โรคเกรฟส์ (Graves’ Disease)

ความหมาย โรคเกรฟส์ (Graves’ Disease)

Graves’ Disease หรือโรคเกรฟส์ เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกันของต่อมไทรอยด์ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อขนาดเล็กที่อยู่บริเวณด้านหน้าลำคอ ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมามากกว่าปกติ โดยโรคนี้นับเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หากไม่ได้รับการรักษา ฮอร์โมนไทรอยด์ที่เพิ่มมากขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาท สมอง การเผาผลาญพลังงาน และระบบอื่น ๆ ที่มีความสำคัญต่อร่างกายได้

อาการของโรคเกรฟส์

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วย Graves’ Disease อาจมีอาการและสัญญาณบ่งชี้ดังต่อไปนี้

  • ต่อมไทรอยด์โต
  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติหรือเต้นผิดปกติ
  • นิ้วมือหรือมือสั่นเบา ๆ
  • ผิวหนังชื้นเนื่องจากเหงื่อออกง่าย
  • ผิวบริเวณหน้าแข้งหรือหลังเท้าหนาและแดง
  • ผมบางและแห้ง
  • อ่อนเพลีย
  • วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย
  • มีปัญหาในการนอนหลับ
  • ขับถ่ายบ่อยหรือท้องเสีย
  • น้ำหนักตัวลดลงทั้งที่รับประทานอาหารตามปกติ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง      
  • มีรอบประจำเดือนที่เปลี่ยนไป ประจำเดือนมาน้อย หรือมาไม่สม่ำเสมอ
  • มีปัญหาในการตั้งครรภ์
  • หย่อนสมรรถภาพทางเพศ มีความรู้สึกทางเพศลดลง

ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของโรคในลักษณะที่พบได้ไม่บ่อย ดังต่อไปนี้

  • Graves’ Ophthalmopathy เป็นอาการที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อรอบดวงตา มักทำให้ผู้ป่วยตาโปนออกมาจากเบ้าตา รู้สึกเหมือนมีทรายอยู่ในตา มีแรงดันในตา ปวดตา ตามัว มองเห็นภาพซ้อน ตาแพ้แสง ตาอักเสบบวมแดง และหนังตาบวมหรือร่น
  • Graves' Dermopathy ผู้ป่วยอาจมีผิวหนังที่แดงและหนาเป็นปื้น ซึ่งมักเกิดขึ้นที่หน้าแข้งหรือหลังเท้า แต่จะเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก

1876 Graves’ Disease rs

สาเหตุของโรคเกรฟส์

Graves’ Disease เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งโดยปกติจะมีหน้าที่สร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาเพื่อต่อต้านเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่เข้าสู่ร่างกาย แต่ร่างกายของผู้ป่วยโรคนี้กลับสร้างแอนติบอดี้ที่ชื่อว่า Thyroid-Stimulating Immunoglobulin (TSI) ขึ้นที่เนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์ โดยจะทำหน้าที่คล้าย Thyroid-Stimulating Hormone (TSH) ที่เป็นฮอร์โมนในต่อมใต้สมองที่คอยสั่งการต่อมไทรอยด์ว่าควรสร้างฮอร์โมนออกมาปริมาณเท่าใด ซึ่งแอนติบอดี้ TSI จะทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมามากเกินไปได้

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันดังกล่าวนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด และทุกคนอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ โดยผู้เชี่ยญชาญเชื่อว่ามีปัจจัยบางประการที่อาจทำให้คนบางกลุ่มเสี่ยงเป็น Graves’ Disease ได้มากกว่าคนทั่วไป ดังนี้

  • อายุและเพศ โรคนี้มักเกิดกับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี และผู้หญิงอาจมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชายถึง 7-8 เท่า
  • พันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ก็เป็นไปได้ว่าคนอื่น ๆ ในครอบครัวอาจมียีนส์ที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้เช่นกัน
  • การสูบบุหรี่ อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันได้รับผลกระทบจนเสี่ยงเป็นโรคนี้ ส่วนผู้ที่สูบบุหรี่ที่ป่วยเป็น Graves’ Disease อยู่แล้ว อาจเสี่ยงเป็น Graves' Ophthalmopathy ได้อีกด้วย
  • ความเครียด อาจเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมอยู่แล้ว
  • การเจ็บป่วย การเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างโรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคโครห์น อาจทำให้เสี่ยงเป็น Graves’ Disease มากยิ่งขึ้น
  • การตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือเพิ่งคลอดลูกอาจมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม

