นิ่วทอนซิล

ความหมาย นิ่วทอนซิล

นิ่วทอนซิล (Tonsillolith/Tonsil Stones) คือ การรวมตัวของแบคทีเรียและเซลล์ที่ตายแล้ว มีลักษณะเป็นก้อนสีเหลืองหรือสีขาวบริเวณต่อมทอนซิล มีขนาดเท่ากับเมล็ดข้าวหรือเมล็ดถั่ว ยากต่อการมองเห็น นิ่วทอนซิลไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย แต่อาจทำให้เกิดกลิ่นปาก ความระคายเคือง หรือทำให้ต่อมทอนซิลบวมได้

นิ่วทอนซิล

อาการของนิ่วทอนซิล

นิ่วทอนซิลเกิดขึ้นได้ในคนทั่วไป โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาทอนซิลอักเสบเรื้อรัง มักไม่มีอาการรุนแรง แต่อาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการต่าง ๆ ต่อไปนี้

  • กลิ่นปาก เป็นองค์ประกอบสำคัญในการบ่งบอกถึงอาการนิ่วทอนซิล ซึ่งอาจแสดงถึงการติดเชื้อด้วยเช่นกัน
  • เจ็บคอ นิ่วทอนซิลมักก่อให้เกิดการระคายเคืองและเจ็บคอ หากนิ่วเกิดขึ้นร่วมกับทอนซิลอักเสบอาจยากสำหรับการวินิจฉัยว่าการเจ็บคอนั้นเกิดจากการติดเชื้อของทอนซิลหรือนิ่วทอนซิล
  • การกลืนอาหารลำบาก มักขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของนิ่ว ซึ่งอาจสร้างความยากลำบากหรือความเจ็บปวดระหว่างการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มได้
  • มีก้อนสีขาว นิ่วทอนซิลมองเห็นได้บริเวณหลังช่องคอ แต่บ่อยครั้งที่นิ่วมักซ่อนตัวอยู่ในต่อมทอนซิล จึงทำให้ยากต่อการมองเห็น  ในบางกรณีอาจใช้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อช่วยในการวินิจฉัย
  • ทอนซิลบวม การอักเสบจากการติดเชื้อหรือนิ่วจับตัวแข็งเป็นก้อนอาจทำให้ต่อมทอนซิลมีขนาดใหญ่และบวมขึ้น
  • เจ็บบริเวณหู นิ่วทอนซิลเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณของต่อมทอนซิลและอาจทำให้เจ็บหู ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบของทางเดินประสาทร่วมระหว่างหูและต่อมทอนซิล

สาเหตุของนิ่วทอนซิล

นักวิจัยสันนิษฐานว่าผู้ที่มีอาการทอนซิลอักเสบหลายครั้งมีความเสี่ยงสูงในการเกิดนิ่วทอนซิล เนื่องจากการติดเชื้อของทอนซิลทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อส่วนเกินมากขึ้น และเนื้อเยื่อเหล่านี้อาจก่อตัวเป็นซอกและร่องในต่อมทอนซิน จึงทำให้เซลล์ที่ตายแล้ว น้ำลาย และเศษอาหารต่าง ๆ ติดอยู่จนเกิดการรวมตัวของแบคทีเรียและเชื้อราที่ส่งกลิ่นเหม็น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะค่อย ๆ จับตัวกันเป็นก้อนแข็งที่เรียกว่านิ่ว ผู้ป่วยบางรายอาจมีนิ่วทอนซิลเพียง 1 ก้อน ในขณะที่รายอื่น ๆ อาจมีนิ่วทอนซิลก้อนเล็ก ๆ จำนวนมาก ซึ่งสาเหตุของนิ่วทอนซิลเกิดจาก

  • การรักษาความสะอาดช่องปากที่ไม่เพียงพอ
  • ต่อมทอนซิลที่มีขนาดใหญ่
  • ปัญหาไซนัสเรื้อรัง

การวินิจฉัยนิ่วทอนซิล

แพทย์มักวินิจฉัยนิ่วทอนซิลโดยการใช้มือตรวจในช่องคอ และบางกรณีอาจใช้ภาพเอกซเรย์ (X-Ray) หรือภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย

การรักษานิ่วทอนซิล

ปกติแล้วผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ แต่หากนิ่วทอนซิลมีขนาดใหญ่หรือมีอาการต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บคอ มีกลิ่นปาก ต่อมทอนซิลบวมอักเสบ หรือปัญหาในการกลืนอาหาร ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องรักษานิ่วทอนซิล

