ประโยชน์ของพรีไบโอติกต่อสุขภาพช่องปาก

หลายคนอาจเคยได้ยินประโยชน์ของพรีไบโอติก (Prebiotics) ในแง่มุมเดิม แต่ส่วนน้อยที่จะรู้ว่าพรีไบโอติกก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพช่องปากเช่นกัน โดยมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรียชนิดดีในช่องปาก ปรับสมดุลแบคทีเรียในช่องปาก และอาจลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพในช่องปากได้ด้วย   

พรีไบโอติกเป็นใยอาหารประเภทหนึ่งที่ร่างกายของเราย่อยไม่ได้ แต่จัดเป็นแหล่งอาหารสำคัญที่ถูกย่อยโดยโพรไบโอติก (Probiotics) หรือแบคทีเรียชนิดดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยพรีไบโอติกมักพบมากในผัก ผลไม้ หรือสมุนไพร เช่น กล้วย ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง หัวหอม และใบโมโรเฮยะ (Moroheiya) 

ประโยชน์ของพรีไบโอติกต่อสุขภาพช่องปาก

พรีไบโอติกกับสุขภาพช่องปาก

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ในช่องปากของคนเรามีแบคทีเรียชนิดดีและไม่ดีอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ โดยแบคทีเรียชนิดดีจะทำหน้าที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย ช่วยต่อสู้และป้องกันแบคทีเรียชนิดไม่ดี 

หากจำนวนแบคทีเรียชนิดดีน้อยลงจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ไม่ดูแลรักษาเหงือกและฟัน ปากแห้ง หรือมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจทำให้แบคทีเรียชนิดไม่ดีเพิ่มจำนวนขึ้นจนสมดุลภายในช่องปากเสียไป และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น กลิ่นปาก ฟันผุ คราบพลัค โรคเหงือก หรือโรคปริทันต์

เชื่อว่าพรีไบโอติกมีบทบาทสำคัญในการปรับสมดุลภายในช่องปาก โดยเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญแบคทีเรียชนิดดี จึงมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของแบคทีเรียชนิดดี เมื่อแบคทีเรียชนิดดีมีจำนวนเพิ่มขึ้นก็จะช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียช่องปาก และอาจลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพภายในช่องปากได้

บทบาทของพรีไบโอติกที่มีต่อช่องปากนี้ยังจำเป็นต้องผ่านการศึกษาวิจัยในระยะยาว เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวพรีไบโอติกภายในช่องปาก และช่วยยืนยันประสิทธิภาพของพรีไบโอติกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

วิธีดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกต้อง

สุขภาพช่องปากที่ดีสร้างได้ด้วยการหมั่นดูแลรักษาความสะอาดภายในช่องปากอย่างเหมาะสม เพียงเริ่มต้นจากการแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนนอน โดยให้แปรงครั้งละอย่างน้อย 2 นาที แต่ไม่ควรแปรงฟันแรงเกินไป เพราะอาจทำให้มีปัญหาบริเวณเหงือกหรือเสียวฟัน และควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดตามซอกฟันเพิ่มเติม

อีกสิ่งที่ขาดไปไม่ได้และควรใส่ใจในการเลือกซื้อก็คือยาสีฟัน ผู้ใช้ควรเลือกยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ (Fluoride) เพราะจะช่วยป้องกันฟันผุและเสริมสร้างฟันให้แข็งแรง ปริมาณฟลูออไรด์ที่แนะนำจะอยู่ที่ 1,000–1,500 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ส่วนปริมาณยาสีฟันที่ใช้จะขึ้นอยู่กับช่วงอายุของผู้ใช้ จึงควรอ่านฉลากบรรจุภัณฑ์ก่อนเสมอ

นอกจากฟลูออไรด์แล้ว ยาสีฟันบางยี่ห้อยังมีส่วนผสมอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพช่องปากและฟันเข้าไปด้วย เพื่อช่วยให้เราดูแลสุขภาพช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

