคน

7. ถุงน้ำในรังไข่

ถุงน้ำในรังไข่เป็นก้อนถุงน้ำหรือซีสต์ที่เกิดในรังไข่ โดยจะเกี่ยวกับการมีประจำเดือนหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ผู้ป่วยส่วนมากมักจะไม่แสดงอาการใดออกมา แต่เมื่อถุงน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจมีอาการปวดแปลบหรือปวดตื้อบริเวณท้องน้อยหรือเชิงกรานข้างใดข้างหนึ่ง และท้องอืด หากถุงน้ำในรังไข่แตกออกอาจส่งผลปวดท้องน้อยอย่างเฉียบพลันได้

8. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คือภาวะที่เยื่อบุผนังมดลูกไม่เจริญเติบโตภายในโพรงมดลูกอย่างที่ควรจะเป็น แต่ไปเกิดตรงจุดอื่น ๆ เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ เนื้อเยื่อเชิงกราน กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ตรง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยปวดท้องน้อยช่วงก่อนหรือระหว่างการมีประจำเดือน เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ เจ็บขณะขับถ่ายหรือปัสสาวะ มีเลือดออกระหว่างรอบประจำเดือน ประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือปัญหามีบุตรยาก

9. การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

ระบบทางเดินปัสสาวะประกอบไปด้วยหลายอวัยวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ กรวยไต หรือไต เมื่อเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะอาจส่งผลให้เจ็บหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ปัสสาวะเป็นสีขุ่น ปัสสาวะปนเลือด และปวดท้องน้อยด้วย

 10. ไส้เลื่อน

ไส้เลื่อน เป็นภาวะที่ลำไส้ส่วนหนึ่งเคลื่อนออกมาจากช่องท้องผ่านทาง

ผนังหน้าท้องที่มีรูเปิดผิดปกติ หรือผนังช่องท้องที่อ่อนแอ หรือเกิดภายหลังการผ่าตัดและการได้รับบาดเจ็บไส้เลื่อนมีหลายประเภท ซึ่งจะมีอาการต่างกัน ประเภทที่พบบ่อยคือไส้เลื่อนที่ขาหนีบ (Inguinal Hernias)

ผู้ป่วยไส้เลื่อนจะมีก้อนตุงบริเวณที่มีไส้เลื่อน เช่น ขาหนีบ หน้าท้อง และต้นขาด้านใน หากไอแรง ๆ หรือยกของ ไส้เลื่อนจะโผล่ออกมาและมักหายไปได้เอง นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดหน่วงหรือปวดแปลบบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนด้วย

11. ต่อมลูกหมากอักเสบ

ต่อมลูกหมากเป็นต่อมที่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะของผู้ชาย ทำหน้าที่สร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ หากเชื้อแบคทีเรียเล็ดลอดเข้าไปยังต่อมลูกหมากผ่านทางท่อปัสสาวะ จะทำให้เกิดการอักเสบของต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดอวัยวะเพศและบริเวณโดยรอบ เช่น ท้องน้อย และขาหนีบ รู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขุ่น หรือปัสสาวะเป็นเลือด

หากมีอาการปวดท้องน้อย สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันท้องผูก อาบน้ำอุ่นและประคบร้อน โดยใช้แผ่นประคบสำเร็จรูปหรือถุงน้ำร้อนบริเวณท้องน้อย ออกกำลังกาย เล่นโยคะ และนั่งสมาธิที่ช่วยให้ผ่อนคลายและบรรเทาอาการปวด งดสูบุหรี่ ซึ่งอาจกระตุ้นให้ปวดท้องน้อยมากขึ้น และรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล และยาไอบูโพรเฟน

หากดูแลตัวเองแล้วอาการปวดท้องน้อยไม่ดีขึ้น ปวดรุนแรงขึ้น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นหรือมีเลือดปน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษา