ตาเหล่ (Strabismus)

ความหมาย ตาเหล่ (Strabismus)

ตาเหล่คือปัญหาเกี่ยวกับมองเห็นอย่างหนึ่ง ซึ่งตาทั้งสองข้างไม่มองไปในทิศทางเดียวกัน เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงแรกเกิดหรือในเด็กเล็ก หากเกิดในผู้ใหญ่จะทำให้เห็นภาพซ้อน (Diplopia) และถ้าเกิดกับเด็กจะนำไปสู่ภาวะตาขี้เกียจ ตาเหล่อาจรักษาให้หายได้หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หากสงสัยว่ามีอาการตาเหล่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างถูกต้อง

โดยปกติแล้ว กล้ามเนื้อที่ติดกับดวงตาแต่ละข้างนั้นจะทำงานประสานกันเพื่อให้ดวงตาทั้งสองเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน หากกล้ามเนื้อของดวงตาแต่ละข้างไม่สามารถทำงานเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวให้ไปในทิศทางเดียวกันได้ ก็จะส่งผลให้เกิดการตาเหล่ รวมทั้งสมองอาจไม่สามารถรวมภาพที่ตาแต่ละข้างมองเห็นเข้าด้วยกันได้ 

ตาเหล่

ประเภทของตาเหล่ 

ตาเหล่สามารถแบ่งประเภทได้ตามลักษณะหรือทิศทางการมองของดวงตา ดังนี้

ตาเขเข้าด้านใน (Esotropia) 

คือภาวะที่ดวงตาเคลื่อนเข้ามาด้านในบริเวณสันจมูก บางครั้งอาจเรียกตาเหล่ลักษณะนี้ว่าตาขี้เกียจ (Amblyopia) ซึ่งมักพบในเด็ก 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีสายตายาวมากและใช้สายตาเพ่งมองสิ่งต่าง ๆ มักเกิดภาวะตาเขเข้าด้านในจากการเพ่ง (Accommodative Esotropia) ซึ่งเป็นลักษณะของดวงตาเคลื่อนเข้ามาหากัน เกิดจากการเพ่งมองสิ่งต่าง ๆ มากจนดวงตาเคลื่อนมาชนกัน ส่งผลให้สูญเสียการควบคุมการมองภาพแบบปกติด้วยตา 2 ข้าง (Binocular) และอาจนำไปสู่การเกิดตาเขเข้าด้านใน

ตาเขออกนอก (Exotropia) 

คือภาวะที่ดวงตาเคลื่อนมองออกด้านข้าง มักเกิดขึ้นตอนนอนหลับฝันกลางวันหรือเหนื่อยล้า โดยจะเกิดเป็นระยะ ๆ และเกิดถี่ขึ้นไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้ หากดวงตาทั้ง 2 ข้างไม่สามารถทำงานประสานกันได้เมื่อต้องมองสิ่งที่อยู่ใกล้ ๆ โดยตาข้างใดข้างหนึ่งเบนออกนอกก่อน เรียกว่าภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนกำลัง (Convergence Insufficiency)

ตาเหล่ขึ้นบน (Hypertropia) และตาเหล่ลงล่าง (Hypotropia) 

ลักษณะตาเหล่ทั้งสองอย่างนี้เกิดจากการที่แกนสายตามองขึ้นบนหรือลงล่างอยู่ตลอดเวลา โดยเรียกลักษณะของตาเหล่ตามทิศทางที่ดวงตาถูกตรึงให้มอง จัดเป็นอาการตาเหล่ที่พบได้น้อยกว่าตาเหล่แบบมองออกข้างหรือเคลื่อนมาชนกัน มักเกิดกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่แล้ว

อาการตาเหล่ลักษณะนี้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งของศีรษะ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อตา Superior Oblique

อาการของตาเหล่

อาการตาเหล่ที่เกิดในเด็กกับผู้ใหญ่อาจปรากฏอาการบางอย่างที่ต่างกัน โดยดวงตาของเด็กแรกเกิดมักมองไปในทิศทางเดียวกันไม่ได้ แต่เมื่ออายุได้ 3-4 เดือน เด็กก็จะกลับมามีดวงตาปกติ หากเด็กอายุครบ 4 เดือนแล้วดวงตายังไม่สามารถกลับมามองในทิศทางเดียวกันได้ ควรพาไปพบแพทย์

โดยส่วนใหญ่แล้ว เด็กเล็กที่เกิดตาเหล่มักไม่แสดงว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น พ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กจะสังเกตเห็นเองว่าดวงตาของเด็กมองไม่ตรง ทั้งนี้ เด็กที่ยังพูดไม่ได้อาจเอียงหรือหันหัวไปยังสิ่งของที่จ้อง เพื่อพยายามมองสิ่งนั้นให้ชัดเจน ส่วนเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่เกิดตาเหล่จะเห็นภาพเบลอ ตาล้า แสบตาง่ายเมื่อเจอแสง หรือเห็นภาพซ้อน อย่างไรก็ตาม อาการหรือสัญญาณของตาเหล่ที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่