  • สมุนไพรที่อุดมด้วยพรีไบโอติก เช่น สารสกัดจากใบโมโรเฮยะที่มีการศึกษาพบว่าช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรีย โดยเพิ่มการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดดี หากเป็นยาสีฟันสมุนไพรสูตรเข้มข้นควรใช้ในปริมาณน้อยหรือตามฉลากแนะนำ ซึ่งการใช้เพียงนิดเดียวก็ช่วยให้ปากสะอาดได้แล้ว บางสูตรยังมีกลิ่นของสมุนไพรเข้มข้น และปราศจากความเผ็ดแสบในปากหลังแปรงฟันด้วย
  • เกลือชนิดเข้มข้นสูง (Hypertonic Salt) อาจมีส่วนช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียและคราบพลัคภายในช่องปาก ทำให้ปัญหาเกี่ยวกับกลิ่นปากและฟันผุลดลง
  • สารขัดผิวฟันมีคุณสมบัติช่วยขัดคราบสกปรกที่เกาะอยู่บนผิวฟันให้หลุดออกไปได้ มักพบในยาสีฟันสูตรฟันขาวที่หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าใช้สารฟอกขาวเป็นตัวฟอกฟัน

นอกจากนี้ การเลือกใช้ยาสีฟันสูตรต่าง ๆ ควรอ่านส่วนผสมและเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ และผ่านมาตรฐานจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว แพ้สมุนไพร หรือสารบางชนิดในยาสีฟัน

การดูแลช่องปากให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอยังรวมไปถึงการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตด้วย ไม่ว่าจะเป็นหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากกับทันตแพทย์ทุก 6 เดือน

หากพบสัญญาณของปัญหาสุขภาพภายในช่องปาก เช่น เลือดออกตามไรฟัน ฟันผุ มีกลิ่นปากเรื้อรัง เหงือกร่น มีแผลในปากที่ไม่ยอมหายไป ปวดฟัน หรือมีอาการบวมบริเวณกราม ควรไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด 14 พฤศจิกายน 2565
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. กิติยา สันติพาณิชย์วงศ์ 

เอกสารอ้างอิง 

  • Lee, et al. (2021). Characterization, prebiotic and immune-enhancing activities of rhamnogalacturonan-I-rich polysaccharide fraction from molokhia leaves. International journal of biological macromolecules, 175, pp. 443–450.
  • Nanavati, et al. (2021). Effect of Probiotics and Prebiotics on Oral Health. Dental Journal of Advance Studies 2021, 9(1), pp. 1–6.    
  • Rastogi, et al. (2011). Probiotics and oral health. National journal of maxillofacial surgery, 2(1), pp. 6–9.
  • กระทรวงสาธารณสุข (2022). กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย. กรมอนามัย แนะใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์พอดีตามช่วงวัย ไม่มีอันตราย ป้องกันฟันผุ.
  • มหาวิทยาลัยมหิดล (2022). คณะทันตแพทยศาสตร์. มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนางานวิจัยสู่… สิรินเด้นท์ ยาสีฟันสมุนไพรน้ำมันมะพร้าว มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในช่องปากที่ก่อให้เกิดฟันผุ เหงือกอักเสบ ลดกลิ่นปาก และลดอาการปากแห้ง ช่วยดูแลสุขภาพของช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ (วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๕) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี. 
  • มหาวิทยาลัยมหิดล (2021). คณะทันตแพทยศาสตร์. การแปรงฟันถูกวิธี.
  • นราวัลลภ์ เชี่ยววิทย์. มหาวิทยาลัยมหิดล (2020). งานทันตกรรม โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. ฟลูออไรด์.
  • สุธารัตน์ ชัยเฉลิมศักดิ์. มหาวิทยาลัยมหิดล (2017). โรงพยาบาลทันตกรรมมหาจักรีสิรินธร คณะทันตแพทยศาสตร์. เสียวฟัน.
  • Harvard T.H. Chan School of Public Health. The Microbiome.
  • Cleveland Clinic (2022). Oral Hygiene. 
  • Cleveland Clinic (2020). Dental Plaque.
  • Cleveland Clinic (2020). Probiotics.
  • Grangerland Dental. Can I Use Salt to Brush My Teeth?.
  • Mayo Clinic (2021). Oral Health: A Window to  Your Overall Health.
  • Mayo Clinic (2021). Prebiotics, Probiotics and Your Health.
  • Drugs (2022). Moroheiya Leaf.
  • Lewis, S. Healthline (2020). Probiotics and Prebiotics: What’s the Difference?. 
  • Lin, S. Verywell Health (2022). Make Your Own Salt Water Rinse.
  • Brown, S. WebMD (2022). Can Probiotics Help With Gum Disease?.
  • Mikstas, Ch. WebMD (2022). What Are Probiotics?.
  • Parker, H. WebMD (2021). Weighing Your Toothpaste Options.