ก้อนที่คอ สาเหตุและอาการที่ควรไปพบแพทย์

ก้อนที่คอ เป็นอาการที่คนส่วนใหญ่อาจหมายถึงการคลำพบกับก้อนเนื้อที่นูนออกมาบริเวณลำคอ บางครั้งก้อนที่คออาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า ส่วนมากก้อนที่คอนั้นไม่เป็นอันตราย แต่ในบางกรณีอาจเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการเจ็บป่วยได้เช่นกัน เช่น โรคติดเชื้อ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคไทรอยด์ หรือแม้แต่โรคร้ายแรง อย่างโรคมะเร็ง 

ก้อนที่คออาจพบได้หลายลักษณะ ทั้งก้อนนิ่ม แข็ง หนา กดแล้วเจ็บ หรือไม่มีอาการใด ๆ และอาจพบส่วนใดส่วนหนึ่งบริเวณลำคอ ทั้งบนผิวหนังและใต้ผิวหนัง ก้อนที่คออาจเป็นเนื้องอก ก้อนไขมัน ต่อมน้ำเหลือง สิว ฝี ถุงน้ำ (Cyst) หรือความผิดปกติอื่น ๆ เนื่องจากคอและลำคอเป็นศูนย์รวมของอวัยวะและต่อมมากมาย ซึ่งก้อนที่คอเป็นอาการที่ควรได้รับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม

ก้อนที่คอ สาเหตุและอาการที่ควรไปพบแพทย์

สาเหตุของก้อนที่คอ

อย่างที่ได้กล่าวไป คอและลำคอเป็นจุดศูนย์รวมของต่อมหลายต่อมที่เชื่อมโยงกับระบบภายในร่างกาย ก้อนที่คอจึงอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยตัวอย่างส่วนหนึ่งของการเจ็บป่วยที่ทำให้เกิดก้อนที่คอได้ เช่น 

1. การติดเชื้อ

การติดเชื้อภายในลำคอและระบบทางเดินหายใจอาจส่งผลให้ต่อมที่อยู่บริเวณลำคอติดเชื้อ อักเสบ และบวมจนทำให้เกิดก้อนที่คอ ซึ่งหากคลำพบก้อนที่คอ ร่วมอาการกดเจ็บ และสัญญาณของการติดเชื้อ อย่างเป็นไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล และอ่อนเพลียก็อาจเป็นไปได้ว่าสาเหตุของก้อนที่คอมาจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะเมื่อก้อนที่บวมโตขึ้นอยู่บริเวณใต้สันกรามด้านข้างของลำคอ เพราะจุดนั้นเป็นตำแหน่งของต่อมน้ำเหลืองที่อาจบวมโตขึ้น เมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อ

การติดเชื้อที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต ต่อมทอนซิลอักเสบ และต่อมอื่น ๆ บวม เช่น โรคคออักเสบ โรคหัด การติดเชื้อในหู การติดเชื้อในช่องปาก โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Infectious Mononucleosis) และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างโรคเอชไอวี และโรคซิฟิลิส หากพบสัญญาณการติดเชื้อที่รุนแรง อย่างเป็นไข้สูง หนาวสั่น ปวดตามร่างกาย ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน ควรไปพบแพทย์

2. ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ตั้งอยู่บริเวณใต้คางด้านหน้าของลำคอ มีหน้าที่ควบคุมฮอร์โมนที่ช่วยในการทำงานของร่างกาย ดังนั้นเมื่อต่อมไทรอยด์บวมขึ้นหรือคลำพบก้อนที่คอในบริเวณดังกล่าวก็อาจเป็นสัญญาณว่าต่อมไทรอยด์กำลังเกิดความผิดปกติบางอย่าง เช่น

  • โรคคอพอกเป็นความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้นมากกว่าปกติ คนที่เป็นโรคคอพอกอาจพบอาการบวมโตของลำคอบริเวณใต้คาง ร่วมกับมีเสียงแหบ รู้สึกอึดอัดหรือแน่นในลำคอ เส้นเลือดบริเวณลำคอดูนูนและเห็นได้ชัดขึ้น
  • ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) หรือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ ผู้ป่วยมักมีอาการหัวใจเต้นเร็ว กินจุแต่น้ำหนักลด ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออกตลอดเวลา และตัวสั่น
  • ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ท้องผูก น้ำหนักขึ้น และประจำเดือนมาไม่ปกติ

3. เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง

เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง (Benign Tumor) เป็นเนื้องอกที่เกิดจากการโตที่ผิดปกติของเนื้อเยื่อที่มักไม่แพร่กระจายหรือมีขนาดใหญ่ขึ้น สาเหตุอาจเป็นผลมาจากโรค พันธุกรรม การบาดเจ็บ และปัจจัยอื่น ๆ เนื้องอกชนิดนี้แบ่งออกได้อีกหลายชนิด หนึ่งในนั้น คือ Adenomas ซึ่งเป็นเนื้องอกที่โตตามต่อมต่าง ๆ รวมถึงต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ และต่อมน้ำลายที่บริเวณลำคอ ดังนั้นหากเกิดเนื้องอกชนิดนี้ก็อาจคลำพบก้อนที่คอได้เช่นกัน

4. โรคเนื้องอกไขมัน (Lipoma)

โรคเนื้องอกไขมันมักไม่ร้ายแรงและไม่ใช่โรคมะเร็ง พบได้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมถึงที่คอและไม่มีตำแหน่งที่เกิดเฉพาะเจาะจง ลักษณะของเนื้องอกไขมัน เมื่อสัมผัสจะรู้สึกหยุ่น ๆ หากใช้นิ้วกดก้อนไขมันจะเคลื่อนที่ไปมา ส่วนใหญ่มักมีขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร แต่สามารถขยายขึ้นได้ และอาจมีอาการกดเจ็บในผู้ป่วยบางคน

5. โรคมะเร็ง

แม้จะพบได้น้อย แต่โรคมะเร็งก็อาจทำให้เกิดอาการบวมหรือเกิดจากเนื้องอกบริเวณคอจนทำให้เกิดก้อนที่คอหรือคอมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป โดยโรคมะเร็งที่อาจพบในบริเวณดังกล่าว เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ รวมถึงโรคมะเร็งอื่น ๆ อย่างโรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งผิวหนัง หรือโรคมะเร็งเต้านมก็อาจทำให้เกิดก้อนที่คอได้เช่นกัน

ดังนั้นหากพบสัญญาณเบื้องต้นของโรคมะเร็ง เช่น เป็นไข้ เหนื่อยล้าอ่อนเพลียเรื้อรัง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ รู้สึกปวดตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลานาน ผิวหนัง ดวงตา และเล็บเปลี่ยนสีหรือมีลักษณะที่ผิดไปจากเดิม ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอย่างเหมาะสม

นอกจากโรคเหล่านี้แล้ว ก้อนที่คอยังเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น อาการจากโรคภูมิแพ้ การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณคอ หรือความผิดปกติแต่กำเนิด อย่าง Branchial Cleft Cyst หรือถุงน้ำในคอ

ก้อนที่คอแบบไหนควรไปพบแพทย์?

โดยทั่วไป ก้อนที่คอที่มีลักษณะนิ่ม หยุ่น เคลื่อนไหวได้ ขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร และเกิดขึ้นระหว่างชั้นผิวหนังมักไม่ใช่อาการของการเจ็บป่วยร้ายแรง แต่หากอาการไม่ดีขึ้น เกิดอาการกดเจ็บ ก้อนที่คอขยายใหญ่ขึ้น ก้อนที่คอเป็นก้อนแข็งและไม่เคลื่อนไหวเมื่อสัมผัส หรือเกิดอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง เช่น เป็นไข้สูง หนาวสั่น ปวดตามร่างกาย อ่อนเพลียเรื้อรัง หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด ซึ่งแพทย์จะรักษาตามโรคและความเหมาะสม บางกรณีหลังการรักษา ก้อนที่คอสามารถกลับมาเป็นได้อีก

แม้ว่าก้อนที่คอส่วนใหญ่จะไม่ใช่อาการร้ายแรง แต่หากพบอาการในลักษณะข้างต้น หรือเกิดก้อนที่คอในระหว่างที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ระหว่างการใช้ยารักษาโรค หรือเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์ทันที