ฆ่าตัวตายและโซเชียลมีเดีย เรื่องไม่ใหม่ที่ควรใส่ใจ

ในปัจจุบัน โซเชียลมีเดีย (Social Media) ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของใครหลายคน สิ่งนี้ทำให้ทุกคนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างอิสระและรวดเร็ว แต่การใช้โซเชียลมีเดียอย่างไม่ระมัดระวังและขาดความรู้ก็อาจสร้างผลกระทบต่อผู้ใช้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนพบว่า การใช้โซเชียลมีเดียอาจเพิ่มความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายได้

การฆ่าตัวตาย (Suicide) เป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าและไม่ควรขึ้นกับใคร สาเหตุส่วนหนึ่งของการฆ่าตัวตายมักมาจากอารมณ์ด้านลบ อย่างความเศร้า ความท้อแท้สิ้นหวัง ความเครียด ความอับอาย ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้อาจมาจากปัญหาชีวิตและความผิดปกติทางอารมณ์ โดยเนื้อหาจากโซเชียลมีเดียบางส่วนอาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาทางอารมณ์ในบางคนได้ ดังนั้น การตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดียอาจเป็นเรื่องที่คนในยุคดิจิทัลควรให้ความสำคัญ

ฆ่าตัวตาย

การฆ่าตัวตาย สภาพจิตใจ และโซเชียลมีเดีย

โซเชียลมีเดียหรือสื่อสังคมออนไลน์เป็นเทคโนโลการสื่อสารที่สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย และเชื่อมโยงกัน ทำให้ข้อมูลต่าง ๆ สามารถรับและส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว ถือเป็นช่องทางที่ช่วยให้คนเข้าถึงแหล่งข้อมูลเพื่อหาความรู้ ความบันเทิง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลในหลากหลายมิติ แต่ในทางตรงกันข้ามก็มีข้อมูลจำนวนไม่น้อยที่รับและส่งต่อกันโดยไม่ได้ผ่านการคัดกรอง ทั้งจากตัวผู้ส่งและระบบการใช้งาน เนื้อหาในโซเชียลมีเดียบางส่วนจึงอาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เองได้ไม่น้อย

ตัวอย่างของรูปแบบการสื่อสารที่ส่งผลทางลบบนโลกอินเทอร์เน็ตที่คุ้นเคยกัน คือ ไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbully) หรือการกลั่นแกล้งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น การแสดงความคิดเห็นเชิงลบด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม เหยียดหยาม ลดความน่าเชื่อถือ ลดทอนคุณค่าของตัวบุคคล หรือการสื่อสารที่ทำให้เกิดผลกระทบทางลบอย่างตั้งใจ ฉะนั้น การอ่านความคิดเห็นในลักษณะดังกล่าวก็อาจส่งผลต่อสภาพอารมณ์และจิตใจของผู้อ่านที่ถูกพูดถึงอยู่ได้

การศึกษาจำนวนไม่น้อยชี้ว่า โซเชียลมีเดียมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางลบ อย่างความรู้สึกไม่พอใจ ความอิจฉา ความเครียด ความวิตกกังวล ความเศร้า และอื่น ๆ โดยในงานชิ้นหนึ่งที่ศึกษาอัตราการฆ่าตัวตายระหว่างกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อวันเป็นประจำกับกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้โซเชียลมีเดียน้อยกว่านั้น ผลพบว่ากลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียนานกว่ามีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายมากกว่าอีกกลุ่ม 

นอกจากนี้ ผลจากการศึกษาอีกชิ้นได้ชี้ว่า ไซเบอร์บูลลี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่น โดยวัยรุ่นหญิงและวัยรุ่นที่มีสีผิวต่างออกไปเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่ถูกบูลลี่หรือกลั่นแกล้ง และเสี่ยงต่อการเกิดอาการซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายมากกว่า

