ปวดข้อเท้า

ความหมาย ปวดข้อเท้า

ปวดข้อเท้า คือ ภาวะที่รู้สึกไม่สบายหรือปวดส่วนใดส่วนหนึ่งของข้อเท้า ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุตั้งแต่อาการข้อเท้าเคล็ดธรรมดาไปจนถึงกระดูกข้อเท้าหัก และในบางครั้งหากปวดข้อเท้ามากก็อาจทำให้ทิ้งน้ำหนักลงบนข้อเท้าไม่ได้ เดินลำบาก หรือเดินไม่ได้เลย โดยอาการปวดข้อเท้าอาจรักษาได้ด้วยการประคบ การพักใช้งานข้อเท้า หรืออาจต้องไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติมตามแต่กรณี

1561 ปวดข้อเท้า Resized

อาการปวดข้อเท้า

นอกจากอาการปวดข้อเท้า ผู้ป่วยอาจปรากฏอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีหากข้อเท้าได้รับบาดเจ็บ มีอาการบวม แดง หรือมีรอยช้ำ รวมทั้งมีอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • ปวดข้อเท้ามาก ปวดนาน 2–3 สัปดาห์
  • ข้อเท้าบวมมาก และไม่มีท่าทีจะดีขึ้น
  • ได้ยินเสียงกรอบแกรบพร้อมกับรู้สึกปวดกระดูกข้อต่อ
  • ไม่สามารถขยับข้อเท้าไปด้านหน้าหรือด้านหลังได้
  • ไม่สามารถลงน้ำหนักที่ข้อเท้าได้
  • มีแผลเปิดบริเวณข้อเท้า หรือข้อเท้าผิดรูป
  • มีสัญญาณการติดเชื้อบริเวณข้อเท้า เช่น ข้อเท้าแดง อุ่น หรือกดแล้วเจ็บ มีไข้ที่อุณหภูมิสูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส เป็นต้น

สาเหตุของอาการปวดข้อเท้า

อาการปวดข้อเท้าอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการบาดเจ็บที่กระดูกข้อเท้า การบาดเจ็บที่เส้นเอ็นข้อเท้า หรือจากภาวะข้อต่ออักเสบต่าง ๆ

โดยตัวอย่างของสาเหตุที่ทำให้ปวดข้อเท้า มีดังนี้

  • เอ็นอักเสบ บวม ฉีก หรือขาดจากสาเหตุต่าง ๆ อย่างข้อเท้าพลิก หรือข้อเท้าบิดผิดรูป
  • เอ็นร้อยหวายอักเสบ
  • ข้อเท้า ส้นเท้า และเส้นประสาทบริเวณข้อเท้าได้รับบาดเจ็บ
  • ติดเชื้อในกระดูกข้อเท้า
  • กระดูกข้อเท้าหรือกระดูกเท้าหัก
  • โรคเก๊าท์หรือโรคเก๊าท์เทียม
  • โรคข้อเสื่อม และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

การวินิจฉัยอาการปวดข้อเท้า

แพทย์อาจวินิจฉัยอาการปวดข้อเท้าด้วยการถามประวัติและข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น

  • ลักษณะของอาการ และระยะเวลาที่ปรากฏอาการ
  • การเกิดแผล หรืออาการบาดเจ็บอื่น ๆ บริเวณข้อเท้า
  • การใช้งานข้อเท้า
  • โรคประจำตัวที่อาจเกี่ยวข้องกับอาการปวดข้อเท้า

นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจบริเวณข้อเท้าเพื่อหาความผิดปกติอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น อาการอุ่น แดง บวม กดเจ็บ หรืออาการข้อต่อหลวม เป็นต้น โดยแพทย์อาจเลือกใช้วิธีทดสอบเพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง หรืออาจใช้หลายวิธีวินิจฉัยร่วมกัน ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่กรณีและดุลยพินิจของแพทย์ หากแพทย์สงสัยว่าข้อเท้าหัก แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ ต่อไป เช่น การเอกซเรย์ข้อเท้า เป็นต้น

