ประโยชน์และความเสี่ยงจากกลอย พืชผลใต้ดิน

กลอย (Wild Yam) เป็นพืชหัวที่งอกอยู่ใต้ดิน มีหลายสายพันธุ์ คนไทยนิยมนำมาทำขนมและของหวานเป็นส่วนใหญ่ นอกจากรสชาติและสัมผัสของกลอยที่ถูกใจผู้บริโภคแล้ว กลอยยังมีสารอาหารที่อาจช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงได้

ส่วนประกอบส่วนใหญ่ของกลอยคือสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและไขมัน แต่สารอาหารที่น่าสนใจและถูกนำไปศึกษาคือสารไดออสจีนิน (Diosgenin) ซึ่งเมื่อสกัดออกมาแล้วสามารถนำไปสังเคราะห์เป็นสารที่มีประโยชน์ชนิดอื่นได้ เช่น เอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และคนบางส่วนเชื่อว่าเอสโตรเจนที่ได้มาจากสารไดออสจีนินในกลอยอาจช่วยเสริมสุขภาพของผู้หญิงได้

ทั้งนี้ การบริโภคกลอยที่ไม่ได้ผ่านการปรุงหรือการเตรียมอย่างเหมาะสมอาจทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ เพราะนอกจากสารอาหารที่เป็นประโยชน์แล้ว กลอยยังแฝงไปด้วยสารพิษธรรมชาติ อย่างสารไดออสซิน (Dioscin) หรือสารไดออสโครีน (Dioscorine) ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยบทความนี้จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับประโยชน์และโทษจากกลอยให้มากขึ้น

ประโยชน์และความเสี่ยงจากกลอย พืชผลใต้ดิน

ประโยชน์ต่อสุขภาพที่คุณอาจได้จากกลอย

ในปัจจุบันมีการนำสารเอสโตรเจนที่สังเคราะห์มาจากสารไดออสจีนินในกลอยมาศึกษาทดลองเพื่อรักษาและบรรเทาปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการลดต่ำลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายของผู้หญิง โดยเฉพาะอาการของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง

สรรพคุณของกลอยต่อปัญหาของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนไม่ได้เพิ่งมีการพบในยุคปัจจุบัน เพราะในตำราการรักษาแบบแพทย์แผนจีนพบว่ามีการใช้กลอยเพื่อปรุงยาสำหรับบรรเทาอาการหมดประจำเดือนมาตั้งแต่อดีต

แต่จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้ทดสอบประสิทธิภาพของกลอยต่อระดับฮอร์โมนในร่างกายและอาการของภาวะดังกล่าว ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ภายหลังการใช้กลอยและสารสกัดจากกลอยเพื่อรักษาอาการหมดประจำเดือน

อีกทั้งงานวิจัยและการทดลองเกี่ยวกับสรรพคุณของกลอยยังมีน้อยและมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก จึงไม่สามารถสรุปหรือชี้ได้แน่ชัดว่ากลอยนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพผู้หญิงหรือไม่ รวมถึงสรรพคุณอื่น ๆ ที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นประโยชน์ของพืชหัวชนิดนี้ เช่น เพิ่มความจำ บำรุงสมอง บรรเทาอาการข้ออักเสบ บรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือน

แต่ถึงอย่างนั้น ปัจจุบันก็ยังมีการผลิตสินค้าที่สกัดจากกลอยออกวางขาย โดยอ้างสรรพคุณที่ยังไม่ได้รับการยืนยันแน่ชัด โดยเฉพาะการเสริมฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งหากใช้ไม่ถูกวิธีอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี

ด้วยเหตุนี้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้อาหารเสริม และรอผลการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์และโทษที่แน่ชัดของกลอยเพิ่มเติม โดยเฉพาะการศึกษาในมนุษย์

