จุกคอ แน่นคอ อาการสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

จุกคอ คืออาการที่รู้สึกแน่นและอึดอัดเหมือนมีบางสิ่งติดอยู่ภายในลำคอ หรือกลืนลำบาก ซึ่งน่าจะสร้างทั้งความกังวลใจและความรู้สึกอึดอัดร่างกายให้กับผู้ที่กำลังมีอาการนี้อยู่ไม่น้อย โดยอาการนี้อาจเป็นได้ทั้งแบบไม่รุนแรงและแบบที่ควรรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ การเรียนรู้วิธีสังเกตอาการด้วยตัวเองในเบื้องต้นเอาไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

จุกคอ เป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กรดไหลย้อน ทอนซิลอักเสบ คอพอก หรือภูมิแพ้ ซึ่งแต่ละสาเหตุก็จะส่งผลให้เกิดอาการร่วมที่แตกต่างกันไป โดยการรักษาทางการแพทย์ แพทย์จำเป็นต้องหาสาเหตุของอาการจุกที่คอให้พบก่อนเพื่อพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมและแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน

จุกคอ

สาเหตุของอาการจุกคอ

อาการจุกคอสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยตัวอย่างที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น

1. กรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนเป็นภาวะที่ส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารของผู้ป่วยไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหาร เนื่องจากหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารที่คอยป้องกันกรดไหลย้อนกลับขึ้นไปทำงานผิดปกติไป

กรดในกระเพาะอาหารที่ย้อนขึ้นมาอาจส่งผลให้เนื้อเยื่อหลอดอาหารและลำคอเกิดความเสียหายและก่อให้เกิดแผลเป็น ซึ่งเมื่อหลอดอาหารและลำคอเกิดแผลเป็น เนื้อเยื่อบริเวณนี้ก็อาจเริ่มเกาะตัวกันจนส่งผลให้ผู้ป่วยเริ่มมีอาการกลืนลำบากและรู้สึกแน่นหรือจุกคอได้

โดยอาการอื่นที่ผู้ป่วยกรดไหลย้อนอาจพบด้วยก็เช่น แสบร้อนกลางอก โดยเฉพาะหลักรับประทานอาหารและนอนราบกับพื้น รู้สึกขมปาก ไอ เจ็บคอ และเสียงแหบ 

2. ทอนซิลอักเสบ

ทอนซิลอักเสบเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อต่อมทอนซิลติดเชื้อจนเกิดการอักเสบและบวม โดยนอกจากอาการจุกคอแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังมักพบอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ได้แก่ กลืนลำบาก ปวดศีรษะ เสียงแหบ และพบรอยสีขาวหรือเหลืองภายในลำคอ

3. คอพอก

คอพอกเป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณลำคอ เกิดภาวะบวมโตผิดปกติ โดยอาการของภาวะนี้ก็เช่น กลืนลำบาก คลำพบก้อนที่คอ หายใจลำบาก ไอ และเสียงแหบ

4. โรคภูมิแพ้

ภูมิแพ้เป็นโรคที่ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นบางอย่างในลักษณะที่ผิดปกติไป โดยบางคนอาจจะเป็นเกสรดอกไม้ หรือบางคนอาจจะเป็นอาหารบางชนิด

โดยสำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้ อาการจุกคออาจเป็นสัญญาณของภาวะแอแนฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) หรือภาวะแพ้อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นภาวะที่จะส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเกิดอาการกลืนลำบาก หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด เวียนศีรษะ ผื่นขึ้น ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีฟ้า ปวดท้อง อาเจียน และเกิดอาการบวมตามผิว ริมฝีปาก และลิ้น 

ทั้งนี้ ภาวะนี้เป็นภาวะที่รุนแรง ผู้ที่เกิดอาการในลักษณะดังกล่าวจึงควรรีบไปพบแพทย์ทันที

นอกจากโรคหรือภาวะผิดปกติที่ยกตัวอย่างไปแล้ว อาการจุกคอยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นได้อีกเช่นกัน  เช่น โรคแพนิค (Panic Disorder) ภาวะกล้ามเนื้อบริเวณกล่องเสียงจับตัวกันแน่น หรือในบางกรณีก็อาจเกิดจากความเครียดได้เช่นกัน

แนวทางการรับมือกับอาการจุกคอ

อาการจุกคอเป็นอาการที่ต้องรักษาที่ต้นเหตุ ซึ่งเมื่อแพทย์พบสาเหตุของอาการแล้ว ก็จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป เช่น

กรดไหลย้อน 

หากอาการจุกคอเกิดจากภาวะนี้ แพทย์มักแนะนำให้รับประทานยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยชนิดของยาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ส่วนการปรับพฤติกรรมก็เช่น รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ แทน โดยเฉพาะก่อนเข้านอน หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ยกหัวนอนให้สูงขึ้น และเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ

ทอนซิลอักเสบ

การรักษาภาวะนี้จะขึ้นอยู่กับสาเหตุ หากเป็นการติดเชื้อไวรัส แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อน ดื่มน้ำให้มาก ใช้ยาอมแก้เจ็บคอ และกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ ส่วนกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาปฏิชีวนะแทน

คอพอก 

แพทย์จะพิจารณาการรักษาจากสาเหตุ โดยวิธีที่แพทย์อาจใช้ในการรักษามีหลายวิธี เช่น ให้รับประทานไอโอดีนเสริม การใช้ฮอร์โมนไทรอยด์เสริม และการผ่าตัด

อาการแพ้ 

แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) ร่วมกับการรักษาอื่น ๆ เช่น การใช้ออกซิเจนทดแทน การให้สารน้ำ การให้ยากลุ่มต้านฮีสตามีน และสเตียรอยด์ 

ดังนั้น ผู้ที่มีอาการจุกคอที่ไม่ดีขึ้นใน 2–3 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ แต่หากมีอาการจุกคอร่วมกับอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ หายใจไม่ออก กลืนลำบาก เจ็บหน้าอก มีไข้สูง รู้สึกตึกบริเวณลำคอ มีก้อนที่คอ และอาการของภาวะแอแนฟิแล็กซิสดังที่กล่าวไปในข้างต้น เนื่องจากอาการอาจเป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติที่รุนแรงได้