ชาสมุนไพร คุณประโยชน์ที่ดื่มได้ทุกวัน

ชาสมุนไพรเป็นเครื่องดื่มที่คนไทยนิยมบริโภคมาอย่างยาวนาน นอกจากจะช่วยดับกระหายแล้ว ยังส่งผลดีต่อร่างกายในหลายด้าน เนื่องจากชาสมุนไพรแต่ละชนิดมีสารประกอบที่หลากหลายในปริมาณที่ต่างกันไป การดื่มชาสมุนไพรเป็นประจำจึงอาจช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้ดีขึ้นได้

โดยปกติ ชาสมุนไพรจะทำจากสมุนไพร ผลไม้ เมล็ดพืช หรือรากพืชแล้วนำมาชงในน้ำร้อน บางชนิดมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระน้อยกว่าชาที่ผลิตจากจากใบชา โดยเฉพาะอย่างชาเขียวหรือชาดำ แต่จะปราศจากคาเฟอีน น้ำตาล และแคลอรี อีกทั้งยังมีรสชาติที่หลากหลายให้เลือกดื่มด้วย

ชาสมุนไพร คุณประโยชน์ที่ดื่มได้ทุกวัน

ประโยชน์ของชาสมุนไพร

ในปัจจุบันมีชาสมุนไพรหลากชนิดที่วางขายกันทั่วไปในบ้านเรา ซึ่งแต่ละชนิดอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายด้านด้วยกัน ดังนี้

ชาขิง

แม้ชาขิงจะมีรสเผ็ดร้อน แต่ก็อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย ซึ่งหลายคนนิยมดื่มกันเพราะเชื่อว่ามีคุณสมบัติต้านโรคหลายอย่าง เช่น ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ต้านอาการอักเสบ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน โดยมีงานวิจัยบางชิ้นเผยถึงประสิทธิภาพในการบรรเทาปวดประจำเดือนของขิงว่ามีความใกล้เคียงกับยาแก้ปวดประจำเดือน อย่างยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยาเมเฟนามิค แอซิด (Mefenamic Acid) 

นอกจากนี้ คุณสมบัติที่โดดเด่นของชาขิง คือ ช่วยลดอาการคลื่นไส้และอาเจียน โดยมีการค้นคว้าสรรพคุณของขิงในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง และหลาย ๆ งานวิจัยยังบอกอีกว่า การรับประทานขิงนั้นค่อนข้างปลอดภัยต่อร่างกาย แต่บางรายอาจเกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน อย่างอาการแสบร้อนกลางอกหรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร โดยจะขึ้นอยู่กับปริมาณและความถี่ในการบริโภค รวมถึงสุขภาพของผู้บริโภคเองด้วย 

ชาโสมเกาหลี

รู้หรือไม่ว่า สารประกอบสำคัญในโสมเกาหลีอย่างจินเซนโนไซต์ (Ginsenosides) และพาแน็กโซไซด์ (Panaxosides) อาจเป็นผลดีต่อสุขภาพมากมาย โดยจะช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมองและระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ รวมไปถึงช่วยต่อสู้กับความเครียด โรคมะเร็งและโรคเบาหวาน นี่จึงทำให้โสมเกาหลีหรือผลิตภัณฑ์จากโสมเกาหลีถูกบริโภคกันมาก แต่เพื่อความปลอดภัยของตนเองโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ที่หวังผลในการรักษาโรค ควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสมและจำเป็นต้องรอผลการวิจัยที่ยืนยันสรรพคุณของโสมเกาหลีในแต่ละด้านเพิ่มเติม 

ชาเปปเปอร์มินท์

นอกจากกลิ่นและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้หลายคนชื่นชอบ ประโยชน์ของเปปเปอร์มินท์ต่อระบบย่อยอาหารเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจ โดยสมุนไพรชนิดนี้อาจช่วยบรรเทาอาการอึดอัดท้อง แก๊สในกระเพาะอาหาร ช่วยขับลม หรืออาหารไม่ย่อยได้ แม้จะไม่มีงานวิจัยในตัวชาโดยตรง แต่ก็มีการศึกษาเปปเปอร์มินท์หรือน้ำมันเปปเปอร์มินท์ในสัตว์และมนุษย์บางส่วนที่อาจช่วยยืนยันถึงคุณประโยชน์ในด้านนี้ได้อยู่บางส่วน ชาเปปเปอร์มินท์จึงอาจให้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างกันนัก นอกจากนี้ บางงานวิจัยพบว่าเปปเปอร์มินท์อาจมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส สารอนุมูลอิสระ และโรคมะเร็ง บรรเทาอาการปวดศีรษะ และลดปัญหากลิ่นปาก แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์อย่างต่อเนื่อง 

ชาคาโมมายล์

ชาคาโมมายล์ขึ้นชื่อเรื่องคุณประโยชน์ที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย บรรเทาความวิตกกังวล และลดปัญหาด้านการนอนหลับ โดยมีงานวิจัยหนึ่งให้คุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตรและมีปัญหาในการนอนจำนวนหนึ่งดื่มชาคาโมมายล์ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ ผลพบว่ากลุ่มคุณแม่มีคุณภาพการนอนดีขึ้นและอาการของภาวะซึมเศร้าก็ลดลงด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ชาสมุนไพรชนิดนี้อาจช่วยยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารและบรรเทาอาการท้องเสียได้ด้วย ทว่ายังเป็นเพียงการศึกษาในสัตว์เท่านั้น 

ดื่มชาสมุนไพรอย่างไรให้ปลอดภัย

ส่วนใหญ่แล้ว ชาสมุนไพรนั้นปลอดภัยต่อร่างกาย แต่การดื่มมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าดื่มชาสมุนไพรในปริมาณเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมและปลอดภัยต่อร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการดื่มชา โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือสตรีมีครรภ์ 

ข้อควรระวังในการบริโภคชาสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ดังนี้

  • ห้ามดื่มชาสมุนไพรหากผู้บริโภคแพ้สมุนไพรดังกล่าว
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำในขณะดื่มชาโสมเกาหลี เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำผิดปกติ  
  • สารประกอบของคาโมมายล์อย่างคูมาริน (Coumarin) อาจส่งผลให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ แต่มักพบในคนที่รับประทานสมุนไพรชนิดนี้ในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน 
  • ส่วนผสมของชาสมุนไพรบางชนิดอาจส่งผลต่อสตรีมีครรภ์จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ไม่สบายท้อง มีเลือดประจำเดือน การแท้งบุตร ทารกพิการแต่กำเนิด คลอดก่อนกำหนด เป็นต้น
  • ชาสมุนไพรบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคหรืออาหารเสริมที่กำลังรับประทานอยู่ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการดื่มชาสมุนไพรชนิดใดก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม หากบริโภคชาสมุนไพรแล้วเกิดผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่นใด ควรหยุดดื่มแล้วไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องทันที