ความเสี่ยงจากการบริโภคกลอย

การบริโภคกลอยอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะต่อไปนี้

ภาวะเป็นพิษ

สารไดออสโครีน (Dioscorine) เป็นสารพิษตามธรรมชาติที่พบได้ในกลอยดิบ ปริมาณของสารไดออสโครีนจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหน้าฝนซึ่งเป็นช่วงที่กลอยออกดอก คนจึงมักหลีกเลี่ยงการเก็บเกี่ยวกลอยในช่วงดังกล่าวเพราะเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษชนิดนี้มาก และนิยมเก็บเกี่ยวกลอยในช่วงหน้าร้อนที่ปริมาณสารไดออสโครีนต่ำที่สุด

การได้รับสารไดออสโครีนจากกลอยเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ ส่งผลให้เกิดอาการใจสั่น เวียนหัว คันคอ คลื่นไส้อาเจียน ตัวซีด เหงื่อออก ตาพร่า และหมดสติ หากได้รับในปริมาณมากอาจทำให้ชักและเสียชีวิตได้

ด้วยเหตุนี้ ควรเลี่ยงการบริโภคกลอยในช่วงหน้าฝน และเลี่ยงไม่ให้เด็กบริโภคกลอยจะปลอดภัยที่สุด เพราะสารพิษจากกลอยอาจแพร่เข้าสู่ระบบร่างกายของเด็กได้เร็วกว่าผู้ใหญ่และเป็นอันตรายมากกว่า

ภาวะแพ้อาหาร

ภาวะแพ้อาหารจากการบริโภคกลอยพบได้น้อยและพบได้ในบางคนเท่านั้น ซึ่งภาวะนี้ไม่ได้เป็นผลจากการได้รับสารพิษแต่อย่างใด แต่เกิดจากการกลไกของร่างกายที่ตอบสนองต่อสารบางในกลอยมากกว่าปกติจนทำให้เกิดอาการแพ้

ซึ่งอาการแพ้พบได้ทั้งระดับที่ไม่รุนแรง รุนแรงปานกลาง และระดับที่เป็นอันตราย ดังนั้น หากพบอาการแพ้ เช่น ผื่นแดงตามร่างกาย ลมพิษ ผิวหนังบวม หน้าบวม ปากบวม คอบวม หายใจลำบากหรือหายใจมีเสียงหวีด คลื่นไส้อาเจียน หรือหน้ามืดภายหลังบริโภคกลอย ควรไปพบแพทย์ทันที

วิธีล้างพิษจากกลอย

การนำกลอยมาปรุงเป็นขนมหรืออาหารจำเป็นต้องล้างสารพิษไดออสโครีนออกให้หมดก่อนเพื่อป้องกันภาวะเป็นพิษ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

  • ปอกเปลือกกลอยออก แล้วฝานเป็นแผ่นบาง ๆ จากนั้นนำไปตากจนแห้ง
  • นำไปแช่ในน้ำ โดยเปิดให้น้ำไหลผ่านอย่างน้อย 1 วัน 1 คืน เพราะสารไดออสโครีนละลายได้ในน้ำ
  • นวดกลอยจนนุ่มแล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้งพอหมาด  จากนั้นนำไปแช่น้ำ ทำซ้ำขั้นตอนเดิมอีก 23 ครั้ง
  • นอกจากการแช่ในน้ำที่ไหลผ่าน สามารถแช่ในน้ำเกลือเข้มข้นเพื่อล้างพิษได้เช่นเดียวกัน โดยควรแช่อย่างน้อย 3 วัน และเปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ 

แต่ทางที่ดี ควรเลือกซื้อกลอยที่ผ่านการล้างสารพิษจากคนขายที่มีความชำนาญและเชื่อถือได้เท่านั้น และเพื่อความปลอดภัย ควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษ

สำหรับกลอยในรูปแบบอาหารเสริมนั้นยังพบได้น้อยในประเทศไทย แต่หากใครสนใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นี้ ควรศึกษาข้อมูลให้ดีและปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นม ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะเลือดออกผิดปกติ โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งมดลูก ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ (Endometriosis) และผู้ที่ใช้ยาฮอร์โมน