การวินิจฉัยโรคเกรฟส์

หากคาดว่าผู้ป่วยอาจมีอาการของ Graves' Disease แพทย์อาจวินิจฉัยโดยใช้วิธีดังต่อไปนี้

  • ตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจดูว่ามีอาการระคายเคืองที่ตาหรือตาโปนหรือไม่ รวมถึงคลำดูบริเวณคอเพื่อตรวจหาต่อมไทรอยด์โต นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจชีพจร ความดันเลือด รวมถึงมองหาสัญญาณอาการสั่นตามร่างกายด้วย
  • ตรวจเลือด แพทย์อาจใช้วิธีนี้เพื่อตรวจหาแอนติบอดี้ TSI ในเลือดที่บ่งชี้ถึงโรคนี้ อย่างไรก็ตาม หากป่วยเป็น Graves’ Disease ชนิดที่ไม่รุนแรง อาจทำให้ตรวจหาแอนติบอดี้ดังกล่าวไม่เจอ จึงอาจใช้การตรวจวัดระดับของฮอร์โมน TSH และฮอร์โมนไทรอยด์ด้วย โดยผู้ป่วยมักมีฮอร์โมน TSH ต่ำกว่าปกติและมีฮอร์โมนไทรอยด์สูง
  • ตรวจการดูดซึมไอโอดีนของต่อมไทรอยด์ ร่างกายของคนเราต้องใช้ไอโอดีนในการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งในการวินิจฉัยด้วยวิธีนี้ แพทย์จะให้ผู้ป่วยกลืนรังสีไอโอดีนและใช้กล้องชนิดพิเศษถ่ายภาพเพื่อดูปริมาณของกัมมันตรังสีไอโอดีนที่ต่อมไทรอยด์เก็บสะสมจากกระแสเลือด หากต่อมไทรอยด์สะสมกัมมันตรังสีไอโอดีนเป็นจำนวนมาก แสดงว่าผู้ป่วยอาจเป็น Graves’ Disease ทั้งนี้ แพทย์อาจใช้วิธีนี้ร่วมกับการถ่ายภาพกระบวนการขณะต่อมไทรอยด์ดูดสารกัมมันตรังสีไอโอดีนเข้าไป เพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ นอกจากนี้ อาจใช้วิธีถ่ายภาพบริเวณต่อมไทรอยด์เพื่อดูการกระจายตัวของไอโอดีนด้วย หากมีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์สูงที่เกิดจาก Graves’ Disease อาจพบว่ามีไอโอดีนกระจายอยู่ทั่วต่อมไทรอยด์
  • ตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสร้างภาพโครงสร้างในร่างกายขึ้นมา การตรวจด้วยวิธีนี้จะทำให้เห็นว่าต่อมไทรอยด์โตหรือไม่ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่ไม่สามารถตรวจการดูดซึมไอโอดีนของต่อมไทรอยด์ได้ เช่น ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ เป็นต้น
  • ตรวจจากภาพถ่าย ในกรณีที่การวินิจฉัยโรคชนิด Graves' Ophthalmopathy ไม่เป็นที่แน่ชัด แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยภาพถ่ายรังสี โดยอาจใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan)

ทั้งนี้ ผลจากการวินิจฉัยโดยรวมอาจช่วยให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยเป็น Graves’ Disease หรือป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของต่อมไทรอยด์อื่น ๆ ซึ่งการทดสอบเพียง 1-2 วิธีก็อาจช่วยยืนยันได้แล้วว่ามีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์สูงหรือไม่ ซึ่งอาจบอกได้หาก Graves’ Disease เป็นสาเหตุของภาวะดังกล่าว

การรักษาโรคเกรฟส์

การรักษาจะมุ่งเน้นยับยั้งการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์และป้องกันผลกระทบที่เกิดจากการมีฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายมากเกินไป ซึ่งวิธีที่ใช้อาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านต่าง ๆ ของผู้ป่วยด้วย เช่น อายุ การตั้งครรภ์ ภาวะสุขภาพ เป็นต้น โดยการรักษาภาวะ Graves’ Disease มีดังนี้