แม้ว่าการศึกษาที่พูดถึงในข้างต้นจะเน้นไปที่กลุ่มวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ แต่คนในช่วงวัยอื่นก็อาจได้รับผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดียได้เช่นกัน เช่น การใช้โซเชียลมีเดียผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ อย่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือแล็ปท็อปในช่วงก่อนเข้านอน อาจกระทบต่อคุณภาพในการนอนและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาการนอนหลับตามมา อีกทั้งปัญหาการนอนหลับที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย สมอง และอารมณ์ในทางลบจนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพและภาวะผิดปกติทางอารมณ์ได้เช่นกัน

สัญญาณของการฆ่าตัวตาย

แม้ว่ายังไม่มีการสรุปแน่ชัดว่าโซเชียลมีเดียเป็นสาเหตุหรือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย แต่หากพบสัญญาณต่อไปนี้ ไม่ว่าจะจากการใช้โซเชียลมีเดียหรือเกิดขึ้นเอง ควรไปพบแพทย์ทันที

  • รู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีทางออก หรือรู้สึกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
  • จมอยู่กับความเศร้า และวนเวียนอยู่กับความเสียใจ คิดวนไปวนมาและหาทางออกจากวังวนความคิดนั้นไม่ได้
  • รู้สึกเจ็บปวดจนเหมือนจะทนไม่ได้ถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่ยังไม่เกิดขึ้น อาจจะขึ้น หรือกำลังจะเกิดขึ้น
  • รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีค่า ไม่มีความสำคัญ แปลกแยก และไม่เป็นที่ต้องการ หรือรู้สึกว่าคนอื่นอาจมีความสุขมากขึ้นหากไม่มีเราอยู่
  • รู้สึกตัวชา
  • รู้สึกว่าความตายไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หรือเป็นสิ่งน่าตื่นตาตื่นใจหรือน่าหลงใหล 

นอกจากนี้ บุคคลบางกลุ่มอาจมีแนวโน้มที่เกิดความคิดในข้างต้นและเพิ่มความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายได้ เช่น ผู้ที่มีความเจ็บป่วยทางอารมณ์และจิตใจ อย่างภาวะซึมเศร้า โรคเครียด ภาวะวิตกกังวล เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง รวมไปถึงผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อจิตใจ อย่างอาการป่วย การเงิน การหย่าร้าง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ หรือการสูญเสียคนในครอบครัว บางรายอาจเป็นผู้ที่ดื่มสุราและใช้สารเสพติด 

หากรู้สึกว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีความเสี่ยง ควรหมั่นตรวจสอบสภาพจิตใจอยู่เสมอและอาจสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เพราะการเจ็บป่วยทางจิตใจอาจสะท้อนออกมาทางพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น นอนไม่หลับ อยากอาหารหรือเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลง หมดเรี่ยวแรงและไม่มีกำลังใจในการทำสิ่งต่าง ๆ อยากอยู่คนเดียว ขาดความมั่นใจในตนเอง เกิดความกังขาหรือสงสัยในตนเอง

อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกทุกข์ใจ เศร้าใจ หาทางออกไม่ได้ หรือเกิดความที่จะฆ่าตัวตายสามารถพูดคุยปัญหาที่สายด่วนกรมสุขภาพจิตที่ เบอร์ 1323 โดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งทางหน่วยงานสามารถแนะนำวิธีในการรับมือกับความรู้สึกดังกล่าวอย่างเหมาะสม

โซเชียลมีเดียเปรียบกับเหรียญสองด้านที่มีทั้งประโยชน์และโทษ ซึ่งการเลือกใช้อย่างถูกต้องย่อมส่งผลดี แต่หากเกิดความรู้สึกทางลบ ควรพักการใช้โซเชียลมีเดียและหาวิธีอื่นเพื่อผ่อนคลาย อย่างการออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อน และขณะใช้ควรเลือกรับเนื้อหาที่มีประโยชน์และตระหนักถึงผลกระทบของสิ่งทำกำลังรับหรือส่งต่ออยู่เสมอ