ตั้งครรภ์ กับผลกระทบต่อความต้องการทางเพศ

ระหว่างที่ตั้งครรภ์ ผู้หญิงบางคนอาจมีความต้องการทางเพศลดลง จนทำให้รู้สึกไม่อยากมีเพศสัมพันธ์กับคนรัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ แต่อะไรที่เป็นสาเหตุทำให้ความต้องการทางเพศของหญิงตั้งครรภ์ลดลง และเมื่อใดที่ความต้องการทางเพศจะเพิ่มขึ้นหรือกลับมาเป็นปกติ ศึกษาได้จากบทความต่อไปนี้

1556 ตั้งครรภ์ เพศสัมพันธ์ Resized

ทำไมผู้หญิงตั้งครรภ์ถึงมีความต้องการทางเพศลดลง ?

ภาวะความต้องการทางเพศลดลงในสตรีมีครรภ์เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายระหว่างการตั้งครรภ์ ดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ในการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนอาจมีส่วนทำให้ความต้องการทางเพศลดลง เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศในร่างกายเองด้วย รวมถึงอาการอ่อนเพลียและอาการคลื่นไส้ที่เกิดขึ้นด้วย
  • การไวต่อสัมผัสของเต้านม ในระหว่างตั้งครรภ์ เลือดจะไหลเวียนไปที่ระบบสืบพันธุ์และเต้านมมากขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวไวต่อการสัมผัส จนอาจเกิดความเจ็บปวดได้
  • ความสนใจเกี่ยวกับทารกในครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์จะให้ความสนใจกับลูกน้อยที่กำลังเจริญเติบโตอยู่ภายในครรภ์มากกว่าการมีเพศสัมพันธ์ โดยอาจกลัวว่าหากมีเพศสัมพันธ์แล้วจะกระทบกระเทือนต่อทารกได้

เมื่อใดที่ความต้องการทางเพศจะเพิ่มขึ้น ?

ผู้หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักมีความต้องการทางเพศลดลงในช่วงต้นการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก และจะค่อย ๆ กลับมาเพิ่มขึ้นตามลำดับในช่วงปลายไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ร่างกายจะสร้างสารหล่อลื่นภายในช่องคลอด และทำให้ปุ่มกระสันของเพศหญิงหรือคลิตอริสไวต่อการสัมผัสมากขึ้นเนื่องจากมีการไหลเวียนเลือดไปที่อวัยวะเพศเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากความต้องการทางเพศของคุณแม่ตั้งครรภ์ลดลงติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่าปกติ หรือเป็นปัญหาต่อการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรไปปรึกษาแพทย์

บริหารชีวิตรักและเรื่องบนเตียงอย่างไรในระหว่างตั้งครรภ์ ?

การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ยังสามารถทำได้อย่างปลอดภัย แต่ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อความสุขทางเพศและความปลอดภัยของทารกในครรภ์ ดังนี้

  • ทดลองมีเพศสัมพันธ์ในท่าที่เหมาะกับสรีระ การเปลี่ยนท่าทางในการมีเพศสัมพันธ์จะช่วยลดความรู้สึกอึดอัดที่เกิดจากสรีระที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เปลี่ยนจากการนอนหงายเป็นท่านอนตะแคงหันหลังให้ฝ่ายชาย ท่านั่งบนตัก ท่าที่ฝ่ายหญิงอยู่ข้างบนฝ่ายชาย เป็นต้น
  • ใช้ถุงยางอนามัย แม้จะตั้งครรภ์ แต่การใช้ถุงยางอนามัยจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการติดเชื้อรุนแรงอย่างเอชไอวีได้ เพราะจะเป็นอันตรายทั้งต่อแม่และทารกในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอีกฝ่ายเคยป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักก็เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายเข้าไปในช่องคลอดจนเกิดการติดเชื้อ ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดริดสีดวงในระหว่างตั้งครรภ์อีกด้วย
  • พูดคุยกันอย่างเปิดใจ หากคู่รักมีความคิดที่แตกต่างกันในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ ควรเปิดใจพูดคุยกันเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดให้ตรงกัน โดยเฉพาะในช่วงใกล้คลอด อาจเปลี่ยนจากการมีเพศสัมพันธ์เป็นการโอบกอด เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนกับทารกในครรภ์

ใครบ้างควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ ?

แม้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์จะเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจว่ามีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์หรือไม่

โดยแพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากมีภาวะเหล่านี้

ขณะภรรยาตั้งครรภ์ สามีจะมีความต้องการทางเพศลดลงด้วยหรือไม่ ?

เช่นเดียวกับคุณแม่ตั้งครรภ์ พ่อของเด็กในครรภ์ก็สามารถสูญเสียความต้องการทางเพศได้เช่นกันในช่วงที่ภรรยาอุ้มท้อง เพราะเป็นช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต และคู่รักบางคู่ก็เลือกที่จะงดมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างตั้งครรภ์ เพราะกังวลว่าอาจกระทบต่อทารกได้

นอกจากนี้ ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ คุณพ่ออาจมีความต้องการทางเพศลดลงเนื่องจากสรีระและการตอบสนองทางร่างกายของภรรยาเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจทำให้ความสุขทางเพศในช่วงเวลานี้ลดลงนั่นเอง