ทำความรู้จักกัญชง พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่ควรศึกษา

รู้หรือไม่ว่า กัญชงกำลังจะเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไปสามารถผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองได้หลังยื่นขออนุญาตอย่างถูกต้องตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 นี่จึงถือเป็นก้าวใหม่ของการนำกัญชงมาสร้างมูลค่าเพิ่มหรือใช้ในด้านที่หลากหลายยิ่งขึ้น 

แต่ก่อนจะนำกัญชงไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อาทิ การศึกษา การแพทย์ การใช้งานหรือเพิ่มมูลค่าในระดับครัวเรือนและอุตสาหกรรม หรือการปลูกและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ หน่วยงานหรือบุคคลที่สนใจปลูกหรือนำเข้ากัญชงต้องผ่านการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย. กระทรวงสาธารณสุขเป็นอันดับแรก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีข้อจำกัดในการใช้กัญชงที่ควรระมัดระวังอีกมาก มิฉะนั้นอาจขัดต่อข้อกฏหมาย บทความนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้กัญชงให้กับทุกคนมากขึ้น

Cannabis,Of,The,Formula,Cbd,Cannabidiol.,Concept,Of,Using,Marijuana

กางข้อมูลเกี่ยวกับกัญชงก่อนใช้จริง

หากพูดถึงกัญชง หลายคนคงจำสลับกับกัญชา แต่แท้จริงแล้ว พืชทั้งสองชนิดนี้มาจากตระกูลเดียวกัน โดยจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น ความสูงของลำต้น สีและขนาดของใบ ลักษณะของปล้องและเปลือก รวมไปถึงปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol: THC) ที่มีฤทธิ์ทำให้เคลิบเคลิ้ม มีความสุขหรือเมา และเสี่ยงต่อการเสพติด โดยกัญชงจะมีปริมาณสาร THC ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกัญชา และสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol: CBD) ที่ไม่มีฤทธิ์ทำให้เคลิบเคลิ้มและมีประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งจะพบได้มากในกัญชง    

อย่างที่ทราบกันดี ประเทศไทยกำหนดให้กัญชงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เช่นเดียวกันกับกัญชา แม้จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจแล้วก็ไม่ได้หมายความว่า หน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับอนุญาตจะสามารถนำทุกส่วนของพืชชนิดนี้มาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้อย่างเสรี เนื่องจากมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ถูกยกเว้นจากการเป็นยาเสพติด และนำมาใช้ได้โดยไม่ผิดกฏหมาย ซึ่งจะครอบคลุมเฉพาะกัญชงที่อนุญาตให้ปลูกหรือผลิตในประเทศเท่านั้น ได้แก่

  • ใบที่ไม่มียอดหรือกับช่อดอกติดมาด้วย 
  • กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก เส้นใย 
  • สารสกัดที่มีสาร CBD และสารสกัดที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก 
  • เมล็ดกัญชง น้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง 

ในส่วนของกัญชงที่นำเข้าได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษจะหมายถึง ส่วนที่เป็นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง และเส้นใยแห้งเท่านั้น ส่วนอื่นนอกเหนือจากนี้จะเป็นถือยาเสพติด ซึ่งต้องขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกวิธีและดำเนินการตามกฏหมายยาเสพติดให้โทษอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม การนำกัญชงมาใช้เป็นสารเสพติด และการปลูก จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกกัญชงโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากกระทรวงสาธารณสุขต้องเสียค่าปรับสูงสุดไม่เกิน 1,500,000 บาท และระวางโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 15 ปี 

ประโยชน์ของกัญชง

กัญชงส่วนใหญ่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอต่าง ๆ เป็นหลัก เนื่องจากเส้นใยที่ได้จากกัญชงมีคุณภาพสูง และยังถูกนำไปพัฒนาเป็นยา อาหารหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น โปรตีนและน้ำมันจากเมล็ดกัญชง กระดาษ ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ตำรับยาแผนไทย อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง พลาสติก ฉนวนกันความร้อน เป็นต้น  

นอกจากนั้น ยังมีการต่อยอดนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชงไปใช้ประโยชน์ทางสุขภาพ เนื่องจากเชื่อกันว่า พืชชนิดนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ บรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือน ช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหาร และบรรเทาอาการผิวหนังอักเสบได้ ซึ่งจำเป็นต้องรอผลการวิจัยในแต่ละด้านให้แน่ชัดก่อนนำมาใช้จริง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อร่างกายและลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว

สุดท้ายนี้ แม้การผลักดันกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจจะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่า ขยายองค์ความรู้ใหม่ และต่อยอดการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน แต่ถ้าขาดการนำไปใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ประโยชน์ดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ผู้ที่สนใจจึงควรศึกษา ติดตามข่าวสาร และปฏิบัติตามกฏระเบียบในการปลูก นำเข้า และใช้กัญชงอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมหรือต้องการเอกสารยื่นขออนุญาตสามารถปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 1556 กด 3