การรักษาอาการปวดข้อเท้า

หากอาการปวดข้อเท้าที่ปรากฏไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยอาจรักษาอาการปวดข้อเท้าได้ด้วยตนเองตามวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • พักข้อเท้า พักการใช้งานข้อเท้าสัก 2–3 วัน และหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักบนข้อเท้า ซึ่งอาจใช้ไม้ค้ำหรือไม้เท้าช่วยเดินเพื่อลดการทิ้งน้ำหนักลงบนข้อเท้า
  • ประคบเย็น หลังได้รับบาดเจ็บในระยะแรก อาจประคบเย็นด้วยการนำถุงน้ำแข็งวางบนข้อเท้าข้างที่ปวดครั้งละ 20 นาที และทิ้งช่วงไว้ประมาณชั่วโมงครึ่งก่อนประคบเย็นอีกครั้ง ซึ่งอาจทำ 3–5 ครั้ง/วัน เพื่อลดอาการบาดเจ็บ ปวด และบวม
  • ประคองข้อเท้า โดยใช้ผ้าพันแบบยืดพันบริเวณข้อเท้าเพื่อประคองข้อเท้าไว้ไม่ให้เคลื่อนมากไป แต่ห้ามพันแน่นจนเกินไป เพราะอาจทำให้เท้าชาและนิ้วเท้าเปลี่ยนเป็นสีคล้ำได้
  • ยกข้อเท้าให้อยู่สูง เมื่อต้องนั่งหรือนอน ให้ยกเท้าขึ้นสูงเหนือระดับหัวใจ โดยอาจใช้หมอนสัก 2 ใบมาหนุนรองไว้ใต้ข้อเท้า
  • ใช้ยารักษา อาจรับประทานยาลดปวดที่หาซื้อได้เอง เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน เป็นต้น
  • ทำกายบริหาร หากอาการเริ่มดีขึ้นแล้ว อาจใช้มือบริหารข้อเท้าไปในทิศทางต่าง ๆ เพื่อให้ข้อเท้าได้ขยับมากขึ้น และลดความเสี่ยงในการกลับมาปวดข้อเท้าอีกครั้ง ซึ่งควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญถึงความปลอดภัยก่อนเสมอ และหากปรากฏอาการเจ็บปวดขึ้นในระหว่างทำกายบริหาร ควรหยุดทำทันที

อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดข้อเท้ามีสาเหตุมาจากภาวะข้อต่ออักเสบ ผู้ป่วยจะไม่สามารถรักษาอาการปวดข้อเท้าได้ด้วยตนเอง ซึ่งแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้อาการปวดข้อเท้าแย่ลงกว่าเดิม ซึ่งอาจใช้เวลารักษาค่อนข้างนาน อาจเป็นเวลานานร่วมสัปดาห์หรือร่วมเดือน และแม้อาการต่าง ๆ เริ่มดีขึ้นจนใกล้หายดีแล้ว แต่การบาดเจ็บก็อาจทำให้ข้อเท้าไม่กลับไปแข็งแรงเหมือนปกติ จึงยังไม่ควรใช้งานข้อเท้าหรือทิ้งน้ำหนักลงข้อเท้ามากจนเกินไป

การป้องกันอาการปวดข้อเท้า

เนื่องจากอาการปวดข้อเท้าบางชนิดอย่างปวดข้อเท้าจากข้ออักเสบรูมาตอยด์อาจเป็นสาเหตุที่ป้องกันได้ยาก แต่อาการปวดข้อเท้าจากสาเหตุทั่วไปสามารถป้องกันได้ โดยการดูแลตนเองในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะการมีน้ำหนักตัวมากอาจส่งผลให้เกิดแรงกดที่ข้อเท้ามากเกินไป
  • เตรียมพร้อมร่างกายก่อนออกกำลังกาย โดยยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นข้อเท้า หรือสวมอุปกรณ์ช่วยพยุงข้อเท้าและแปะเทปกาวพยุงข้อเท้าไว้
  • หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อข้อเท้า โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อเท้าอย่างหนักจนเกินไป หรือมีแนวโน้มจะทำให้ข้อเท้าเกิดการบาดเจ็บ
  • หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูง และเลือกรองเท้าที่มีขนาดพอดีกับเท้า
  • หากข้อเท้าพลิกขณะกำลังทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ประคองข้อเท้าไว้โดยใช้อุปกรณ์ เช่น ผ้าพันแผลแบบยืด เฝือกลม หรืออุปกรณ์พยุงข้อเท้าชนิดผูกเชือก เป็นต้น