  • การใช้ยาต้านไทรอยด์
    แพทย์อาจใช้ยาโพรพิลไทโอยูราซิล และยาเมไทมาโซ ซึ่งเป็นยาที่ช่วยทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมาน้อยลง แต่แพทย์มักแนะนำให้ใช้ยายาเมไทมาโซมากกว่า เนื่องจากการใช้ยาโพรพิลไทโอยูราซิลนั้นเสี่ยงทำให้เกิดโรคตับได้มากกว่ายาเมไทมาโซ แต่แพทย์จะไม่ให้ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรกใช้ยาเมไทมาโซ เพราะอาจเสี่ยงทำให้ทารกมีภาวะพิการแต่กำเนิด แต่หลังจากผ่านช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ไปแล้ว แพทย์มักให้เปลี่ยนไปใช้ยาเมไทมาโซแทนยาโพรพิลไทโอยูราซิล ทั้งนี้ การใช้ยาต้านไทรอยด์เป็นการรักษาที่มักนำมาใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น โดยการเลือกใช้ยาและระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และการตอบสนองต่อการรักษาด้วย
  • การใช้ยาเบต้าบล็อกเกอร์
    ยาเบต้าบล็อกเกอร์มักนำมาใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นจากการมีฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายมากเกินไป จนกว่าการรักษาอื่น ๆ จะช่วยให้ระดับฮอร์โมนลดน้อยลง แต่ยาเบต้าบล็อกเกอร์อาจไปกระตุ้นให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดมีอาการกำเริบ หรืออาจส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานควบคุมอาการของโรคได้ยากยิ่งขึ้น

  • การรักษาด้วยรังสีไอโอดีน
    การรักษาด้วยรังสีไอโอดีนเป็นวิธีรักษาที่ใช้กันมากที่สุดวิธีหนึ่ง โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 ในรูปแบบแคปซูลหรือของเหลว ซึ่งสารนี้จะค่อย ๆ เข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ในต่อมไทรอยด์ที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากผิดปกติ ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์หดตัวลง และทำให้อาการของโรคค่อย ๆ หายไป ซึ่งอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนในการรักษา อย่างไรก็ตาม แพทย์จะไม่ใช้วิธีนี้รักษาผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เพราะกัมมันตรังสีไอโอดีนอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ทารกในครรภ์หรือซึมผ่านเข้าสู่น้ำนมแม่ไปยังทารกแรกเกิดที่ดูดนมจากอกได้ และไม่ใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคตาในระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง นอกจากนี้ การรักษาด้วยรังสีไอโอดีนอาจส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานลดลงได้ และอาจทำให้ผู้ป่วยส่วนมากมีภาวะขาดไทรอยด์หลังจากเข้ารับการรักษา ดังนั้น ผู้ป่วยอาจต้องรับการฟื้นฟูร่างกายร่วมกับการรับประทานฮอร์โมนทดแทนเพื่อให้กลับมามีฮอร์โมนไทรอยด์ในปริมาณปกติ ส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้แก่ อาการกดเจ็บที่คอ มีฮอร์โมนไทรอยด์เพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงเกิด Graves' Ophthalmopathy หรือทำให้ผู้ป่วยโรคชนิดนี้มีอาการแย่ลง แต่มักมีอาการไม่รุนแรงและเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว

  • การผ่าตัด
    แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น เช่น การรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผลเท่าที่ควร มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษรุนแรง มีอาการเข้าข่ายมะเร็งต่อมไทรอยด์ หรือผู้ป่วยตั้งครรภ์ที่ไม่สามารถรักษาโรคด้วยการรับประทานยาต้านไทรอยด์ได้ เนื่องจากมีอาการแพ้ยาหรือได้รับผลข้างเคียงจากยา เป็นต้น การรักษาวิธีนี้ แพทย์จะผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกไป แต่หลังจากเข้ารับการผ่าตัดแล้วผู้ป่วยอาจต้องได้รับฮอร์โมนทดแทนอย่างต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงที่เส้นประสาทที่ควบคุมเส้นเสียงและต่อมเล็ก ๆ ที่อยู่ติดกับต่อมพาราไทรอยด์ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนควบคุมระดับแคลเซียมในเลือดอาจถูกทำลาย จึงอาจส่งผลให้มีอาการเสียงแหบและระดับแคลเซียมในเลือดผิดปกติได้