  • ดวงตาทั้งสองข้างไม่สามารถมองไปในทิศทางเดียวกันได้
  • ดวงตาไม่เคลื่อนไหวไปพร้อมกัน
  • ต้องหลับตาข้างใดข้างหนึ่งเมื่อเจอแสงจ้า
  • ชนสิ่งของ เกิดจากการถูกจำกัดการมองเห็นความลึกของสิ่งต่าง ๆ

สาเหตุของตาเหล่

กล้ามเนื้อที่อยู่รอบดวงตาแต่ละข้างนั้นทำงานร่วมกันเพื่อช่วยให้ดวงตาทั้งสองข้างสามารถมองสิ่งของสิ่งเดียวกันหรือมองไปในทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งตาเหล่เกิดจากการที่กล้ามเนื้อรอบดวงตาไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ส่งผลให้ดวงตาข้างหนึ่งมองของสิ่งหนึ่งอยู่ ส่วนตาอีกข้างมองไปที่ของอีกสิ่งหนึ่ง

เมื่อภาพที่รับรู้ผ่านดวงตาแต่ละข้างถูกส่งไปยังสมอง จะทำให้สมองสับสน ในกรณีของเด็กเล็ก สมองอาจไม่รับรู้หรือไม่แปรผลของภาพที่ส่งมาจากดวงตาที่อ่อนแอกว่า 

สาเหตุของการเกิดตาเหล่สามารถแบ่งได้ ดังนี้

สาเหตุของตาเหล่ที่เกิดในเด็ก

สาเหตุของตาเหล่ที่เกิดในเด็กนั้นยังไม่ปรากฏชัดเจน อย่างไรก็ตาม เด็กที่ตาเหล่มักมีภาวะตาเขแต่กำเนิด (Congenital Strabismus) และภาวะนี้จะส่งผลต่อการควบคุมกล้ามเนื้อดวงตา แต่ไม่กระทบต่อการมองเห็น

อย่างไรก็ตาม อาจปรากฏโรคอื่น ๆ ในเด็กมีอาการตาเหล่ได้ ดังนี้

  • โรคเอเพิร์ท (Apert Syndrome)
  • โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy: CP)
  • โรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด (Congenital Rubella)
  • เนื้องอกหลอดเลือดชนิดฮีแมงจิโอมา (Hemangioma) หรือปานแดง หากเกิดเนื้องอกชนิดนี้ใกล้บริเวณดวงตาขณะที่เป็นทารก
  • โรคอินคอนติเนนเทีย พิกเมนไท ซินโดรม (Incontinentia Pigmenti Syndrome) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมโรคหนึ่งที่ส่งผลต่อผิวหนัง เส้นผม ฟัน เล็บ และระบบประสาท
  • กลุ่มอาการนูแนน (Noonan Syndrome)
  • กลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี่ (Prader-Willi Syndrome)
  • โรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด (Retinopathy of Prematurity: ROP) หรือภาวะอาร์โอพี
  • โรคมะเร็งจอตาในเด็ก (Retinoblastoma)
  • โรคสมองได้รับบาดเจ็บจากการกระแทกหรืออุบัติเหตุ (Traumatic Brain Injury)
  • โครโมโซมคู่ที่ 18 เกินมา 1 โครโมโซม (Trisomy 18)

สาเหตุตาเหล่ที่เกิดในผู้ใหญ่ 

ผู่ใหญ่ที่ตาเหล่อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  • ภาวะสมองขาดเลือดไปเลี้ยง (Stroke) จัดเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดตาเหล่ในผู้ใหญ่
  • สมองได้รับบาดเจ็บจากการกระแทกหรืออุบัติเหตุ ทำให้เส้นประสาทออคิวโลมอเตอร์ (Oculomotor) ได้รับความเสียหาย หรือได้รับการกระทบกระเทือนที่กล้ามเนื้อบริเวณเบ้าตาโดยตรง
  • ภาวะสูญเสียการมองเห็นจากโรคเกี่ยวกับตาหรือได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา
  • เนื้องอกที่ตาหรือในสมอง
  • โรคคอพอกตาโปนหรือโรคเกรฟส์ (Graves' Disease) ที่อาจพบได้ทั่วไป
  • โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและระบบประสาท จัดเป็นสาเหตุที่พบได้ทั่วไป
  • โรคโบทูลิซึม (Botulism)
  • กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barré Syndrome: GBS)
  • ได้รับสารพิษบางประเภท
  • เบาหวาน