การรักษานิ่วทอนซิลทำได้ดังนี้

  • การรักษาด้วยตนเอง
    • การบ้วนปาก การบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ โดยใช้เกลือประมาณ ½ ถึง ¼ ต่อน้ำอุ่นประมาณ 230 มิลลิลิตรจะช่วยลดการระคายเคืองในช่องคอและอาจช่วยให้นิ่วทอนซิลหลุดออกได้
    • การไอ การไอแรง ๆ เพียงหนึ่งครั้งอาจทำให้นิ่วทอนซิลหลุดออก
    • การใช้เครื่องมือ อาจต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เครื่องมือในการแคะนิ่วออกด้วยตนเอง เช่น สำลีก้านหรือแปรงสีฟัน เนื่องจากต่อมทอนซิลมีเนื้อเยื่อที่บอบบางจึงอาจทำให้เกิดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนได้
  • การรักษาด้วยกระบวนการทางการแพทย์
    • การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ (Laser Tonsil Cryptolysisกระบวนการนี้จะใช้เลเซอร์เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อบริเวณที่มีนิ่วทอนซิลโดยใช้การวางยาชาเฉพาะที่ การผ่าตัดชนิดนี้ทำให้ต่อมทอนซิลเกิดการระคายเคืองและต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวเล็กน้อย
    • การผ่าตัดแบบโคเบลชั่น (Coblation Cryptolysisการผ่าตัดชนิดนี้จะใช้คลื่นรังสีในการเปลี่ยนสารละลายกลุ่มโซเดียมให้เป็นไอออน เพื่อช่วยในการตัดเนื้อเยื่อ ซึ่งคล้ายกับการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ แต่การผ่าตัดชนิดนี้จะไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกระคายเคืองดังที่เกิดขึ้นในการใช้เลเซอร์
    • การผ่าตัดต่อมทอนซิล (Tonsillectomyการผ่าตัดต่อมทอนซิลทำได้หลายวิธีทั้งโดยการใช้มีด เลเซอร์ หรือเครื่องโคเบลชั่น (Coblation Device) แพทย์มักเลือกใช้การผ่าตัดต่อมทอนซิลสำหรับกรณีที่อาการรุนแรง เรื้อรัง หรือรักษาไม่หายขาดเท่านั้น
    • การใช้ยาปฏิชีวนะ ในบางกรณีจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาเพื่อช่วยลดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเกิดและเติบโตของนิ่ว อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะในระยะยาว เนื่องจากยาประเภทนี้ไม่สามารถรักษาต้นเหตุของการเกิดนิ่วทอนซิลได้และอาจมีผลข้างเคียง

สำหรับคนที่มีอาการทอนซิลอักเสบเรื้อรัง วิธีการเดียวที่จะช่วยป้องกันนิ่วทอนซิลได้คือการผ่าตัดต่อมทอนซิล (Tonsillectomy) โดยการนำเนื้อเยื่อของทอนซิลออกทั้งหมดเพื่อลดการก่อตัวของนิ่ว วิธีการนี้ต่างจากการผ่าตัดนิ่วทอนซิลชนิดอื่นๆ เนื่องจากแพทย์ต้องวางยาสลบผู้ป่วย และผู้ป่วยจะมีอาการกลืนอาหารลำบากและเจ็บคอประมาณ 3-4 วันภายหลังการผ่าตัด โดยระยะเวลาในการฟื้นตัวหลังผ่าตัดจะมีความแตกต่างกันไป ซึ่งอาจใช้เวลาตั้งแต่ 10 วันไปจนถึงสองสัปดาห์ขึ้นอยู่กับปริมาณเนื้อเยื่อที่เอาออกและร่องรอยจากการผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อนของนิ่วทอนซิล

โดยทั่วไปแล้วนิ่วทอนซิลมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่การแคะหรือดันนิ่วทอนซิลออกด้วยตนเองโดยการใช้สำลีก้านหรือแปรงสีฟันอาจทำลายต่อมทอนซิลได้ นิ่วที่ทำให้ต่อมทอนซิลติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออก ติดเชื้อ เป็นต้น

การป้องกันนิ่วทอนซิล

สำหรับคนทั่วไปมีวิธีป้องกันที่ปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะ ช้อนส้อม และแปรงสีฟันร่วมกับผู้มีอาการทอนซิลอักเสบ
  • ดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ โดยการแปรงฟันและเน้นการแปรงที่บริเวณหลังลิ้น
  • งดสูบบุหรี่
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ วิธีนี้จะช่วยลดการก่อตัวของนิ่วและกลิ่นปาก
  • ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมตามความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
  • ปรึกษาแพทย์เมื่อพบความผิดปกติของต่อมทอนซิล