ทำความสะอาดรีเทนเนอร์อย่างไรให้ถูกต้อง

การทำความสะอาดรีเทนเนอร์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่สวมใส่ เพราะการใส่รีเทนเนอร์ในช่องปากเป็นเวลานานมักเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย คราบพลัค (Plaque) และหินปูน จึงจำเป็นต้องทำความสะอาดเป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์และการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก

รีเทนเนอร์ (Retainer) เป็นเครื่องมือทางทันตกรรมที่ทำขึ้นตามรูปฟันของแต่ละคน เพื่อคงสภาพของฟันไม่ให้เคลื่อนตัวกลับหลังจัดฟัน ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโครงหน้า ในบางกรณีจะใช้รักษาความผิดปกติของช่องปาก เช่น ภาวะลิ้นดุนฟัน (Tongue Thrust) ซึ่งทำให้ฟันหน้ายื่นและลิ้นลอดออกมาจากฟันหน้าขณะพูด และภาวะความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกรที่อาจเกิดจากการนอนกัดฟันหรือการสบฟันผิดปกติ 

ทำความสะอาดรีเทนเนอร์อย่างไรให้ถูกต้อง

วิธีทำความสะอาดรีเทนเนอร์

ทันตแพทย์แนะนำให้ทำความสะอาดรีเทนเนอร์เป็นประจำทุกวัน ซึ่งรีเทนเนอร์มีอยู่ 2 รูปแบบหลัก แต่ละแบบมีวิธีทำความสะอาดที่แตกต่างกัน ดังนี้

รีเทนเนอร์ชนิดถอดออกได้ (Removable Retainers)

รีเทนเนอร์ชนิดถอดออกได้เป็นชนิดที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากดูแลรักษาง่าย ได้แก่ รีเทนเนอร์แบบลวด (Traditional หรือ Hawley Retainers) ที่มีโครงเป็นพลาสติกหรืออะคริลิกบริเวณเพดานปากและมีส่วนที่ยึดฟันเป็นลวดที่ล้อมฟันเอาไว้ และรีเทนเนอร์แบบใส (Clear Retainers) ซึ่งมีลักษณะเป็นพลาสติกใสครอบฟันโดยรอบทั้งด้านในและด้านนอก โดยจะไม่มีส่วนครอบเพดานปาก

สำหรับวิธีทำความสะอาดโดยทั่วไป ควรทำความสะอาดรีเทนเนอร์ทันทีที่ถอดออก หากปล่อยให้รีเทนเนอร์แห้งจะทำความสะอาดได้ยากขึ้น โดยใช้แปรงสีฟันขนนุ่มจุ่มน้ำสะอาดแปรงรีเทนเนอร์เบา ๆ หลังรับประทานอาหาร หากต้องการทำความสะอาดเพิ่มเติมอาจผสมน้ำและน้ำยาล้างจานสูตรอ่อนโยนเล็กน้อย แต่ไม่ควรใช้ยาสีฟัน เนื่องจากอาจกัดกร่อนผิววัสดุของรีเทนเนอร์ได้ 

นอกจากนี้ อาจใช้คอตตอนบัดเช็ดทำความสะอาดในจุดที่แปรงสีฟันเข้าไม่ถึง เพื่อกำจัดเศษอาหารและหินปูนที่เกาะอยู่บนรีเทนเนอร์ ทั้งนี้ ควรปรึกษาทันตแพทย์ในการใช้เม็ดฟู่ทำความสะอาดรีเทนเนอร์ โดยแช่เม็ดฟู่ในน้ำอุ่น 1 แก้ว และไม่ควรแช่ทิ้งไว้นานเกินไป เพราะอาจทำให้รีเทนเนอร์ส่วนที่เป็นลวดเสียหาย โดยอ่านจากคำแนะนำที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ 