การวินิจฉัยตาเหล่

เด็กเล็กที่เกิดอาการตาเหล่จะได้รับการตรวจเพื่อวินิจฉัย โดยแพทย์จะตรวจดวงตาของเด็กว่ามองไปยังสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้ แพทย์อาจปิดตาเด็กทีละข้างและให้มองของสิ่งหนึ่ง เพื่อดูว่าดวงตาข้างใดที่เบนเข้าหรือเบนออกและเบนมากน้อยเพียงใด โดยการตรวจนี้ยังช่วยวินิจฉัยอาการตาขี้เกียจซึ่งอาจเกิดขึ้นร่วมกับตาเหล่ด้วย 

โดยทั่วไปแล้ว การตรวจตาเด็กเล็กมักทำตอนที่เด็กอายุ 3–5 ปี หรืออาจเร็วกว่านั้นสำหรับเด็กบางราย อย่างไรก็ตาม หากพบว่าเด็กมีความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น ไม่ว่าอายุเท่าไร ก็สามารถพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจได้

นอกจากนี้ การตรวจตาเพื่อวินิจฉัยตาเหล่ยังประกอบด้วยการตรวจต่าง ๆ ดังนี้

  • การตรวจรีเฟลกซ์กระจกตาโดยฉายไฟ (Corneal Light Reflex) วิธีนี้จะช่วยตรวจลักษณะตาเข
  • การวัดสายตา (Visual Acuity) แพทย์จะตรวจวัดสายตาเพื่อดูว่าผู้ป่วยสามารถมองเห็นหรืออ่านข้อความในระยะใดได้ดีกว่า
  • การปิดและเปิดตาทีละข้าง (Cover/Uncover Test) แพทย์จะปิดตาผู้ป่วยทีละข้างแล้วให้มองสิ่งต่าง ๆ วิธีนี้จะตรวจดูการเคลื่อนไหวและการเบนออกของดวงตาแต่ละข้าง
  • การตรวจจอประสาทตา วิธีนี้จะช่วยตรวจจอประสาทตาของผู้ป่วย

หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมกับตาเหล่ แพทย์อาจทำการตรวจสมองและระบบประสาทเพื่อวินิจฉัยโรคอื่นด้วย เช่น ผู้ป่วยได้รับการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคสมองพิการหรือกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร

การรักษาตาเหล่

ผู้ที่ตาเหล่หากได้รับการรักษาเร็วเท่าไรก็ยิ่งได้ผลมากเท่านั้น โดยวิธีรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและสาเหตุที่ทำให้เกิดตาเหล่ วิธีรักษาตาเหล่ประกอบด้วย

ใส่แว่นตา

แว่นตานับเป็นวิธีรักษาขั้นแรกที่แพทย์แนะนำให้กับผู้ป่วย โดยการใส่แว่นตาจะช่วยรักษาอาการตาเหล่ระดับอ่อน ๆ ช่วยให้ดวงตาผู้ป่วยกลับมามองได้ตรงตามปกติ

ปิดตา 

แพทย์จะใช้วิธีปิดตาในการรักษาอาการตาขี้เกียจของเด็ก โดยปิดตาข้างที่ปกติ และให้ดวงตาข้างที่อ่อนแอกว่าพยายามใช้กล้ามเนื้อรอบดวงตาในการมองมากขึ้นเพื่อมองภาพให้ชัด การปิดตาจะช่วยให้ดวงตาอีกข้างแข็งแรงและปรับสายตาเด็กให้กลับมามองไปในทิศทางเดียวกันได้ โดยปรับกล้ามเนื้อและการมองเห็นของดวงตาที่อ่อนแอให้แข็งแรง

หยอดตา

หากเด็กไม่ชอบใช้วิธีปิดตา  แพทย์จะแนะนำให้รักษาตาเหล่ด้วยการหยอดตาแทน โดยแพทย์จะหยอดสารอะโทรปีน (Atropine) ให้ สารนี้จะทำให้ดวงตาเห็นภาพเบลอ ส่งผลให้ดวงตาที่อ่อนแอต้องทำงานมากขึ้นจนกล้ามเนื้อดวงตากลับมาแข็งแรงและมองเห็นภาพได้ปกติ

ผ่าตัดกล้ามเนื้อตา 

หากการรักษาตาเหล่ด้วยวิธีที่กล่าวมาไม่ได้ผล แพทย์จะผ่าตัดกล้ามเนื้อดวงตา โดยวิธีนี้จะช่วยปรับสายตาให้มองได้ปกติขึ้น ผู้ที่ตาเหล่อันเนื่องมาจากภาวะสูญเสียการมองเห็น ควรได้รับการรักษาภาวะดังกล่าวก่อน จึงจะรับการผ่าตัดได้ 

