ตาโปน

ความหมาย ตาโปน

ตาโปน (Exophthalmos) คืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณดวงตา จนทำให้ลูกตายื่นออกมามากกว่าปกติ จนในบางครั้งก็ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหลับตาได้สนิท และส่งผลเสียต่อดวงตา ทำให้ตาแห้ง และเกิดแผลที่กระจกตาได้ในที่สุด

ตาโปน

อาการตาโปนนั้นแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้

  • อาการตาโปนจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นอาการตาโปนที่เกิดจากการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากครอบครัว ซึ่งไม่มีอันตราย แต่ถ้าหากรุนแรงจนหลับตาได้ไม่สนิทก็อาจต้องทำการรักษา
  • อาการตาโปนจากปัญหาสุขภาพ เป็นอาการตาโปนที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายเนื่องจากอาการเจ็บป่วย เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคมะเร็ง เนื้องอกที่บริเวณหลังตา เป็นต้น

อาการตาโปนสามารถรักษาหายได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด เพื่อให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาตามสาเหตุของโรค อาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ก็อาจไม่กลับไปเป็นปกติ บางกรณีอาจต้องใช้การผ่าตัดช่วยเพื่อให้ดวงตากลับเข้าไปอยู่ที่เดิมได้

อาการตาโปน

ตาโปนเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และต้องใช้เวลาพักหนึ่งจึงจะสามารถระบุได้ว่าผู้ป่วยมีลักษณะตาโปนหรือไม่ โดยอาการที่จะสามารถเห็นได้ชัดคือ ดวงตาจะมีลักษณะโปน หรือยื่นออกมาจากตำแหน่งเดิมอย่างผิดปกติ จนทำให้เห็นตาขาวด้านบนที่อยู่เหนือม่านตาได้มากขึ้นโดยไม่ต้องยกเปลือกตา นอกจากนี้อาการตาโปนยังส่งผลให้ผู้ป่วยกระพริบตาได้น้อยลง จนทำให้ตาแห้ง จนนำไปสู่ภาวะกระจกตาเป็นแผล หรือสูญเสียการมองเห็นได้

สาเหตุของอาการตาโปน

อาการตาโปนเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่มักพบได้บ่อยที่สุดคือ โรคไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของต่อมไทรอยด์ โดยอาการตาโปนที่เกิดจากโรคดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติส่งผลต่อกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อไขมันบริเวณรอบดวงตาทำให้เกิดการอักเสบ และบวมจนทำให้ลูกตาถูกเบียดมาด้านหน้ามากขึ้น

ทั้งนี้อาการตาโปนยังอาจเกิดจากภาวะอื่น ๆ ได้ แต่ก็พบได้น้อยกว่าสาเหตุข้างต้น โดยที่อาจพบได้แก่

  • อาการบาดเจ็บ หรือมีเลือดออกที่บริเวณหลังตา
  • ความผิดปกติที่ดวงตา เช่น หลอดเลือดบริเวณหลังตามีรูปร่างผิดปกติ ภาวะกระบอกตาตื้นในเด็กแรกเกิด เนื้องอกที่หลอดเลือดบริเวณดวงตา (Hemangioma)
  • โรคตา เช่น ต้อหิน
  • การติดเชื้อของเนื้อเยื่อที่กระบอกตา
  • ก้อนเนื้อมะเร็ง ที่เกิดจากมะเร็งต่อมหมวกไตในเด็ก (Neuroblastoma) และมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (Soft Tissue Sarcoma) มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งกล้ามเนื้อลาย

การวินิจฉัยอาการตาโปน

ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการได้เบื้องต้นโดยหากดวงตามีลักษณะโปนผิดปกติร่วมกับอาการบวมรอบ ๆ ดวงตา ก็ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดก่อนที่อาการจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ก่อนไปพบแพทย์ผู้ป่วยควรเตรียมตัวเรื่องเกี่ยวกับประวัติการรักษา หรือยาที่ใช้อยู่ โดยควรจดชื่อยา ปริมาณของยาที่ใช้ เพื่อช่วยให้แพทย์ทำการวินิจฉัยได้ง่ายขึ้น จากนั้นหากแพทย์ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็อาจทำการสั่งตรวจอื่น ๆ เช่น

