ถั่วลันเตา คุณค่าทางโภชนาการ กับความเชื่อด้านการรักษาโรค

ถั่วลันเตาเป็นพืชที่คนนิยมนำมาปรุงอาหารหลากเมนู เพราะมีรสชาติอร่อย ทั้งยังอุดมไปด้วยสารอาหารมีประโยชน์มากมาย หลายคนจึงเชื่อว่าถั่วลันเตาอาจดีต่อสุขภาพหลายด้าน ตลอดจนการรักษาและป้องกันการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ด้วย โดยสารประกอบหลักในถั่วลันเตา ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหาร วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินเค โฟเลต แมงกานีส ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส และสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ เป็นต้น

ถั่วลันเตา

มีความเชื่อมากมายเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของถั่วลันเตา รวมถึงสรรพคุณทางการรักษาป้องกันโรคด้วย จึงมีการค้นคว้าเพื่อพิสูจน์สมมติฐานด้านต่าง ๆ ดังนี้

เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ

นอกจากถั่วลันเตาจะเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรต ยังอุดมไปด้วยโปรตีนซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยสร้างความแข็งแรงแก่ร่างกาย และช่วยในการทำงานของกระดูก กล้ามเนื้อ และผิวหนัง ดังนั้น ถั่วลันเตาจึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีของผู้ไม่ต้องการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์

อย่างไรก็ตาม โปรตีนจากถั่วลันเตาขาดกรดอะมิโนเมไทโอนีนซึ่งจำเป็นในกระบวนการทำงานภายในเซลล์ โดยกรดอะมิโนชนิดนี้จะพบได้ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ผู้ที่เลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์จึงควรบริโภคอาหารประเภทอื่น ๆ ด้วย เช่น นม เนย โยเกิร์ต เพื่อให้ได้สารอาหารที่ร่างกายต้องการอย่างครบถ้วน

มีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร

เส้นใยอาหารหรือไฟเบอร์เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร ซึ่งพบได้มากในพืชผักอย่างถั่วลันเตา ประโยชน์หลักจากเส้นใยอาหาร คือ ช่วยลดปัญหาอาการท้องผูก โดยเส้นใยอาหารจะเพิ่มน้ำหนักในอุจจาระ เพื่อให้กากอาหารต่าง ๆ เคลื่อนตัวได้ง่ายและเร็วขึ้น ทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคในระบบย่อยอาหาร เช่น กลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน โรคลำไส้อักเสบ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

ลดไขมันคอเลสเตอรอล

คอเลสเตอรอล คือไขมันชนิดหนึ่งที่ช่วยในกระบวนการสร้างเซลล์ภายในร่างกาย แต่หากร่างกายมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีมากจนเกินไป ไขมันนี้อาจไปเกาะตามผนังหลอดเลือดจนเสี่ยงเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้

เนื่องจากถั่วลันเตามีแร่ธาตุต่าง ๆ และมีเส้นใยอาหารที่ช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย จึงเชื่อว่าถั่วลันเตาอาจช่วยลดไขมันคอเลสเตอรอลได้ด้วย โดยมีงานวิจัยที่ศึกษาประสิทธิผลของพืชตระกูลถั่วพบว่าถั่วลันเตาเป็น 1 ในพืชที่ลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดลงได้

แม้มีผลการทดลองที่แสดงประสิทธิภาพของถั่วลันเตาในการลดระดับไขมันคอเลสเตอรอล แต่งานค้นคว้าดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาจากหลอดทดลองในห้องปฏิบัติการ จึงควรค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมในกลุ่มตัวอย่างมนุษย์ เพื่อหาผลลัพธ์ที่ชัดเจนต่อไป

รักษาโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่พบบ่อย โดยเป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ถั่วลันเตามีสารอาหารที่เป็นประโยชน์มากมาย จึงคาดว่าการบริโภคถั่วลันเตาอาจเป็นผลดีต่อการรักษาโรคเบาหวาน และอาจเป็นตัวเลือกการรับประทานอาหารควบคุมเบาหวานได้

จากการค้นคว้าต่าง ๆ พบว่า โปรตีนและเส้นใยอาหารในถั่วลันเตาอาจช่วยไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างถั่วลันเตา ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม ควบคู่กับการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การออกกำลังกาย เพื่อให้เกิดประสิทธิผลทางการรักษามากที่สุด โดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และสอบถามแพทย์เมื่อมีข้อสงสัยหรือต้องการวางแผนการรับประทานอาหารใด ๆ เพื่อควบคุมโรคเบาหวาน

ต้านอนุมูลอิสระ

แม้สารอนุมูลอิสระมีส่วนสำคัญในกระบวนการทำงานภายในเซลล์ แต่หากมีสารชนิดนี้มากเกินไปก็อาจเสี่ยงเกิดโรคหรืออันตรายต่อร่างกายได้ เช่น ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคมะเร็ง เป็นต้น

ในถั่วลันเตามีสารโพลีฟีนอลที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น ฟลาโวนอล แคโรทีนอยด์ และวิตามินซี ซึ่งการค้นคว้าต่าง ๆ พบว่า สารเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และช่วยป้องกันการทำลายเซลล์จากสารอนุมูลอิสระได้ด้วย

การบริโภคถั่วลันเตาอย่างปลอดภัย

ถั่วลันเตาเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ การรับประทานถั่วลันเตาในปริมาณที่เหมาะสมจึงอาจเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพด้านต่าง ๆ ได้ แต่หากบริโภคถั่วลันเตามากเกินไปหรือผิดวิธี อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นกัน เช่น อาจทำให้มีแก๊สในกระเพาะ ท้องอืด หรือเรอบ่อยได้ โดยเฉพาะหากรับประทานถั่วลันเตาในปริมาณมาก

ผู้บริโภคอาจทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ เพื่อรับประทานถั่วลันเตาอย่างปลอดภัย และหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

  • การเลือกซื้อ ควรเลือกถั่วลันเตาที่ฝักเป็นมันวาว มีเมล็ดแน่นในฝัก ผิวนุ่ม ไม่เน่าเสียหรือผิดรูปร่าง
  • การเตรียมทำอาหาร ล้างถั่วลันเตาให้สะอาด ตัดและแกะเส้นใยแข็งบริเวณฝักถั่วออกก่อนนำไปปรุงอาหาร
  • การรับประทาน รับประทานถั่วลันเตาที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงสารต้านโภชนาการที่พบได้สูงในถั่วที่ยังดิบ ซึ่งสารนี้จะขัดขวางการดูดซึมสารต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ในร่างกาย
  • การเก็บรักษา ควรนำถั่วลันเตาใส่ถุงพลาสติกแล้วแช่ในตู้เย็น ไม่ควรล้างถั่วก่อนเก็บรักษา แต่ให้ล้างทำความสะอาดต่อเมื่อต้องการประกอบอาหาร