หากมีคราบหินปูนเกาะแน่นและไม่สามารถทำความสะอาดได้เอง ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อใช้สารสำหรับขัดคราบหินปูนออกโดยเฉพาะ

รีเทนเนอร์ชนิดติดแน่น (Fixed Retainers)

รีเทนเนอร์ชนิดนี้เป็นอุปกรณ์ที่ยึดติดอยู่กับฟันตลอดเวลา ไม่สามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้ จึงควรใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันอย่างสม่ำเสมอ โดยดึงไหมขัดฟันขึ้นและลงระหว่างซี่ฟันให้ถึงบริเวณขอบเหงือกด้วย หากมีข้อสงสัยหรือปัญหาในการทำความสะอาดรีเทนเนอร์ชนิดติดแน่น ควรปรึกษาทันตแพทย์

เคล็ด (ไม่) ลับในการทำความสะอาดรีเทนเนอร์

นอกจากวิธีทำความสะอาดข้างต้น มีข้อควรรู้ในการทำความสะอาดรีเทนเนอร์ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการวางรีเทนเนอร์ชนิดถอดออกได้ไว้ใกล้บริเวณที่มีความร้อน เช่น แช่น้ำร้อน วางทิ้งไว้ในรถ วางใกล้เตาอบ ไมโครเวฟ กาน้ำร้อน เครื่องล้างจาน และไดร์เป่าผม เนื่องจากรีเทนเนอร์แบบลวดและแบบใสมีส่วนที่ทำจากพลาสติก เมื่อโดนความร้อนอาจโค้งงอได้
  • ไม่ควรใช้มือดัดงอรีเทนเนอร์ หรือใช้ลิ้นดันรีเทนเนอร์ไปมาขณะสวมใส่ เพราะอาจทำให้รีเทนเนอร์ผิดรูปเสียหาย ส่งผลต่อการคงสภาพฟัน
  • ไม่เคี้ยวหมากฝรั่งขณะใส่รีเทนเนอร์
  • หลีกเลี่ยงการทำความสะอาดรีเทนเนอร์ด้วยน้ำยาที่มีส่วนผสมของสารเคมี เช่น น้ำยาบ้วนปาก และน้ำยาทำความสะอาดฟันปลอม 
  • เก็บรีเทนเนอร์ที่ทำความสะอาดแล้วลงในกล่องให้เรียบร้อย เก็บให้พ้นจากสัตว์เลี้ยงที่อาจกัดแทะรีเทนเนอร์ และไม่ควรเก็บใส่กระเป๋าเสื้อหรือห่อกระดาษทิชชู่ เพราะรีเทนเนอร์มีโอกาสหักงอ หรืออาจเผลอวางทิ้งไว้ได้
  • ทำความสะอาดกล่องใส่รีเทนเนอร์ด้วยน้ำอุ่นและสบู่อ่อน ๆ วันละ 1 ครั้ง เช็ดกล่องให้แห้งก่อนนำรีเทนเนอร์มาเก็บ
  • เปลี่ยนรีเทนเนอร์ใหม่เมื่อครบอายุการใช้งาน หรือตามที่ทันตแพทย์แนะนำ โดยทั่วไปรีเทนเนอร์แบบลวดมักมีอายุประมาณ 5–10 ปี และรีเทนเนอร์แบบใสมักมีอายุไม่เกิน 2–3 ปี

การทำความสะอาดรีเทนเนอร์เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยืดอายุการใช้งานของรีเทนเนอร์ และป้องกันการสะสมของสิ่งสกปรกและแบคทีเรียซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อในช่องปาก หากสังเกตว่ารีเทนเนอร์หลวม ใส่ไม่พอดีกับรูปฟัน หัก หรือทำหาย ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อทำรีเทนเนอร์ใหม่ เพราะการใส่รีเทนเนอร์ที่ชำรุดหรือไม่ได้ใส่รีเทนเนอร์อาจส่งผลต่อการรักษาและคงสภาพฟันได้