  • ตรวจการมองเห็น
  • ตรวจขยายม่านตา
  • การตรวจโดยการส่องกล้อง
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิด CT Scan หรือ MRI Scan เพื่อดูความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ หรือดูความผิดปกติบริเวณเบ้าตา
  • การตรวจเลือด

จากนั้นแพทย์จะนำผลที่ได้มาประกอบในการวินิจฉัย และยืนยันอาการของผู้ป่วย หากทราบสาเหตุที่แน่ชัดแล้ว แพทย์อาจทำการรักษาโดยทันที หรือนัดผู้ป่วยเพื่อติดตามอาการภายหลังอีกครั้ง

การรักษาอาการตาโปน

ในการรักษาอาการตาโปนแพทย์จะพิจารณาถึงอาการและสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ในบางรายอาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษาโดยทันที แต่อาจต้องติดตามอาการต่อไปเรื่อย ๆ อย่างใกล้ชิด แต่ในบางกรณีก็อาจต้องรีบทำการรักษาเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา โดยวิธีการรักษาตาโปนที่แพทย์นิยมใช้ มีดังนี้

การรักษาตาโปนจากโรคไทรอยด์ ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ จะต้องได้รับการรักษาที่ต้นเหตุ นั่นก็คือโรคไทรอยด์ โดยโรคดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือระยะแสดงอาการ และระยะสงบ ซึ่งหากเกิดอาการตาโปนจนต้องรักษาก็มักจะอยู่ในระยะแสดงอาการ และจะต้องทำการรักษาตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ในเบื้องต้นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจะช่วยให้อาการที่รุนแรงพอทุเลาลงได้บ้าง เช่น เลิกสูบบุหรี่ เพราะจะช่วยให้ความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคตาลดลง และควรหนุนหมอนให้สูงขึ้นเพื่อลดอาการบวมบริเวณรอบดวงตา อีกทั้งควรสวมใส่แว่นตากันแดดและแว่นตาเพื่อปรับสายตา เพราะจะทำให้ดวงตาไม่ทำงานหนักมากจนเกินไป และหากผู้ป่วยมีอาการเจ็บที่ดวงตาเนื่องจากตาโปนก็ควรใช้น้ำตาเทียมตามแพทย์สั่งเพื่อบรรเทาอาการอีกด้วย เท่านี้ก็จะทำให้อาการตาโปนไม่รบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากจนเกินไป
  • การรักษาโรคไทรอยด์โดยใช้ยาปรับระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกาย สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ การปรับระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเพราะ อาการที่ดีขึ้นจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดกับดวงตา และป้องกันไม่ให้อาการยิ่งรุนแรงขึ้นได้ โดยในการปรับระดับฮอร์โมนจะต้องใช้ยาที่รักษาโรคไทรอยด์โดยตรง และผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยาในระยะยาวจนกว่าการทำงานของไทรอยด์จะกลับมาเป็นปกติ
  • การใช้ยาต้านการอักเสบ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและมีอาการเจ็บปวดที่ดวงตาจากอาการตาโปนในโรคไทรอยด์ระยะแสดงอาการ แพทย์จะทำการสั่งยาในกลุ่มคอร์ติซอลสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อให้บรรเทาอาการ แต่ก็มักจะใช้กับผู้ป่วยที่สามารถควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ได้ โดยการให้ยาอาจให้ทางหลอดเลือดดำ เพราะเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดีกว่าการรับประทานยาที่ต้องใช้ในระยะยาวและเสี่ยงต่อผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ ทว่าการให้ยาดังกล่าวผ่านทางหลอดเลือดดำก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะอาจมีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยได้ เช่น กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ คอและใบหน้าแดง เป็นต้น
  • การฉายรังสี ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคไทรอยด์อยู่ในระยะแสดงอาการ และการรักษาด้วยยาไม่ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ อาจต้องมีการฉายรังสีที่มีพลังงานสูงควบคู่กันไปเพื่อลดอาการของโรค รังสีในปริมาณต่ำนอกจากจะช่วยลดอาการของโรคไทรอยด์ได้แล้ว ยังช่วยลดอาการบวมของกระบอกตาและทำให้ตาที่โปนยุบลงได้ ทั้งนี้ในการรักษา ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการฉายรังสีอย่างน้อย 10 ครั้ง จึงจะเห็นผล และอาจมีผลข้างเคียงบางชนิดที่เกิดขึ้นได้ คือ ตาอาจแย่ลงในระยะสั้น ๆ เกิดต้อกระจก แต่บางรายก็อาจรุนแรงจนถึงขั้นกลายเป็นสูญเสียการมองเห็นเนื่องจากความเสียหายที่จอตาได้

