น้ำลายเทียม (Artificial Saliva)

น้ำลายเทียม (Artificial Saliva)

น้ำลายเทียม (Artificial Saliva) เป็นสารทดแทนน้ำลายที่ใช้เพื่อช่วยสร้างน้ำลายในภาวะที่ร่างกายไม่สามารถผลิตน้ำลายออกมาได้มากเพียงพอ โดยนำมารักษาภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย (Xerostomia) ภาวะเยื่อเมือกอักเสบ (Mucositis) และช่วยบรรเทาอาการปากหรือคอแห้ง เจ็บ หรือระคายเคืองจากโรคบางชนิด จากการผ่าตัด การทำเคมีบำบัด หรือการฉายรังสี นอกจากนี้ อาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

1801 น้ำลายเทียม rs

น้ำลายเทียมมีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น ผู้ใช้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

เกี่ยวกับ น้ำลายเทียม

กลุ่มยา สารกระตุ้นและทดแทนน้ำลาย
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อใช้ได้เอง
สรรพคุณ รักษาภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย และเยื่อเมือกอักเสบ
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาชนิดสเปรย์ ยาชนิดสารละลาย ยาป้าย ยาผง ยาอม ยาเม็ด

คำเตือนในการใช้น้ำลายเทียม

  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำลายเทียมหากมีประวัติแพ้ส่วนประกอบของน้ำลายเทียมที่ระบุไว้บนฉลาก
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพรใด ๆ เพราะมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับน้ำลายเทียม
  • ห้ามให้เด็กใช้น้ำลายเทียมโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้น้ำลายเทียม
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ตามฉลากอย่างเคร่งครัด ซึ่งน้ำลายเทียมมีรูปแบบและยี่ห้อที่หลากหลาย และมีรายละเอียดการใช้ที่แตกต่างกัน จึงควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนใช้เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มประมาณ 15 นาทีหลังจากใช้น้ำลายเทียม
  • หากน้ำลายเทียมเข้าตา ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาด

ปริมาณในการใช้น้ำลายเทียม

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้น้ำลายเทียม ดังนี้

เยื่อเมือกอักเสบ

ผู้ใหญ่ สำหรับใช้ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี ให้ใช้น้ำลายเทียม 4 ครั้ง/วัน หรือในกรณีที่มีอาการปวด อาจต้องใช้มากถึง 10 ครั้ง/วัน หรือใช้ตามที่แพทย์สั่ง

ภาวะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย

ผู้ใหญ่

  • ใช้ยาชนิดสเปรย์ 3-4 ครั้ง/วัน หรือใช้ยาบ้วนปาก 2-10 ครั้ง/วัน หรือตามที่แพทย์สั่ง
  • ใช้ยาอมเมื่อต้องการ โดยปล่อยให้ยาละลายอย่างช้า ๆ และควรให้ยาสัมผัสทั่วปากเพื่อให้ได้ผลดี อาจใช้ยาซ้ำตามต้องการ แต่ห้ามใช้เกิน 16 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
  • ใช้ยาชนิดเจลโดยใส่ยาขนาดประมาณ 1 นิ้ว ลงบนลิ้นบริเวณรอบ ๆ ฟันและเหงือก ห้ามบ้วนยาออก และใช้ตามที่แพทย์สั่ง

เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป ใช้ยาชนิดสเปรย์ 1-2 ครั้ง โดยใช้ปริมาณสูงสุด 30-60 ครั้ง/วัน ส่วนยาชนิดเจลให้ใช้ยาขนาดประมาณ 1 นิ้ว ทาลงบนลิ้นและบริเวณรอบ ๆ ฟันและเหงือก โดยห้ามล้างออก หรือใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง

การใช้น้ำลายเทียม

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ห้ามให้น้ำลายเทียมเข้าตาและห้ามกลืน โดยให้ใช้ภายในปากเท่านั้น
  • ให้กลั้วน้ำลายเทียมชนิดน้ำยาบ้วนปากหรือชนิดสารละลายอื่น ๆ ในปากด้วยปริมาณเพียงเล็กน้อยเป็นระยะเวลาประมาณ 30 วินาทีแล้วบ้วนทิ้ง
  • หากเป็นน้ำลายเทียมชนิดผง ต้องผสมกับน้ำประมาณ 30 มิลลิลิตรก่อนใช้ โดยคนให้เข้ากันและใช้ทันทีจนหมด แม้ต้องกลั้วปาก 2 หรือ 3 ครั้งก็ตาม และห้ามเก็บน้ำลายเทียมที่ผสมแล้วเอาไว้เพื่อใช้ครั้งต่อไป
  • หากใช้น้ำลายเทียมชนิดสเปรย์ ให้ค่อย ๆ เขย่าขวดก่อนใช้ และใช้พ่นตรงเข้าไปในปากและบนลิ้น
  • สามารถอมน้ำลายเทียมชนิดเม็ดหรือยาอมไว้ในปากได้เป็นระยะเวลานานแม้ขณะนอนหลับ โดยบางชนิดอาจกดไว้ที่ฟันหรือเหงือกได้
  • หากเป็นน้ำลายเทียมชนิดเจล ยาป้าย หรือยากวาด อาจใช้โดยตรงลงบนเหงือก ลิ้น ฟัน หรือด้านข้างปาก
  • ความถี่ในการใช้ยาอาจขึ้นอยู่กับภาวะทางสุขภาพหรือตารางการใช้ยาชนิดอื่น ๆ ของผู้ป่วยด้วย
  • การใช้น้ำลายเทียมระหว่างที่ทำเคมีบำบัดหรือฉายรังสี ผู้ป่วยอาจต้องใช้น้ำลายเทียมมากถึง 10 ครั้ง/วันก่อนหรือหลังวันที่ทำการรักษา โดยให้ใช้ยาอย่างระมัดระวังหรือใช้ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • การใช้น้ำลายเทียมอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษานอกเหนือจากการรักษาสุขภาพช่องปากแบบอื่น ๆ ตามที่แพทย์แนะนำ
  • หากลืมใช้ตามเวลาที่กำหนด ให้ใช้ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้รอบต่อไป ห้ามเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า
  • หากสงสัยว่าตนใช้น้ำลายเทียมมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • เก็บบรรจุภัณฑ์น้ำลายเทียมตามที่ฉลากได้ระบุไว้ โดยควรเก็บให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด

ผลข้างเคียงจากการใช้น้ำลายเทียม

การใช้น้ำลายเทียมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้น้อย เช่น พูดไม่ชัด รับรู้รสชาติเปลี่ยนแปลงไป การย่อยอาหารผิดปกติ และกลืนอาหารลำบาก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรง ควรไปพบแพทย์ทันที เช่น อาการแพ้ยา ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม หรือคอบวม เป็นต้น นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน