ถามแพทย์

  • เรอ แล้วทำให้เจ็บหน้าอกซ้าย เป็นมาประมาณ 1 สัปดาห์

  •  Cavalier_King
    สมาชิก

    สวัสดีคับ

    ขอสอบถามว่า ตอนนี้ผมมีอาการเรอ แล้วทำให้เจ็บหน้าอกซ้าย สังเกตอาการมาได้ประมาณ 1 สัปดาห์

    สวัสดีค่ะ คุณ Cavalier_King,

                       อาการเรอ แล้วเจ็บหน้าอกซ้าย น่าจะเกิดจาก การมีโรคกรดไหลย้อน ซึ่งอาการได้แก่ แสบร้อนกลางอก เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก จุกที่คอ มีรสเปรี้ยวหรือขมในคอ ระคายเคืองคอ เจ็บคอ อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย คลื่นไส้ จุกลิ้นปี่ เป็นต้น ทั้งนี้ อาจไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการก็ได้ ทั้งนี้ เมื่อมีการเรอ ก็จะทำให้น้ำย่อยซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ไหลย้อนขึ้นมาที่หน้าอก จึงเกิดอาการเจ็บอกเมื่อเรอได้ค่ะ 

                       แต่หากมีอาการเจ็บหน้าอก โดยไม่ได้สัมพันธ์กับอาการเรอ อาจเกิดจาก

                      -  การบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก อาการปวดมักจะสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของหน้าอก เช่น การเอี้ยวตัว บิดตัว ยกของหนัก การหายใจเข้าออกลึกๆ การไอ หรือจาม มักมีจุดที่กดเจ็บชัดเจน 

                 - โรคหอบหืด อาการคือเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกหายใจเร็ว มีเสียงดังวี๊ดๆ ขณะหายใจ โดยอาการจะกำเริบเป็นพักๆ โดยเกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้น เช่น สารก่อภูมิแพ้ต่างๆ อากาศที่เย็น ความเครียด การออกกำลังกาย เป็นต้น 

                 - การมีความเครียด วิตกกังวล

                 - โรคปอดต่างๆ เช่น มีลิ่มเลือดอุดตันภายในปอด ภาวะปอดแตก โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส รวมถึงโควิด 19 แต่ก็จะมีอาการไข้ ไอ หอบเหนื่อย ร่วมด้วย

                 - โรคหัวใจต่างๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภาวะหัวใจวาย เป็นต้น

                   ในเบื้องต้น หากอาการเจ็บหน้าอกเป็นไม่รุนแรง และอาการเกิดหลังการเรอ ไม่มีเหนื่อยหอบ ก็น่าจะเกิดจากโรคกรดไหลย้อน ดังนั้น ก็อาจลองปฏิบัติตัวแบบโรคกรดไหลย้อนไปก่อน ได้แก่ การเลือกทานอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอดต่างๆ เนื้อสัตว์ติดมัน ไม่ทานเนื้อสัตว์ปริมาณมาก ไม่ทานอาหารรสจัด ไม่ทานเผ็ด ไม่ควรทานจนอิ่มเกินไป เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน ทานช้าๆ ไม่เร่งรีบ และไม่ควรทานอาหารแล้วนอนทันที ควรเว้นระยะอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และน้ำอัดลมอัดแก๊สต่างๆ ห้ามทานยาแก้ปวดชนิดต่างๆ เป็นต้น

                   หากอาการยังไม่บรรเทา อาจทานยาที่ช่วยยับยั้งการหลั่งกรด เช่น แรนิทิดีน (ranitidine) ยาโอเมพราโซล (omeprazole) เป็นต้น และยาที่ช่วยเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งช่วยให้อาหารเคลื่อนตัวออกจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กได้เร็วขึ้น เช่น ยาเมโทโคลพราไมด์ (metoclopramide) เป็นต้น หรือยาที่ช่วยเคลือบชั้นเยื่อบุผิวของกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร ซูคราลเฟต โซเดียม อัลจิเนต เป็นต้น

                     หากอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจค่ะ