ประคบเย็น VS ประคบร้อน เลือกแบบไหนดี?

ประคบเย็นเป็นการปฐมพยาบาลที่ช่วยบรรเทาอาการปวดและอักเสบด้วยความเย็น แต่บางคนอาจเลือกใช้วิธีประคบร้อนแทน ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าการประคบเย็นกับประคบร้อนต่างกันอย่างไร และแบบไหนดีที่สุด

การประคบเย็นหรือประคบร้อนล้วนส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายส่วนที่ประคบเปลี่ยนไป ซึ่งอุณหภูมินั้นส่งผลต่อกลไกการทำงานได้หลายแบบ โดยความร้อนและความเย็นจากการประคบก็ให้ผลที่แตกต่างกัน บทความนี้จะพามาทำความรู้จักการประคบทั้งสองแบบและวิธีเลือกใช้ให้เหมาะสม

ประคบเย็น VS ประคบร้อน เลือกแบบไหนดี?

ความแตกต่างระหว่างการประคบเย็นและประคบร้อน

แม้ว่าจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้คล้ายกัน แต่การประคบทั้งสองแบบมีวิธีใช้ ข้อดี และข้อเสียที่ต่างกัน ดังนี้

การประคบเย็น

ความเย็นจากการประคบเย็นทำให้หลอดเลือดบริเวณที่ประคบหดตัวลง ส่งผลเลือดไหลมาบริเวณดังกล่าวได้น้อยลง ซึ่งช่วยลดอาการบวม อีกทั้งความเย็นยังช่วยรบกวนเส้นประสาทที่ทำให้รู้สึกปวดด้วยการแทนที่โดยความเย็น การประคบเย็นจึงช่วยให้รู้สึกปวดลดน้อยลงด้วย

การประคบเย็นเหมาะกับการรักษาอาการต่อไปนี้

  • การบาดเจ็บเฉียบพลันใน 48 ชั่วโมง เช่น อาการกล้ามเนื้อบาดเจ็บ อาการข้อเท้าแพลง และการบาดเจ็บบริเวณข้อต่อตามร่างกายจากการอุบัติเหตุ อย่างการหกล้ม หรือการถูกระแทกระหว่างเล่นกีฬา เป็นต้น
  • อาการปวด อักเสบ และบวมแดงที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน อย่างเอ็นอักเสบ (Tendonitis) ปวดแขน ปวดขา หรือปวดหัวไหล่
  • อาการเจ็บป่วยและบาดเจ็บอื่น ๆ เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ เลือดกำเดาไหล แผลจากของมีคม แผลจากถูกน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ที่ไม่รุนแรง เป็นต้น

การประคบเย็นสามารถทำได้หลายวิธี โดยทั่วไปที่เห็นกันจะเป็นการใช้ผ้าชุบน้ำเย็น ผ้าห่อถุงน้ำแข็ง หรือเจลเย็นสำหรับประคบมาประคบบริเวณที่บาดเจ็บหรือมีอาการปวด 10–20 นาที โดยสามารถประคบได้บ่อยเท่าที่ต้องการ แต่ควรเว้นระยะห่างของการประคบเย็นแต่ละครั้ง 45–60 นาที เพราะการประคบเย็นนานเกินไปอาจทำให้เส้นประสาทและเนื้อเยื่อผิวหนังเสียหาย

หากไม่มีอุปกรณ์ข้างต้นอาจใช้ถุงอาหารแช่แข็งที่ไม่ฉีกขาด หรือสิ่งของอื่น ๆ ที่มีความเย็นและสะอาดมาประคบ โดยให้นำผ้ามาห่ออีกชั้นก่อนแล้วค่อยประคบ ไม่ควรใช้น้ำแข็งประคบบนผิวหนังโดยตรงเพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อผิวหนังบาดเจ็บและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ข้อจำกัดของการประคบเย็น คือ ไม่เหมาะกับอาการแข็งตึงหรืออาการยึดบริเวณกล้ามเนื้อและข้อต่อ ผู้ที่มีปัญหาด้านเส้นประประสาท โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับการไหลเวียนเลือด และโรคในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะอาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่เป็นอันตราย

การประคบร้อน

ความร้อนจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดมาบริเวณที่ปวดหรือบาดเจ็บ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์กับอาการบาดเจ็บต่อไปนี้

  • อาการแข็งตึงของข้อต่อและกล้ามเนื้อ โดยความร้อนจะช่วยคลายอาการตึงของอวัยวะดังกล่าว
  • กระตุ้นการฟื้นฟูของกล้ามเนื้อจากการบาดเจ็บ
  • อาการปวดอื่น ๆ เช่น ปวดท้องประจำเดือน ปวดฟัน และปวดหน้าอกระหว่างให้นม เป็นต้น

การประคบร้อนทำได้ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาด แผ่นประคบร้อน หรือถุงน้ำร้อนห่อด้วยผ้าประคบลงบริเวณที่ปวดหรือบาดเจ็บและรอบ ๆ 15–20 นาที หากไม่มีอุปกรณ์ข้างต้นการอาบน้ำหรือแช่น้ำอุ่นก็อาจช่วยได้เช่นกัน 

ข้อควรระวังของการประคบร้อน คือ อุณหภูมิที่สูงเกินไปเพราะอาจทำให้ผิวไหม้ โดนลวก และบาดเจ็บรุนแรงขึ้นได้ ก่อนประคบร้อนจึงควรตรวจอุณหภูมิให้ไม่ร้อนจนเกินไป และไม่ควรประคบร้อนลงบนผิวหนังที่มีแผลเปิด รวมทั้งไม่ควรใช้การประคบร้อนในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังการบาดเจ็บ เพราะอาจทำให้อาการบาดเจ็บรุนแรงขึ้นได้

นอกจากนี้ การประคบร้อนไม่เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาเลือดออกมาผิดปกติ โรคผิวหนังอักเสบ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) โรคมะเร็งหรือเนื้องอก ปัญหาด้านเส้นประสาท โรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง และโรคในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดชนิดอื่น

จะเห็นได้ว่าการประคบเย็นและประคบร้อนมีข้อดี ข้อเสีย และจุดประสงค์การใช้ที่ต่างกัน จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าการประคบแบบไหนที่ดีที่สุด แต่ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการบาดเจ็บและอาการปวดที่เกิดขึ้น หากประคบแล้วอาการไม่ดีขึ้น รุนแรงขึ้น เป็นต่อเนื่องกันนาน หรือไม่แน่ใจในอาการ ควรไปพบแพทย์ แต่ถ้าได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะ มีอาการชาฉับพลัน เคลื่อนไหวอวัยวะไม่ได้หรือเคลื่อนไหวแล้วรู้สึกเจ็บอย่างรุนแรง ควรไปพบแพทย์ทันที