นอกจากนี้ เด็กตาเหล่ที่ป่วยเป็นตาขี้เกียจต้องได้รับการรักษาอาการตาขี้เกียจด้วย เพราะการผ่าตัดจะไม่ได้ผลหากเด็กยังเกิดอาการดังกล่าวอยู่ อย่างไรก็ตาม หลังรับการผ่าตัดรักษาตาเหล่แล้ว ผู้ป่วยก็ต้องใส่แว่นตาเช่นกัน และอาจต้องรับการผ่าตัดเพิ่ม

ทั้งนี้ หากสาเหตุตาเหล่เกิดจากอาการป่วยหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ แพทย์อาจจ่ายยาหรือแนะนำให้รับการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของตาเหล่

อาการตาเหล่ที่เกิดกับเด็กก่อนวัยเข้าเรียนนั้น ย่อมส่งผลให้คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของเด็กนั้นแย่ลง งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าเด็กที่เสี่ยงเป็นตาเหล่จะเกิดปัญหากับสภาวะทางจิตใจเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อีกทั้งส่งผลต่อสัมพันธภาพกับผู้คนในสังคมและโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิต 

นอกจากนี้ ผู้ที่เกิดอาการตาเหล่แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี หรือได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดนั้น สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ ดังนี้

  • ตาขี้เกียจ เด็กที่เกิดตาเหล่และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจนำไปสู่อาการตาขี้เกียจได้ เนื่องจากดวงตาทั้ง 2 ข้างทำงานไม่ประสานกัน ส่งผลให้ภาพที่ปรากฏบนจอตาทั้งสองข้างไม่สอดคล้องกัน สมองจะไม่รับและแปรผลข้อมูลจากภาพของตาข้างที่อ่อนแอกว่า จนนำไปสู่ภาวะตาขี้เกียจ
  • ค่าสายตาน้อยหรือมากเกินปกติ การผ่าตัดรักษาตาเหล่ช่วงแรกอาจทำให้เกิดการปรับแก้ค่าสายตาที่น้อยกว่าหรือมากกว่าค่าสายตาปกติได้ ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องมารับการผ่าตัดอีกครั้ง
  • กล้ามเนื้อดวงตาทำงานหนักเกินไป กล้ามเนื้ออินฟีเรียร์ ออบลีก (Inferior Oblique) ซึ่งอยู่บริเวณขอบหน้าของเบ้าตาอาจทำงานหนักเกินไปหลังผ่าตัด มักเกิดขึ้นเมื่ออายุประมาณ 2 ปี ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องรับการผ่าตัดอีกแม้ว่าการผ่าตัดครั้งแรกจะได้ผลดีแล้วก็ตาม
  • ภาวะตาเขออกร่วมกับตาหมุน (Dissociated Vertical Deviation: DVD) หลังจากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดรักษาตาเหล่ครั้งแรกเป็นเวลาหลายปี สามารถเกิดภาวะตาเขออกร่วมกับตาหมุนหรือภาวะ DVD ได้ โดยตาจะเหล่ขึ้นบนและเขออกเมื่อเหม่อลอย หรือไม่ได้ตั้งใจมองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และอาจต้องผ่าตัดหากต้องการความสวยงาม

การป้องกันตาเหล่

ตาเหล่ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่ป้องกันได้ยาก ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดตาเหล่ของผู้ป่วยแต่ละรายว่าเกิดจากอะไร การป้องกันตาเหล่จึงต้องเริ่มจากการป้องกันที่สาเหตุนั้น ๆ 

อย่างไรก็ตาม เด็กหรือผู้ใหญ่ที่ตาเหล่สามารถรักษาให้หายได้หากได้รับการตรวจวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที หากได้รับการรักษาเร็ว ผู้ป่วยก็มีโอกาสกลับมามีดวงตาที่มองเห็นได้ปกติ รวมทั้งการมองเห็นความลึกของสิ่งต่าง ๆ ก็จะดีขึ้น

ตาเหล่สามารถรักษาได้ด้วยการใส่แว่นตา ใช้วิธีปิดตา หรือผ่าตัด ซึ่งการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมกับลักษณะของอาการจะช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียการมองเห็น หลังได้รับการรักษา ผู้ป่วยต้องคอยสังเกตความเปลี่ยนแปลงของดวงตาตัวเอง เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจกลับมาตาเหล่อีก

นอกจากนี้ สำหรับตาเหล่ที่เกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาทัน อาจช่วยให้หายได้เร็วขึ้น ซึ่งผู้ป่วยอาจปรึกษาแพทย์เพื่อขอข้อมูลและทางเลือกในการรักษาอื่น ๆ ที่เหมาะกับการอาการป่วยของตนเอง