ส่วนโรคนี้ชนิด Graves' Ophthalmopathy ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา มีวิธีการรักษาดังต่อไปนี้

  • การดูแลตนเอง หากมีอาการไม่รุนแรงนัก ผู้ป่วยอาจใช้น้ำตาเทียมที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา เพื่อหยอดบรรเทาอาการที่ตาในระหว่างวันและใช้เจลหล่อลื่นในตอนกลางคืน
  • การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ หากมีอาการรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์อย่างเพรดนิโซโลนที่อาจช่วยลดอาการบวมของลูกตา แต่ยานี้อาจมีผลข้างเคียง เช่น มีภาวะคั่งน้ำ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันเลือดสูง และมีอารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
  • การรักษาด้วยรังสี เป็นการใช้รังสีเอกซเรย์เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหลังตาบางส่วน โดยต้องรักษาเป็นเวลาต่อเนื่องหลายวัน ซึ่งแพทย์อาจแนะนำวิธีนี้หากอาการที่ตาของผู้ป่วยแย่ลง หรือหากการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ผลดีนัก
  • การใช้ปริซึม เป็นการรักษาด้วยการใส่แว่นตาที่มีปริซึม ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยที่มองเห็นภาพมัวหรือได้รับผลข้างเคียงจากการผ่าตัดสามารถมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่วิธีนี้อาจใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยทุกราย
  • การผ่าตัดขยายเบ้าตา แพทย์จะผ่าตัดนำกระดูกระหว่างเบ้าตาออก รวมถึงโพรงอากาศที่เป็นช่องว่างที่อยู่ถัดจากเบ้าออกไปด้วย ซึ่งจะทำให้ตามีพื้นที่มากขึ้นและกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม โดยวิธีนี้มักนำมาใช้เมื่อผู้ป่วยมีแรงดันในเส้นประสาทตาจนทำให้เสี่ยงสูญเสียการมองเห็น แต่การผ่าตัดอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างการมองเห็นภาพซ้อนได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเกรฟส์

Graves’ Disease อาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ ดังนี้

  • ปัญหาการตั้งครรภ์ โรคนี้อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตอย่างไม่สมบูรณ์ คลอดก่อนกำหนด หรือเกิดภาวะแท้งบุตรได้ นอกจากนี้ อาจทำให้แม่เด็กเสี่ยงหัวใจล้มเหลวหรือเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลให้มีความดันเลือดสูงและเกิดอาการที่รุนแรงอื่น ๆ ตามมาได้
  • หัวใจทำงานผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษา โรคนี้อาจส่งผลกระทบต่อหัวใจโดยทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ เกิดความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ
  • กระดูกพรุน เมื่อนานไปภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ที่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้กระดูกอ่อนแอและเปราะบางขึ้น เนื่องจากปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ที่มากเกินไปอาจทำให้ร่างกายไม่สามารถเก็บรักษาแคลเซียมไว้ในกระดูกได้
  • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษรุนแรง แม้พบได้น้อยมาก แต่ไทรอยด์เป็นพิษเป็นภาวะที่มีความรุนแรงถึงชีวิต โดยผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาไม่เพียงพอจะมีแนวโน้มเกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์สูงอย่างรุนแรงและฉับพลัน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบหลายด้าน เช่น มีไข้ มีเหงื่อออกมาก อาเจียน ท้องเสีย เพ้อ อ่อนเพลียอย่างรุนแรง ชัก หรือมีภาวะโคม่า เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษอย่างรุนแรงควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

การป้องกันโรคเกรฟส์

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยจนเกิดโรคนี้ จึงยากที่จะป้องกัน Graves’ Disease ได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงได้โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ไม่สูบบุหรี่ หมั่นผ่อนคลายและเรียนรู้วิธีรับมือกับความเครียด เป็นต้น