การผ่าตัด เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่แพทย์อาจใช้เพื่อรักษาตาโปนในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และช่วยปรับลักษณะดวงตาให้เป็นปกติหลังจากอาการอื่น ๆ ดีขึ้น เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลกับผู้ป่วยที่มีอาการตาโปนจากสาเหตุอื่น ๆ แต่ในบางครั้งผู้ป่วยโรคไทรอยด์ก็อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดหากอาการบวมเข้าไปกดทับที่เส้นประสาทมากจนเกินไป โดยการผ่าตัดแบ่งออกเป็น 3 วิธีดังนี้

  • การผ่าตัดกระดูกเบ้าตา เป็นวิธีการผ่าตัดที่มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการตาโปนจากโรคไทรอยด์ เพื่อแรงกดที่บริเวณเส้นประสาทการมองเห็น โดยการตัดกระดูกเบ้าตาบางส่วนออกเพียงเล็กน้อย และกำจัดไขมันที่อยู่รอบลูกตาออกเพื่อให้ส่วนที่บวมสามารถกลับเข้าไปอยู่ที่เดิมได้
  • การผ่าตัดเปลือกตา เป็นการผ่าตัดเพื่อช่วยปรับเปลี่ยนรูปร่างของเปลือกตาเพื่อให้ดูเป็นปกติมากที่สุด หรือแก้ปัญหาตาปิดไม่สนิทได้
  • ผ่าตัดกล้ามเนื้อตา เป็นการผ่าตัดเพื่อช่วยให้ลูกตาสามารถกลับเข้าไปอยู่ที่เดิม และช่วยลดปัญหาการเห็นภาพซ้อนได้

ทั้งนี้ในการผ่าตัดข้างต้น ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาสลบก่อนจึงจะสามารถเริ่มทำการผ่าตัดได้ และหลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยอาจต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลสักระยะจนกว่าแพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้

ภาวะแทรกซ้อนของตาโปน

ความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนของอาการตาโปนขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตาโปน แต่ที่มักพบอาการแทรกซ้อนได้ส่วนใหญ่จะเกิดจากภาวะตาโปนจากไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

  • มีอาการตาแดง อักเสบ และเจ็บบริเวณดวงตา
  • ตาแห้ง และมีอาการระคายเคืองที่ตา
  • มีน้ำตาไหลออกมาจากตาตลอดเวลา
  • ตาไวต่อแสงมากผิดปกติ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ตาโปนจากโรคไทรอยด์ยังอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา ได้แก่การเห็นภาพซ้อน ในรายที่รุนแรงมาก ๆ ก็อาจทำให้ไม่สามารถหลับตาได้สนิท ส่งผลให้กระจกตาเกิดความเสียหาย เกิดภาวะกระจกตาแห้งอย่างรุนแรง เกิดการติดเชื้อ และเกิดแผลบริเวณกระจกตา ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ทั้งนี้อาการตาโปนก็อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความเสี่ยงในการเกิดแรงดันที่เส้นประสาทบริเวณดวงตาได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการมองเห็นในระยะยาวได้หากทำการรักษาล่าช้า

การป้องกันอาการตาโปน

อาการตาโปนเป็นอาการที่ป้องกันได้ยาก โดยเฉพาะอาการตาโปนจากโรคไทรอยด์ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่จะป้องกันไม่ให้ภูมิคุ้มกันเกิดการทำงานที่ผิดปกติ จึงทำได้เพียงใช้ชีวิตโดยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางสุขภาพ และหมั่นพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ รวมทั้งหากเกิดความผิดปกติที่ดวงตาควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด